backup og meta

สาเหตุที่พบบ่อยของโรคผิวหนังอักเสบ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 28/02/2022

    สาเหตุที่พบบ่อยของโรคผิวหนังอักเสบ

    สาเหตุของโรคผิวหนังอักเสบ อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น พันธุกรรม สภาพแวดล้อม การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการที่แตกต่างกันออกไป การรักษาโรคผิวหนังอักเสบอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค ดังนั้น จึงควรศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคผิวหนังอักเสบ อีกทั้งหากพบอาการที่ผิดปกติ ควรเข้าพบคุณหมอทันทีเพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม

    โรคผิวหนังอักเสบคืออะไร

    โรคผิวหนังอักเสบ หรือบางครั้งอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) ซึ่งเป็นประเภทของโรคผิวหนังอักเสบที่พบบ่อยที่สุด ผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบมักจะมีอาการแพ้ หรืออาการหอบหืด พร้อมกับอาการคันผิวหนังและผื่นแดง นอกจากนี้ โรคผิวหนังอักเสบแต่ละประเภท ยังมีอาการและตัวกระตุ้นที่แตกต่างกันออกไป

    โดยปกติโรคนี้แล้วมักจะเกิดขึ้นในเด็ก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย และถือเป็นโรคเรื้อรัง ที่สามารถทำให้มีอาการผื่นแดงกำเริบเป็นระยะ และอาจมาพร้อมกับโรคหอบหืดหรือไข้ละอองฟาง (Hay fever) หากเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังควรไปพบคุณหมอ และการรักษารวมถึงการดูแลสุขภาพร่างกาย จะสามารถบรรเทาอาการคันและป้องกันไม่ให้อาการกำเริบได้

    อาการของโรคผิวหนังอักเสบ

    อาการของโรคผิวหนังอักเสบจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยมักจะมีอาการดังต่อไปนี้

    • ผิวแห้ง
    • คัน และมีอาการคันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
    • ผิวแดงขึ้น หรือมีรอยสีน้ำตาลอมเทาขึ้นเป็นหย่อมๆ บนผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณมือ เท้า หัวเข่า ข้อมือ คอ หน้าอกด้านบน เปลือกตา ข้อพับบริเวณศอกหรือหัวเข่า และในเด็กทารกอาจมีอาการบริเวณใบหน้าและหนังศีรษะ
    • ผิวหนาขึ้น แตก แห้ง และเป็นสะเก็ด
    • ผิวบอบบาง แพ้ง่าย ผิวบวมแดงจากการเกา

    ผู้ที่เป็นโรคนี้มักมีอาการเริ่มต้น ก่อนอายุ 5 ปี และหลายคนมีอาการต่อจนถึงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ มากไปกว่านั้น สำหรับบางคนอาการผื่นแดงจะเกิดขึ้นเป็นระยะ และอาจจะหายไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือเป็นเวลาหลายปี

    สาเหตุของโรคผิวหนังอักเสบที่พบบ่อย

    โรคผิวหนังอักเสบ สัมพันธ์กับการแปรผันทางพันธุกรรม (genetic variation) ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพผิวหนัง โดยปกติแล้วผิวหนังที่แข็งแรง จะช่วยกักเก็บความชุ่มชื่นของผิว และป้องกันแบคทีเรีย การระคายเคือง รวมถึงสารก่อภูมิแพ้ แต่การเป็นโรคผิวหนังอักเสบจะส่งผลต่อความสามารถของผิวหนัง ในการป้องกันสิ่งต่างๆ เหล่านี้

    ในปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคผิวหนังอักเสบ แต่คาดว่าอาจเกิดจากขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่

    • พันธุกรรม
    • การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ
    • สภาพแวดล้อม
    • กิจกรรมบางอย่าง ที่อาจทำให้ผิวหนังอ่อนแอลง
    • ความผิดปกติของผิวหนังในชั้นเกราะป้องกันผิว (Skin barrier) ที่อาจทำให้ผิวไม่กักเก็บความชุ่มชื้น และเชื้อโรคผ่านทางผิวหนังได้ง่าย

    ปัจจัยที่อาจเป็นตัวกระตุ้นโรคผิวหนังอักเสบ

    ตัวกระตุ้น (Triggers) อาจไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโรคผิวหนังอักเสบ แต่สามารถทำให้เกิดผื่นแดงบนผิวหนัง หรืออาจทำให้อาการผื่นแดงแย่ลง

    ตัวกระตุ้นที่พบได้บ่อยที่สุดคือ สารที่ทำให้ผิวหนังระคายเคือง นอกจากนี้ ผื่นแดงยังสามารถถูกกระตุ้นด้วย ปัญหาสุขภาพบางอย่าง ที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงกิจกรรมบางอย่าง และสภาพแวดล้อม อาจทำให้ผิวแห้ง เช่น

    • เป็นหวัดหรือเป็นไข้หวัดใหญ่
    • การติดเชื้อแบคทีเรีย
    • อาการแพ้ เช่น การแพ้ละอองเกสร แพ้รา หรือแพ้ขนสัตว์
    • การสัมผัสกับสารระคายเคือง เช่น สบู่ น้ำยาทำความสะอาดผิว น้ำหอม เครื่องสำอาง ฝุ่นละออง ทราย ควันบุหรี่
    • อากาศที่ร้อนเกินไปหรือหนาวเกินไป
    • การสัมผัสกับน้ำเป็นเวลานาน
    • การมีเหงื่อออก สลับกับอาการหนาวสั่น อาจกระตุ้นให้อาการกำเริบ
    • อาบน้ำอุ่นที่อุณหภูมิสูงเกินไป หรือใช้เวลาอาบน้ำนานเกินไป
    • อาศัยอยู่ในที่ที่มีความชื้นต่ำในฤดูหนาว
    • อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีมลภาวะทางอากาศที่เป็นพิษสูง

    สาเหตุที่พบบ่อยโดยแบ่งตามประเภทของโรคผิวหนังอักเสบ

    โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic dermatitis)

    เกิดขึ้นเมื่อชั้นผิวหนังที่เป็นเกราะป้องกันผิวอ่อนแอลง ซึ่งส่งผลต่อความสามารถของผิวหนัง ในการปกป้องผิวจากสารระคายเคืองและสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่

    • พันธุกรรม
    • ผิวแห้ง
    • ปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน
    • ตัวกระตุ้น

    โรคผื่นสัมผัส (Contact dermatitis)

    อาจมีอาการเมื่อสัมผัสกับสารที่ทำให้ระคายเคืองผิว หรือสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคผื่นสัมผัส อาจเกิดจากการสัมผัสสารเหล่านี้

    • สารฟอกขาว
    • ผงซักฟอก
    • การใส่เครื่องประดับ
    • น้ำยาง
    • นิกเกิล
    • ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และเครื่องสำอาง
    • สบู่และน้ำหอม
    • ควันบุหรี่

    ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ (Dyshidrotic eczema)

    อาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ มือและเท้าที่เปียกชื้น และการสัมผัสกับสาร เช่น นิกเกิล (nickel) โคบอลต์ (cobalt) หรือเกลือโครเมียม (chromium salt) รวมถึงอาจเกิดจากความเครียดด้วย

    ผื่นผิวหนังอักเสบที่มือ (Hand dermatitis)

    ผื่นผิวหนังอักเสบที่มือถูกกระตุ้นโดยการสัมผัสกับสารเคมี คนที่ทำงานที่ต้องสัมผัสกับสารเคมี อาจเกิดการระคายเคืองผิวได้ ซึ่งอาชีพที่ต้องเจอกับสารเคมี เช่น

    • อาชีพทำความสะอาด
    • ช่างทำผม
    • ผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาล หรือศูนย์สุขภาพ

    โรคผื่นผิวหนังรูปเหรียญ (Nummular eczema)

    สามารถถูกกระตุ้นจากการถูกแมลงกัดต่อย หรืออาการแพ้โลหะหรือสารเคมี นอกจากนี้ยังอาจมีสาเหตุจากผิวแห้ง

    ผื่นผิวหนังอักเสบที่เกี่ยวข้องกับการคั่งของเลือด (Stasis dermatitis)

    มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับ การไหลเวียนเลือดที่ขาส่วนล่าง อาจทำให้ขาบวมขึ้น และเกิดเส้นเลือดขอด

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    ควรไปพบคุณหมอทันที หากมีอาการดังต่อไปนี้

    • อาการของโรคผิวหนังอักเสบ ส่งผลต่อการนอนหลับ และส่งผลต่อชีวิตประจำวัน
    • เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น มีหนอง หรือผิวหนังมีสะเก็ดสีเหลือง
    • อาการไม่ดีขึ้น แม้จะกลับมารักษาอาการที่บ้านแล้ว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 28/02/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา