backup og meta

ฉีดยาคุม มีประโยชน์และผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 17/05/2023

    ฉีดยาคุม มีประโยชน์และผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง

    ฉีดยาคุม เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัย การฉีดยาคุมกำเนิด 1 ครั้งอาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 3 เดือน ช่วงหลังคลอดหรือให้นมบุตรก็สามารถเข้ารับการฉีดยาคุมกำเนิดได้ การฉีดยาคุมกำเนิดแต่ละครั้งใช้เวลาไม่นาน มีราคาย่อมเยา และอาจสะดวกกว่าการกินยาเม็ดคุมกำเนิดสำหรับบางคน เนื่องจากแก้ไขปัญหาการลืมรับประทานยา อย่างไรก็ตาม การศึกษาประโยชน์และผลข้างเคียงของการฉีดยาคุมกำเนิด อาจช่วยให้ทราบว่าการคุมกำเนิดวิธีนี้เหมาะกับตนเองหรือไม่ และอาจทำให้สามารถคุมกำเนิดด้วยการฉีดยาคุมได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยยิ่งขึ้น

    การทำงานของยาคุมกำเนิดแบบฉีด

    ยาคุมกำเนิดแบบฉีดชนิดที่นิยมใช้ในประเทศไทย ได้แก่ ยาคุมกำเนิดแบบฉีดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว (Progestin-only Injectable Contraceptives) หรือที่เรียกว่า ยาฉีดเมดร็อกซีโพรเจสเทอโรนแอซีเทต (Medroxyprogesterone Acetate) ยาคุมชนิดนี้มีเพียงโปรเจสตินซึ่งเป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในรูปแบบสังเคราะห์ ไม่มีส่วนผสมของฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน ที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อารมณ์แปรปรวน คลื่นไส้อาเจียน

    วิธีฉีดยาคุมกำเนิดทำได้โดยฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขนข้างที่ไม่ถนัดหรือบริเวณกล้ามเนื้อสะโพก ฮอร์โมนโปรเจสตินจะซึมเข้าสู่กระแสเลือดและช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ด้วยการทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลงจนตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิไม่สามารถฝังตัวได้ ทำให้มูกมดลูกเหนียวขึ้นจนอสุจิผ่านเข้าไปผสมกับไข่ที่บริเวณปากมดลูกได้ยากขึ้น ทั้งยังช่วยยับยั้งการตกไข่ด้วย เพื่อให้ยาคุมกำเนิดแบบฉีดออกฤทธิ์อย่างต่อเนื่อง ควรฉีดทุก 3 เดือน และควรไปพบคุณหมอตามนัดฉีดยาหรือภายในไม่เกิน 1 สัปดาห์หากครบกำหนดฉีดยาคุมกำเนิดรอบใหม่

    การฉีดยาคุมกำเนิด มีประโยชน์อย่างไร

    ประโยชน์ของการฉีดยาคุมกำเนิด อาจมีดังนี้

    • มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงและปลอดภัย
    • ช่วยให้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้สะดวกขึ้น เนื่องจากไม่ต้องกินยาทุกวัน จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการลืมกินยาเม็ดคุมกำเนิด และอาจออกฤทธิ์ได้นานถึง 3 เดือน
    • ไม่กระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์
    • ราคาถูก อาจเข้าถึงได้ง่ายกว่าการคุมกำเนิดประเภทอื่น เช่น ห่วงอนามัยคุมกำเนิด การฝังยาคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิด
    • สามารถรับบริการฉีดยาคุมได้ง่ายและสะดวก มีเงื่อนไขน้อย
    • ลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายที่อาจเกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในยาคุมกำเนิดชนิดอื่น เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด
    • สามารถฉีดยาคุมกำเนิดได้ในช่วงให้นมบุตร ไม่ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำนม
    • อาจช่วยลดอาการปวดประจำเดือนที่รุนแรงได้ในผู้หญิงบางคน

    ผลข้างเคียงของการ ฉีดยาคุม

    ผลข้างเคียงของการฉีดยาคุมกำเนิดที่พบได้บ่อย อาจมีดังนี้

    • ประจำเดือนขาดช่วง มาไม่เป็นปกติ รอบประจำเดือนเปลี่ยนไป
    • มีปริมาณเลือดประจำเดือนมากกว่าปกติ
    • รู้สึกกังวล กระวนกระวาย
    • เจ็บคัดเต้านม
    • มีตกขาวสีขาวหรือใสออกมามากกว่าปกติ
    • รู้สึกเจ็บขณะที่มีเพศสัมพันธ์
    • ตัวบวม

    เวลาที่เหมาะสมในการ ฉีดยาคุม

    • สามารถฉีดยาคุมกำเนิดตอนไหนก็ได้ แต่ต้องแน่ใจว่าไม่ได้กำลังตั้งครรภ์
    • สามารถฉีดยาคุมหลังการคลอดได้ทันที แต่โดยทั่วไป คุณหมออาจให้ฉีดยาคุมกำเนิดหลังจากคลอดประมาณ 6 สัปดาห์
      • หากฉีดยาคุมกำเนิดภายใน 21 วันหลังคลอด ช่วงนี้ภาวะการเจริญพันธ์ุอาจยังไม่กลับมาทำงานตามปกติ ระยะเวลา 21 วันหลังคลอด จึงอาจเป็นระยะปลอดภัยที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่ตั้งครรภ์ หากฉีดยาคุมกำเนิดในระยะนี้ ยาสามารถทำงานได้ทันที
      • หากฉีดยาคุมกำเนิดหลังคลอดเกิน 21 วัน อาจต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น การใช้ถุงยางอนามัย ร่วมด้วย ประมาณ 7 วัน โดยปกติยาคุมกำเนิดแบบฉีดจะออกฤทธิ์หลังฉีดอย่างน้อย 7 วัน
  • สามารถฉีดยาคุมกำเนิดได้ทันทีหลังจากยุติการตั้งครรภ์หรือแท้งตามธรรมชาติ หากฉีดยาหลังการแท้ง 5 วันขึ้นไป อาจต้องคุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัยประมาณ 7 วัน
  • หากต้องการป้องกันการตั้งครรภ์ในระยะยาวด้วยการฉีดยาคุมกำเนิด ควรเข้ารับการฉีดยาคุมกำเนิดภายใน 1 สัปดาห์หลังครบกำหนดฉีดยาคุมกำเนิดรอบใหม่ โดยทั่วไป จะฉีดยาคุม ปีละ 4 ครั้ง หรือทุก ๆ 3 เดือน
  • เมื่อไหร่ที่ควรปรึกษาคุณหมอ

    หากฉีดยาคุมกำเนิดแล้วเกิดผลข้างเคียงหรือภาวะดังต่อไปนี้ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที

    อาการที่พบได้บ่อย

    • ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
    • มีปัญหาด้านสุขภาพทางเพศ เช่น สมรรถภาพทางเพศลดลง หมดอารมณ์ทางเพศ
    • น้ำหนักเพิ่มมากขึ้น

    อาการที่พบได้ไม่บ่อยนัก

    • ซึมเศร้า
    • ขยับร่างกายลำบาก
    • ผมร่วงหรือผมบางลง
    • อ่อนแรง
    • ปวดเนื้อตัว ปวดกระดูก
    • มีปัญหาด้านการนอนหลับ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 17/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา