backup og meta

กินแบบหยินหยาง สร้างความสมดุลให้ร่างกายตามหลักแพทย์แผนจีน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชมพูนุช ทรงถาวรทวี · แก้ไขล่าสุด 15/07/2020

    กินแบบหยินหยาง สร้างความสมดุลให้ร่างกายตามหลักแพทย์แผนจีน

    ตามความเชื่อของชาวจีน ทุกสรรพสิ่งล้วนมีสองด้านที่ตรงข้ามกัน แต่ส่งเสริมกันเรียกว่า “หยินและหยาง’ และแม้แต่อวัยวะภายในร่างกายของเราเอง ก็แบ่งเป็นหยินกับหยางด้วยเช่นกัน การทำให้หยินหยางในร่างกายสมดุล จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราแข็งแรงขึ้นได้ และการกินอาหารก็เป็นอีกวิธีง่ายๆ ที่การแพทย์แผนจีนเชื่อว่าจะสามารถช่วยให้เรารักษาความแข็งแรงของร่างกายเอาไว้ได้ วันนี้ Hello คุณหมอ จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับการ กินแบบหยินหยาง กันค่ะ

    หยินหยางสัมพันธ์กับอาหารอย่างไร

    ตำราแพทย์แผนจีนกล่าวไว้ว่า อวัยวะที่สำคัญทั้ง 5 ในร่างกายได้แก่ หัวใจ ปอด ไต ม้าม และ ตับ แบ่งออกเป็นหยินสามส่วน และหยางสองส่วน คือ ปอด ไต ม้าม เป็นหยิน หัวใจและตับเป็นหยาง ซึ่งอวัยวะภายในทั้ง 5 ที่มีพื้นฐานตรงข้ามกันนั้น ทำหน้าที่สร้างความสมดุลในร่างกาย ข่มความร้อนและเย็นให้เป็นปกติ หากกินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน ก็จะไปช่วยบำรุงให้ตับและหัวใจทำงานมากขึ้น จนส่งผลให้ไปข่มการทำงานของอวัยวะที่เป็นหยินมากเกินไปจนเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ ดังนั้น การเลือกกินอาหารให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย และการเลือกกินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนเย็นสลับกัน ไม่กินอาหารที่มีลักษณะร้อนหรือเย็นเพียงอย่างเดียวถี่จนเกินไป เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเสริมให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นได้ เนื่องจากการทำงานในร่างกายเกิดความสมดุล

    กินแบบหยินหยาง เป็นอย่างไร

    ตามความเชื่อของแพทย์แผนจีน คนเราจะมีลักษณะที่อาจจะเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง  โดยเราจะสามารถแบ่งลักษณะของคนเราตามหยินและหยางได้ โดยการสังเกตจากลักษณะนิสัยและสภาพร่างกายของคนๆ นั้น และเมื่อรู้ว่าเรามีความเป็นหยินหรือหยางมากกว่ากันแล้ว ก็สามารถที่จะเลือกการ กินแบบหยินหยาง ที่เหมาะกับร่างกายของเราได้ดังนี้

    -ผู้ที่มีลักษณะค่อนไปทางหยาง

    ใครที่เป็นคนมีลักษณะพื้นฐานคล่องแคล่ว ว่องไว ชอบขยับ พูดจาเสียงดังฟังชัด พูดเก่ง ลักษณะนิสัยเปิดเผย ขี้ร้อน ขี้หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย กินเก่ง ระบบของร่างกายต่างๆ ค่อนไปทางความร้อนและทำงานเร็ว เช่น ระบบย่อยอาหารดี สีหน้าค่อนข้างแดงหรือผิวหนังค่อนข้างมัน อุจจาระแข็งแห้ง ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม อุณหภูมิร่างกายค่อนข้างสูง ขยับแล้วเหงื่อออกง่าย ชอบดื่มน้ำเย็น ความต้องการทางเพศสูง ลิ้นแดง ชีพจรใหญ่ เร็ว คนประเภทนี้มีลักษณะเป็นหยาง

    • เมื่อคนประเภทหยางไม่สบาย

    คนประเภทนี้หากไม่สบาย อาการของโรคจะออกไปทางร้อน โรคจะไปทำลายสารน้ำในร่างกายได้ง่าย ทำให้ปากแห้ง คอแห้ง ผิวแห้ง โรคที่เกิดได้บ่อยในคนประเภทนี้ เช่น ท้องผูก ร้อนในบ่อย ใจสั่น ผิวหนังเป็นฝีหนอง นอนไม่หลับ ปวดหัว เวียนหัวบ่อย หรือ มีเลือดออกได้ง่าย เป็นต้น

    • อาหารที่เหมาะกับคนประเภทหยาง

    คนประเภทหยางมีลักษณะรวดเร็วว่องไว และการทำงานของระบบต่าง ๆในร่างกายค่อนข้างไปทางความร้อนเป็นหลัก ดังนั้นวิธีที่จะช่วยลดระดับหยางในร่างกายไม่ให้มากจนเกินไปนั้น คือ การกินอาหารฤทธิ์เย็น หรือ อาหารที่มีลักษณะเป็นหยิน เช่น เก๊กฮวย หล่อฮั้งก๊วย ชามิ้นท์ น้ำมะพร้าว ผักผลไม้ต่างๆ ที่ช่ำน้ำ เช่น แตงกวา แตงโม แตงชนิดต่างๆ ฟัก ถั่วงอก มะเขือเทศ ผักใบเขียว ถั่วเขียว เต้าหู้ ซึ่งอาหารเหล่านี้จะสามารถทำให้หยางในร่างกายลดระดับลง ไม่มากเกินไปจนเกิดโรคภัยไข้เจ็บ แต่ข้อควรระวังคือไม่สมควรกินอาหารฤทธิ์เย็นมากเกินไป เพราะจะทำให้หยินมากเกินไปได้เช่นกัน

    • สิ่งที่คนประเภทหยางควรเลี่ยง

    อาหารที่มีฤทธิ์ร้อน ค่อนไปทางหยาง เช่น ทุเรียน ลิ้นจี่ เชอร์รี่ ของมัน ของทอด อาหารรสเผ็ด ขนมกรุบกรอบ อาหารปิ้งย่าง หมักดอง เนื้อวัว เนื้อแกะ เพราะร่างกายของคนประเภทหยางค่อนข้างร้อนอยู่แล้ว หากกินอาหารประเภทที่มีความร้อนเพิ่มขึ้นจะทำให้เสียสมดุลในร่างกายได้

    -ผู้ที่มีลักษณะค่อนไปทางหยิน

    จะมีลักษณะเชื่องช้า ใจเย็น พูดจาเสียงเบา ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย ลักษณะนิสัยค่อนข้างเก็บตัว ชอบอยู่กับที่ไม่ชอบขยับ ขี้กลัว ตกใจง่าย กินอาหารได้น้อย แต่รูปร่างค่อนไปทางอ้วน ระบบย่อยไม่ค่อยดี ชอบดื่มน้ำอุ่น สีหน้าขาวซีด ขี้หนาว ลิ้นสีซีด ชีพจรจม ช้า

  • เมื่อคนประเภทหยินไม่สบาย
  • คนประเภทนี้หากไม่สบาย อาการของโรคจะออกไปทางเย็น ชื้น เกิดเป็นความชื้นตกค้างในร่างกาย เสมหะ ของเสีย หรือเลือดคั่ง โรคที่เกิดขึ้นได้บ่อยในคนประเภทนี้ เช่น ท้องเสียง่าย ท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย อ่อนเพลีย หนักหัว หนักตัว เวียนหัวปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ บวมน้ำ แขนขาเย็น ในสตรีประจำเดือนจะมาน้อย สีคล้ำ หรือมีลิ่มเลือด

    • อาหารที่เหมาะกับคนประเภทหยิน 

    คนประเภทหยินมีลักษณะช้า ใจเย็น และการทำงานของระบบต่าง ๆในร่างกายค่อนข้างไปทางความเย็นเป็นหลัก ดังนั้นวิธีที่จะช่วยลดระดับหยินในร่างกายไม่ให้มากจนเกินไปนั้น คือ การกินอาหารฤทธิ์ร้อน หรือ อาหารที่มีลักษณะเป็นหยาง เช่น ขิง กระเทียม ลูกกระวาน อบเชย พริก พริกไทย โป๋ยกั๊ก ลำไย ลิ้นจี่ พุทราจีน ฟักทองซึ่งอาหารเหล่านี้จะสามารถทำให้หยินในร่างกายลดระดับลงเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย

  • อาหารที่คนประเภทหยินควรหลีกเลี่ยง
  • อาหารประเภทที่มีฤทธิ์เย็นทุกชนิด และผัก ผลไม้ที่ช่ำน้ำ เช่น แตงโม ฟัก น้ำมะพร้าว น้ำปั่น น้ำแข็ง ไอศกรีม ส้มตำ ปลาดิบ อาหารดิบๆ เป็นต้น เพราะจะทำให้ร่างกายขาดความอบอุ่นเกิดความเย็นมากเกินไปจนไม่สบายได้

    -ผู้ที่หยินหยางสมดุล

    คนประเภทนี้จะมีร่างกายแข็งแรง รูปร่างสมส่วน ถึงแม้จะผอมแต่ก็มีกำลัง อ้วนแต่ก็แข็งแรง สีหน้าผุดผ่องมีราศี แววตามีประกาย กินอาหารได้ปกติ ระบบขับถ่ายดี มีภูมิต้านทานสูง ไม่เป็นโรคง่าย ถึงแม้จะไม่สบายแต่ก็หายเร็วหรือหายเองได้ ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี มีกำลังวังชา นอนหลับสบาย พักผ่อนได้อย่างเพียงพอ มีอายุยืนยาว

    แม้ว่าการปรับสมดุลหยินหยางจากการกินอาหารจะช่วยให้แข็งแรงขึ้น และ ไม่ค่อยเจ็บป่วยได้ แต่นี่ก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการรักษาสุขภาพตามตำราแพทย์แผนจีนเท่านั้น ไม่ได้ช่วยได้ทั้งหมด ถ้าต้องการโบกมือลาความเจ็บไข้นานๆ ควรจะรักษาสุขภาพด้วยวิธีอื่นควบคู่ด้วย เช่น ออกกำลังกาย ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน หมั่นตรวจร่างกายทุก ๆ 6 เดือน และสังเกตลักษณะความเปลี่ยนแปลงของร่างกายเสมอ ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ไกลจากความเครียด  ถ้าทำได้ตามนี้ นอกจากหยินหยางจะสมดุลแล้ว ร่างกายยังแข็งแรงอีกด้วยค่ะ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชมพูนุช ทรงถาวรทวี · แก้ไขล่าสุด 15/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา