backup og meta

โรคเอดส์ระยะที่2 เป็นอย่างไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

    โรคเอดส์ระยะที่2 เป็นอย่างไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

    หลายคนอาจเข้าใจว่า การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) กับโรคเอดส์ (AIDS) คือโรคเดียวกัน จึงและมักใช้คำว่า โรคเอดส์แทนเมื่อพูดถึงการติดเชื้อ HIV รวมถึงเมื่อพูดถึงระยะของโรคด้วย เช่น โรคเอดส์ระยะที่1 โรคเอดส์ระยะที่2 โรคเอดส์ระยะสุดท้าย แต่ความจริงแล้ว การติดเชื้อ HIV แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 หรือระยะสุดท้าย ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า ระยะโรคเอดส์ นั่นหมายความว่า หากผู้ติดเชื้อ HIV ในระยะที่ 2 รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ดูแลตัวเองอย่างดี โรคก็อาจไม่พัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 3 หรือระยะโรคเอดส์ และสามารถมีอายุยืนยาวได้เหมือนผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อ HIV

    การติดเชื้อ HIV ต่างจากโรคเอดส์อย่างไร

    การติดเชื้อไวรัส HIV หรือฮิวแมนอิมมิวโนเดฟีเซียนซีไวรัส (Human Immunodeficiency Virus) และโรคเอดส์ (AIDS) ไม่ใช่ภาวะสุขภาพเดียวกัน แต่มีความเกี่ยวข้องกัน โดยโรคเอดส์ เป็นระยะหนึ่งของการติดเชื้อ HIVเมื่อร่างกายติดเชื้อ HIV ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ การรับเลือดที่มีเชื้อ หรือการติดต่อจากแม่สู่ลูก หากอยู่ในระยะที่ปริมาณเชื้อยังไม่มาก ผู้ป่วยอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือบางรายอาจยังไม่มีอาการแสดงให้สังเกตเห็น จึงทำให้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือการรักษาในระยะนี้ และหากผู้ป่วยไม่ได้ดูแลตัวเองร่วมกับไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น ไม่ได้กินยาอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้การติดเชื้อ HIV พัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 2 หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า โรคเอดส์ระยะที่2

    หากผู้ติดเชื้อ HIV ระยะที่ 2 ไม่ได้รับยาต้านไวรัสตั้งแต่เนิ่น ๆ ไวรัสจะแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 10 ปี ก็จะทำให้จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวซีดีโฟร์ (CD4) ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคลดน้อยลง

    หากจำนวนเม็ดเลือดขาวซีดีโฟร์น้อยกว่า 200 หรือหากเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic infection หรือ OIs) เช่น งูสวัด เชื้อราในช่องปาก วัณโรค ปอดอักเสบ จะถือว่าเข้าสู่การติดเชื้อ HIV ในระยะที่ 3 หรือระยะสุดท้าย หรือที่เรียกว่า ระยะโรคเอดส์ หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เนื่องจาก ที่ร่างกายไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคใด ๆ ได้อีกต่อไป และทำให้เสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้ง่าย ยิ่งปริมาณเม็ดเลือดขาว CD4 น้อยลงเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสี่ยงเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่รุนแรงขึ้นเท่านั้น

    ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV

    เชื้อ HIV สามารถแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นเมื่อสารคัดหลั่ง เช่น เลือด น้ำเหลือง อสุจิ ของเหลวในทวารหนัก ของเหลวในช่องคลอด น้ำนม ของผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดของผู้รับเชื้อโดยตรง หรือเมื่อผู้รับเชื้อมีแผลหรือเยื่อเมือกบริเวณทวารหนัก ช่องคลอด องคชาต ปากแล้วสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ โดยปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV อาจมีดังนี้

    • มีเพศสัมพันธ์ผ่านทวารหนักและช่องคลอดโดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัยป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะกับคู่นอนหลายคน หรือคู่นอนที่ไม่ได้ทราบประวัติสุขภาพทางเพศ
    • ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม โรคซิฟิลิส โรคหูดหงอนไก่ โรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomanas)
    • ใช้สารเสพติดและใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
    • เป็นผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ HIV ซึ่งจะแพร่เชื้อไปยังทารกในครรภ์ผ่านทางรก และอาจแพร่เชื้อขณะคลอดทางช่องคลอด และขณะให้นม

    โรคเอดส์ระยะที่2 เป็นอย่างไร

    การติดเชื้อ HIV แบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยการติดเชื้อระยะแรก หรือที่เรียกว่าระยะเฉียบพลัน (Acute HIV Infectious) จะเกิดขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย โดยทั่วไป ผู้ติดเชื้อ HIV ระยะแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย มีตุ่มแดงไม่คันขึ้นตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว จากนั้นร่างกายจะพยายามต่อสู้กับเชื้อ ทำให้อาการดีขึ้น แต่เชื้อยังคงแฝงตัวและแพร่กระจายไปยังเซลล์ต่าง ๆ ภายในร่างกาย และผู้ติดเชื้ออาจแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากอาการคล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่ จึงอาจไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยหาการติดเชื้อ HIV

    หลังจากนั้น การติดเชื้อ HIV จะเข้าสู่ระยะที่ 2 ที่เรียกว่า ระยะสงบทางคลินิก (Clinical Latency Stage) บางครั้งก็เรียกว่าระยะติดเชื้อเรื้อรัง (Chronic HIV infection) หรือระยะการติดเชื้อไม่แสดงอาการ (Asymptomatic period) ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจผิดและเรียกว่า โรคเอดส์ระยะที่2 โดยเชื้อไวรัส HIV ในระยะนี้จะเพิ่มจำนวนอย่างช้า ๆ แต่ผู้ติดเชื้อยังคงแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมด้วยการใช้ยา เชื้อ HIV จะทำลายระบบภูมิคุ้มกันจนพัฒนาไปสู่การติดเชื้อ HIV ในระยะที่ 3 หรือระยะโรคเอดส์ ซึ่งในบางกรณีอาจใช้เวลานานกว่าสิบปี โดยในช่วงท้ายก่อนเข้าสู่ระยะโรคเอดส์ ปริมาณเชื้อ HIV ในร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้น ระดับเม็ดเลือดขาวจะลดต่ำลงอย่างมาก และอาจมีการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสร่วมด้วย

    การรักษาเมื่อติดเชื้อ HIV ระยะที่ 2

    การรับประทานยาต้านไวรัสหลายชุด (Antiretroviral Therapy) อย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของคุณหมอ จะช่วยให้การติดเชื้อ HIV ยังคงอยู่ในระยะที่ 2 ได้เป็นสิบ ๆ ปีโดยไม่พัฒนาเข้าสู่ระยะโรคเอดส์ ช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อ ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันซ่อมแซมตัวเอง และช่วยไม่ให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเสียหายยิ่งขึ้น จึงทำให้สามารถป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้

    ทั้งนี้ เชื้อ HIV เป็นเชื้อที่สามารถปรับตัวได้รวดเร็วและอาจดื้อยาได้ง่าย จึงจำเป็นต้องรับประทานยาหลายชนิดเพื่อให้ยาสามารถต้านไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เข้ารับการรักษาการติดเชื้อ HIV และรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจะมีปริมาณไวรัสน้อยลงจนตรวจไม่พบ (Undetectable HIV viral load) แต่ไม่ได้หมายความว่าไวรัสหายไปแล้วอย่างถาวร เพราะไวรัสอาจไปหลบซ่อนอยู่ในเซลล์ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น สมอง ต่อมน้ำเหลือง หากหยุดรักษา เชื้อ HIV จะออกมาจากที่ซ่อนและไหลกลับเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ติดเชื้อ HIV จึงต้องรับประทานยาไม่ให้ขาดเพื่อกดไวรัสไม่ให้เพิ่มจำนวนขึ้นมาอีก

    โดยทั่วไป ผู้ติดเชื้อ HIV ในระยะที่ 2 ที่รับประทานยาต้านไวรัสทุกวันอาจอยู่ในระยะนี้ไปตลอดชีวิตโดยไม่เข้าสู่ระยะโรคเอดส์เลย และอาจมีชีวิตยืนนานใกล้เคียงกับผู้ไม่ติดเชื้อ แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม และเข้าสู่ระยะโรคเอดส์แล้ว ผู้ที่ติดเชื้อจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะจะเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนหรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้ง่าย หากไม่ได้รับการรักษาทางการแพทย์ ผู้ติดเชื้อ HIV ในระยะโรคเอดส์อาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่กี่ปีเท่านั้น

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคเอดส์ระยะที่2

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อติดเชื้อ HIV ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ HIV ในระยะที่ 2 ที่มักเรียกกันว่า โรคเอดส์ระยะที่2 หรือในระยะอื่น ๆ อาจทำได้ดังต่อไปนี้

    • รับประทานยาต้านไวรัสเป็นประจำทุกวัน และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด
    • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
    • นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง/วัน
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักใบเขียว พืชตระกูลถั่ว ผลไม้ตระกูลส้ม ที่มีสารอนุมูลอิสระซึ่งดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน อาหารโปรตีนสูง เช่น เนื้อไก่ไม่ติดมันและหนัง ไข่ไก่ โยเกิร์ต ชีส ที่ช่วยสร้างกล้ามเนื้อและช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น
    • รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อ แทนการรับประทานอาหารมื้อใหญ่เพียง 2-3 มื้อ ในแต่ละวัน อาจช่วยลดอาการคลื่นไส้ที่เป็นผลข้างเคียงของยาต้านไวรัสได้
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ดีขึ้นด้วย
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เนื่องจากทำให้ร่างกายตอบสนองต่อยาต้านไวรัสได้น้อยลง และส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกัน อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอย่างมะเร็ง วัณโรคปอด ซึ่งเป็นสัญญาณว่าการติดเชื้อเข้าสู่ระยะโรคเอดส์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา