หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า ทำไมเราถึง เป็นร้อนใน ร้อนในคือแผลในช่องปากที่อาจเกิดขึ้นบริเวณริมฝีปากด้านใน กระพุ้งแก้ม เหงือก หรือใต้ลิ้น ซึ่งมักทำให้มีอาการเจ็บปวดและแสบเมื่อรับประทานอาหารหรืออาจทำให้พูดลำบาก ส่วนใหญ่แผลร้อนในสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องรักษา แต่หากมีอาการผิดปกติ เช่น แผลเปื่อยขนาดใหญ่ในช่องปาก ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการและทำการรักษาในทันที
[embed-health-tool-vaccination-tool]
ทำไมเราจึง เป็นร้อนใน
สาเหตุที่ทำให้เป็นร้อนในนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกิดขึ้นจากสิ่งกระตุ้นหลายปัจจัย ดังนี้
- การบาดเจ็บที่ทำให้เกิดแผลขนาดเล็กจากการทำฟัน การแปรงฟันแรงเกินไป อุบัติเหตุ หรือการกัดกระพุ้งแก้มโดยไม่ได้ตั้งใจ
- โซเดียมลอริลซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate) ในยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากกัดกร่อนจนเกิดแผล
- อาการระคายเคืองจากการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น อาหารรสเผ็ด ช็อกโกแลต กาแฟ สตรอเบอร์รี่ ไข่ ถั่ว ชีส หรือจากอาหารที่มีความเป็นกรดสูงอย่างมะนาว
- การร่างกายขาดวิตามินบี 12 สังกะสี โฟเลต (Folate) หรือธาตุเหล็ก
- การแพ้ต่อแบคทีเรียบางชนิดในปาก เช่น เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori) เป็นแบคทีเรียชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
- ความเครียดทางอารมณ์
- โรคบางชนิด เช่น โรคเซลิแอค (Celiac Disease) โรคแพ้กลูเตน โรคโครห์น ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล โรคเบห์เซ็ต (Behcet’s Disease) ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง การติดเชื้อเอชไอวี
อาการเมื่อเป็นร้อนใน
แผลร้อนในมักจะมีลักษณะเป็นแผลกลมหรือวงรี ตรงกลางมีสีขาวหรือสีเหลือง และขอบสีแดง พบบ่อยบริเวณบนหรือใต้ลิ้น กระพุ้งแก้ม ริมฝีปากด้านใน ฐานเหงือก หรือบนเพดานอ่อน ซึ่งมักทำให้มีอาการเจ็บปวดและแสบก่อนแผลจะเกิดขึ้น
โดยแผลร้อนในอาจแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
แผลร้อนในขนาดเล็ก
- เป็นลักษณะที่พบบ่อย แผลร้อนในมักจะมีขนาดเล็ก
- มีลักษณะเป็นวงรีและมีขอบสีแดง
- สามารถหายเองได้ภายใน 1 สัปดาห์
แผลร้อนในขนาดใหญ่
- เป็นลักษณะที่พบน้อย แผลร้อนในมีขนาดใหญ่และลึก
- มีลักษณะกลมและมีขอบสีแดง
- อาจมีอาการเจ็บปวดมาก
- อาจใช้เวลาในการรักษาประมาณ 6 สัปดาห์ และอาจทิ้งรอยแผลเป็นไว้เมื่อแผลหายดี
แผลเปื่อยเฮอร์เพติฟอร์ม (Herpetiform Ulcer)
- เป็นลักษณะแผลร้อนในที่พบได้น้อยที่สุด มักมีขนาดเล็กและเกิดเป็นกลุ่ม หรืออาจรวมกันเป็นแผลขนาดใหญ่
- มีขอบแผลที่ไม่สม่ำเสมอ
- สามารถหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
นอกจากนี้ ควรสังเกตอาการอยู่เสมอหากพบความผิดปกติ หรือมีอาการที่รุนแรงขึ้นต่อไปนี้ควรเข้าพบคุณหมอ
- แผลเปื่อยขนาดใหญ่
- แผลที่เกิดซ้ำ โดยที่แผลใหม่จะเกิดขึ้นก่อนที่แผลเก่าจะหาย
- แผลเรื้อรังนานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป
- แผลที่ขยายใหญ่จนลุกลามไปบริเวณริมฝีปาก
- มีอาการปวดแผลอย่างรุนแรง
- รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำลำบากมาก
- มีไข้สูงร่วมกับเป็นร้อนใน
วิธีจัดการกับร้อนใน
ส่วนใหญ่ร้อนในสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องรักษา แต่สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตัวเอง ดังนี้
- บ้วนปากด้วยน้ำเกลือหรือเบกกิ้งโซดา ด้วยการละลายเบกกิ้งโซดา 1 ช้อนชาในน้ำอุ่น 1/2 ถ้วย จากนั้นบ้วนปากอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือหลังรับประทานอาหาร
- แปรงฟันอย่างเบามือ โดยใช้แปรงขนนุ่มและยาสีฟันที่ปราศจากสารทำให้เกิดฟอง ที่สามารถช่วยป้องกันความเจ็บปวดที่แผลร้อนในได้
- แต้มผงแมกนีเซีย (Magnesia) ในปริมาณเล็กน้อยบนแผลร้อนใน 2-3 ครั้ง/วัน เพื่อช่วยลดความเป็นกรดในช่องปากซึ่งช่วยบรรเทาอาการเจ็บแผล
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์กัดกร่อน เป็นกรด หรือรสเผ็ด เช่น มะนาว เกลือ พริก อาจช่วยบรรเทาความระคายเคืองและความเจ็บปวด
- ใช้น้ำแข็งประคบที่แผลร้อนในเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด
ในกรณีที่เป็นร้อนในรุนแรงคุณหมออาจจ่ายยาเพื่อช่วยรักษาอาการร้อนในให้หายเร็วขึ้น ดังนี้
- ยาทาแผลร้อนใน เช่น ฟลูโอซิโนไนด์ (Fluocinonide) เบนโซเคน (Benzocaine) ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide)
- น้ำยาบ้วนปากที่ผสมเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) หรือลิโดเคน (Lidocaine) เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด
- กรณีไม่ตอบสนองต่อการรักษา คุณหมออาจจ่ายยารับประทาน เช่น ยาซูคราลเฟต (Sucralfate) โคลชิซิน (Colchicine) สเตียรอยด์ (Steroid)
- อาหารเสริมเพื่อช่วยเสริมวิตามิน เช่น วิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก สังกะสี โฟเลต