“ร้องเพลงพอไปวัดไปวา พอจับไมค์ขึ้นมาก็เป็นเรื่องทุกที” มีเวลาว่างเมื่อไหร่ เหงาปากทีไร หรือได้ยินจังหวะดี ๆ ทำนองโดน ๆ ครั้งไหน เป็นอันต้องคว้าไมค์มา ร้องเพลง แผดเสียงเจื้อยแจ้วให้ดังลั่นไปสามบ้านแปดบ้าน แม้จะฟังดูเป็นกิจกรรมคลายเครียด ทำเพื่อแก้เหงา และเพิ่มสุนทรียภาพให้แก่ชีวิต แต่…คุณผู้อ่านรู้ไหมว่า ทุกจังหวะใน การร้องเพลง ที่ไม่ว่าจะร้องเพลงเพราะหรือร้องเพลงเพี้ยนมากแค่ไหนนั้น แท้จริงแล้วเป็นกิจกรรมที่ดีต่อสุขภาพของเราทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ แต่จะดีอย่างไรนั้น Hello คุณหมอ มีคำตอบมาฝากที่บทความนี้แล้วค่ะ
ประโยชน์ของการ ร้องเพลง
ลดความเครียด
เครียดหนักแบบนี้มาร้องเพลงกันสักเพลงสองเพลง หรือจะร้องทั้งอัลบั้มเลยดีไหม เพราะจากผลการวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ Frontiersin.org ได้กล่าวไว้ว่า ระดับของคอร์ติซอล (Cortisol)ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด ที่เมื่อเพิ่มระดับมากขึ้นจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกเครียดได้ แต่ถ้ามีในระดับปกติจะช่วยกระตุ้นความรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
โดยจากผลการทดลองกับผู้ที่เข้าร่วมการทดสอบ พบว่าหลังจากร้องเพลง ที่ไม่ว่าจะร้องเพลงแบบเป็นกลุ่มหรือร้องเพลงคนเดียว ระดับของคอร์ติซอลในร่างกายจะมีปริมาณลดลง และหลังจากร้องเพลงเสร็จแล้ว อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดสอบยังรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นด้วย
มากไปกว่านั้น มีผลการวิจัยที่คล้ายกันนี้ระบุเอาไว้ว่า ระดับคอร์ติซอลหลังร้องเพลงจะลดลงได้จริงก็ต่อเมื่อมี การร้องเพลง ในสถานการณ์ที่ผ่อนคลายและไม่กดดันเท่านั้น หากต้องไปร้องเพลงประกวด หรือร้องเพลงต่อหน้าคนมาก ๆ แล้วรู้สึกเขินอาย กดดัน สถานการณ์เช่นนั้นอาจจะทำให้เครียดกว่าเดิมได้
ดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน
การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรง ไม่ได้มีเพียงการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์หรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น กิจกรรมยามว่างอย่าง การร้องเพลง ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีส่วนช่วยสร้างความแข็งแรงแก่ระบบภูมิคุ้มกันได้
จากผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยแฟรงค์เฟิร์ต (University Frankfurt) ประเทศเยอรมนี ที่ได้รับการเผยแพร่ลงในวารสารสุขภาพ US Journal of Behavioral Medicine พบว่า จากการตรวจเลือดของอาสาสมัครที่เข้าร่วมการวิจัยซึ่งเป็นกลุ่มนักร้องประสานเสียงมืออาชีพในเมืองแฟรงค์เฟิร์ต โดยทำการตรวจเลือดในช่วงเวลาก่อนซ้อมร้องเพลงประสานเสียง 60 นาที และหลังจากการซ้อมเสร็จสิ้นแล้ว 60 นาที
ผลการวิจัยพบว่า ขณะทำการซ้อมร้องเพลงนั้น ภูมิต้านทานชนิด Immunoglobulin A หรือ IgA ซึ่งเป็นโปรตีนในระบบภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่เป็นแอนติบอดี (antibody) และไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภูมิต้านทานดังกล่าวจะไปช่วยต้านระดับคอร์ติซอลไม่ให้พุ่งสูง และควบคุมให้ลดลงอยู่ในระดับปกติ
เมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์ นักวิจัยได้ทำการทดลองกับอาสาสมัครอีกครั้ง โดยครั้งนี้จะให้อาสาสมัครฟังเสียงเพลงที่อัดไว้ในคราวก่อนโดยไม่ต้องร้องเพลง พบว่า องค์ประกอบของเลือดไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างแต่อย่างใด จึงสามารถสรุปได้ว่า การฟังเพลงมีส่วนช่วยลดระดับความเครียดได้ แต่ไม่ได้ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันเหมือนกับการร้องเพลง
ดีต่อระบบทางเดินหายใจ
การร้องเพลง เป็นกิจกรรมที่กระตุ้นการทำงานของระบบทางเดินหายใจได้ดีกว่าที่เราคิด โดยในทุกจังหวะที่มีการขับร้องเพลงจะช่วยกระตุ้นให้ปอดได้ออกกำลังกายมากขึ้น เพิ่มการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อระหว่างกระดูกซี่โครง และกระบังลม ทำให้การไหลเวียนในร่างกายดีขึ้น
อีกทั้งการร้องเพลงยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้สามารถหายใจได้ลึกขึ้นมากกว่าการออกกำลังกายหลายชนิด และยังช่วงให้ปอดสามารถรับออกซิเจนได้มากขึ้นอีกด้วย
กระตุ้นความจำ
นอกเหนือจากความสนุกสนานและการผ่อนคลายแล้ว การร้องเพลง ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นความทรงจำให้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน โดยขณะร้องเพลงร่างกายจะมีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงที่สมองมากขึ้น ทำให้ระบบประสาทและสมองเกิดความตื่นตัว
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) และผู้ป่วยที่มีภาวะสูญเสียความทรงจำ (Amnesia) มีแนวโน้มของสุขภาพจิตดีขึ้น ผู้ป่วยสมาธิมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นความทรงจำให้ดีขึ้นตามมาด้วย
เพิ่มความสุข
จากผลการวิจัยหลายสถาบันพบว่า ขณะร้องเพลงร่างกายจะปล่อยสารแห่งความสุขที่ชื่อว่า เอนดอร์ฟิน (Endorphins) ออกมา สารดังกล่าวมีส่วนช่วยกระตุ้นความรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ความกระชุ่มกระช่วย ปลดปล่อยความเครียดและความทุกข์ทั้งปวง ทำให้รู้สึกดีมีความสุขขึ้นได้
ดังนั้น ช่วงไหนที่รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลียจากภาระหน้าที่ใด ๆ ก็ตาม ลองเลือกเพลงที่ชอบ จังหวะที่ใช่ แล้วมาร้องเพลงปลดปล่อยอารมณ์กันให้สุด ๆ ไปเลย ก็ดีไม่น้อย
พัฒนาทักษะปฏิสัมพันธ์
การร้องเพลงเป็นกลุ่ม ไม่ว่าจะไปกับเพื่อนที่ทำงาน เพื่อนร่วมชั้นเรียน หรือเพื่อนสนิท ล้วนมีส่วนช่วยคลายความรู้สึกเหงาในใจ และเพิ่มทักษะปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคุณอาจจะได้เพื่อนคู่ใจจาก การร้องเพลง หรืออาจได้สมาชิกเข้าร่วมกลุ่มใหม่จากการเป็นแฟนคลับศิลปิน-นักร้องคนเดียวกัน
รู้อย่างนี้แล้ว ถ้าหากว่ามีเวลาว่าง กำลังทุกข์ใจ เศร้าใจ หรือดีใจแบบสุด ๆ อาจจะลองชวนเพื่อนสนิท คนรู้จัก หรือคนรู้ใจ ไปร้องคาราโอเกะ หรือปิดบ้านร้องเพลงสังสรรค์ เพื่อปลดปล่อยอารมณ์ สร้างความสนุกสนาน และ การร้องเพลง ยังมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ดีขึ้นได้อีกด้วย
[embed-health-tool-bmi]