การป้องกันโรคเอดส์ อาจทำได้โดยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ใช้ถุงอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย และอาจหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเลือดและสารคัดหลั่งของผู้อื่นเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (The human immunodeficiency virus ; HIV) ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคเอดส์
[embed-health-tool-ovulation]
การป้องกันโรคเอดส์ สำคัญอย่างไร
เชื้อเอชไอวี เป็นเชื้อที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรค เชื้อไวรัส เชื้อรา และเชื้อโรคอื่นๆ ได้ เมื่อติดเชื้อเอชไอวีไปแล้วจะไม่สามารถรักษาให้เชื้อโรคหมดไปจากร่างกายได้ ทำได้แค่เพียงรักษาเพื่อประคับประคองอาการ
เชื้อเอชไอวีแพร่กระจายได้อย่างไร
เชื้อเอชไอวีนั้นติดต่อกันผ่านทางเลือด น้ำอสุจิ หรือสารคัดหลั่งในช่องคลอด เชื้อเอชไอวีสามารถส่งผ่านได้ทางช่องคลอด ช่องปาก หรือทวารหนัก ที่ไม่มีการป้องกัน รวมทั้งการสัมผัสกับเลือด และของเหลวจากร่างกาย ในขณะที่เป็นแผล แต่ทั้งนี้คนปกติสามารถจูบ สัมผัส และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีได้ สำหรับวิธีปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันโรคเอดส์สามารถทำได้ ดังนี้
วิธี ป้องกันโรคเอดส์
โรคเอดส์ป้องกันได้ โดยอาจปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้
หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาเสพติด
ควรเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเสพยาเสพติด เนื่องจากแอลกอฮอล์ จะส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจ และนำไปสู่สถานการณ์เสี่ยงอันตรายต่างๆ ได้ นอกจากนี้ การใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด ก็ทำให้มีความเสี่ยงสูง ที่จะติดเชื้อเอชไอวีได้
มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย หมายถึง การใช้ถุงยางอนามัย โดยเฉพาะในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ติดเชื้อเอชไอวี สิ่งสำคัญคือต้องสวมถุงยางอนามัยให้ถูกวิธี และหมั่นตรวจหาเชื้อเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ หรือเลือกใช้ยาต้านไวรัส เช่น ยาทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) และยาเอ็มไตรซิทาปีน (Emtricitabine) ในวันที่มีเพศสัมพันธ์ เพราะยาตัวนี้สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ และยังสามารถลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV.9, 10, 11 ด้วย แต่ข้อเสียคือมีราคาแพง
ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
เข็มฉีดยาทำให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวี จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ จึงเป็นเรื่องต้องห้ามในการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ไม่ว่าจะในกรณีใด ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะกลุ่มที่เสพยาเสพติด รวมไปถึงกลุ่มที่ชอบสักตามร่างกายด้วย
หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเลือดและสารคัดหลั่ง
หากมองจากภายนอก แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะระบุว่าใครมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายบ้าง ฉะนั้น อย่าสัมผัสเลือดของคนอื่นเด็ดขาด ถ้าเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับของเหลวอื่น ๆ ในร่างกายด้วย ไม่ว่าจะเป็น น้ำอสุจิ ของเหลวในช่องคลอด เยื่อเมือก ของเหลวในไขสัน และน้ำไขข้อ (โดยปกติแล้ว จะมีแต่ผู้ที่ทำงานทางด้านสาธารณสุขเท่านั้น ที่ต้องเจอกับของเหลวประเภทนี้)
เมื่อติดเชื้อเอชไอวี อย่าอายหรือกังวลเกี่ยวกับโรคนี้มากจนเกินไป อันดับแรกควรบอกญาติ คนรู้จัก หรือเพื่อนฝูงให้รับรู้เอาไว้ เพื่อจะได้หาวิธีอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัยต่อไป