backup og meta

การทำหมันหญิง การเตรียมตัว ขั้นตอน ความเสี่ยง

การทำหมันหญิง การเตรียมตัว ขั้นตอน ความเสี่ยง

การทำหมันหญิง คือ การคุมกำเนิดแบบถาวรโดยการตัดหรือผูกท่อนำไข่ในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง เพื่อป้องกันไม่ให้ไข่จากรังไข่มาพบกับอสุจิแล้วเกิดการปฏิสนธิจนตั้งครรภ์ ทั้งนี้ ผู้หญิงที่ทำหมันแล้วจะยังคงมีประจำเดือนอยู่เพราะไข่ยังตกและร่างกายยังผลิตฮอร์โมน ทำให้ผนังมดลูกมีเยื่อบุหนาและกลายเป็นประจำเดือนตามปกติ

การทำหมันหญิง เหมาะกับผู้หญิงที่ไม่ต้องการมีลูก หรือมีลูกเพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตาม ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะหากเปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพราะการทำหมันไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

การทำหมันหญิง คืออะไร

การทำหมันหญิงเป็นการผ่าตัดเพื่อคุมกำเนิดแบบถาวร โดยการตัดหรือผูกท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง เพื่อป้องกันตัวอสุจิในน้ำเชื้อซึ่งหลั่งเข้ามาในช่องคลอดผสมกับไข่จนนำไปสู่การตั้งครรภ์

การเตรียมตัวก่อนทำหมัน

ผู้ที่ต้องการทำหมันควรสอบถามและปรึกษาคุณหมอในประเด็นต่อไปนี้ ก่อนตัดสินใจทำหมัน

  • ข้อดีและข้อเสียของการทำหมัน เพื่อสร้างความมั่นใจในการทำหมันว่าตรงกับความต้องการของตนเองจริง ๆ
  • ความเสี่ยงของการทำหมันว่ามีอะไรบ้าง
  • ขั้นตอนการทำหมันหญิง พร้อมหรือไม่ที่จะเข้ารับการผ่าตัดซึ่งทำให้เกิดบาดแผลหรือระยะเวลาในการพักฟื้นของร่างกาย
  • การแก้หมันและโอกาสแก้หมันสำเร็จมีมากน้อยแค่ไหน ในกรณีเปลี่ยนใจอยากมีลูกหลังทำหมันแล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับสุขภาพและอายุของแต่ละคน
  • ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการทำหมัน เช่น ช่วงหลังคลอด หรือหลังมีรอบเดือนแล้ว เพื่อเตรียมตัวและจัดสรรเวลาไม่ให้กระทบกับชีวิตด้านอื่น ๆ
  • ผลข้างเคียงจากยาที่ใช้อยู่ว่าส่งผลต่อการทำหมันหรือไม่อย่างไร รวมทั้งยาที่สามารถรับประทานก่อนทำหมันได้ หรือตัวยาที่ต้องงด เช่น แอสไพริน เนื่องจากทำให้เลือดไหลมากกว่าปกติระหว่างผ่าตัด

ในกรณีตัดสินใจว่าต้องการทำหมัน หากมีเพศสัมพันธ์ควรสวมถุงยางป้องกันทุกครั้งจนกว่าจะถึงวันที่กำหนดทำหมัน

นอกจากนี้ ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดทำหมัน ควรงดอาหารและเครื่องดื่ม 1 คืนก่อนการผ่าตัด และในบางรายอาจต้องมีการทดสอบการตั้งครรภ์ก่อนผ่าตัด เพราะหากตั้งครรภ์ คุณหมอจะไม่สามารถผ่าตัดทำหมันให้ได้

ขั้นตอน การทำหมันหญิง

การทำหมันหญิงในปัจจุบันนี้มีทั้งการผ่าตัดเปิดหน้าท้องและการผ่าตัดแบบไร้แผลโดยการสอดกล้องผ่าตัดผ่านช่องคลอด แต่ในประเทศไทยนิยมใช้วิธีผ่าตัดเปิดหน้าท้องเนื่องจากยังมีผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดแบบไร้แผลอยู่น้อยมาก

การทำหมันหญิงด้วยวิธีผ่าตัดเปิดหน้าท้องใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที อันดับแรกคุณหมอจะวางยาสลบในคนไข้ และดำเนินการผ่าตัดตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • ใช้มีดกรีดผ่าตัดเปิดหน้าท้อง บริเวณใต้สะดือหรือท้องน้อย เป็นแผลยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร
  • ให้อากาศเข้าไปในท้องคนไข้ผ่านรอยแผล จนหน้าท้องพองขึ้น ซึ่งเพิ่มความสะดวกในการผ่าตัด
  • สอดอุปกรณ์ที่เรียกว่า แลปปาโรสโคป (Laparoscope) เข้าไปในท้องของคนไข้ ผ่านแผลผ่าตัดเปิดหน้าท้อง โดยแลปปาโรสโคปมีลักษณะเป็นท่อยาวและมีไฟฉายกับกล้องตรงส่วนปลาย ใช้เพื่อมองหาท่อนำไข่
  • หลังจากเจอท่อนำไข่แล้ว คุณหมอมักจะกรีดหน้าท้องอีกหนึ่งตำแหน่งเพื่อสอดอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าสู่หน้าท้องเพื่อตัดท่อนำไข่แล้วผูกเอาไว้ หรือหนีบด้วยอุปกรณ์เฉพาะซึ่งมีลักษณะเป็นห่วงหรือตัวหนีบ
  • เมื่อตัดหรือผูกท่อนำไข่สำเร็จแล้ว คุณหมอจึงเย็บปิดแผล

การทำหมันหญิงประเภทต่าง ๆ

การทำหมันหญิงมีขั้นตอนเหมือนกัน แต่จะแยกประเภทตามช่วงเวลาที่เลือกผ่าตัด ได้แก่ การทำหมันหลังคลอด และการทำหมันในช่วงเวลาปกติ

  • การทำหมันหลังคลอด

เรียกอีกอย่างว่าการทำหมันเปียก หมายถึง การทำหมันทันทีภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังจากคลอดบุตร ไม่ว่าจะคลอดตามธรรมชาติหรือผ่าคลอด เนื่องจากเป็นช่วงที่ผนังหน้าท้องยังมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้ผ่าตัดได้สะดวก และเย็บปิดแผลได้มิดชิดสวยงามกว่าการทำหมันในช่วงเวลาปกติ นอกจากนี้ คนไข้ผ่านการอดน้ำอดอาหารมาเรียบร้อย ถือว่าร่างกายพร้อมสำหรับการผ่าตัด

  • การทำหมันในช่วงเวลาปกติ

หรือการทำหมันแห้ง หมายถึง การทำหมันในช่วงเวลาอื่นที่ไม่ใช่ช่วงหลังคลอดทันทีหรือทำหมันหลังคลอด 6 สัปดาห์ขึ้นไป ก่อนทำหมันแห้ง จะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพและตรวจว่าตั้งครรภ์หรือไม่ มักทำหลังมีรอบเดือนแล้ว มีข้อเสียคือ มักหาท่อนำไข่ได้ยากกว่าการทำหมันเปียก เนื่องจากในเวลาปกติ มดลูกจะมีขนาดเล็กกว่าและอยู่ในอุ้งเชิงกราน ทำให้การผ่าตัดอาจใช้เวลานานกว่า

การดูแลตัวเองหลังจากทำหมันหญิง

หลังทำหมันเรียบร้อยแล้ว ควรพักฟื้นอย่างน้อย 2-3 วัน ก่อนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ และควรดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้

  • รับประทานยาแก้ปวด เมื่อรู้สึกปวดคล้ายมีประจำเดือน ซึ่งเป็นอาการปกติหลังผ่าตัด
  • เลี่ยงไม่ให้แผลผ่าตัดโดนน้ำ จนกว่าจะครบกำหนดเปิดแผลหรือ 7 วันหลังจากผ่าตัด เพื่อป้องกันแผลอักเสบหรือติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าแพทย์จะอนุญาต หรือประมาณ 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้ การทำหมันจะไม่ส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลง
  • รีบไปหาคุณหมอเมื่อพบอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องต่อเนื่องเกิน 12 ชั่วโมง มีเลือดหรือสารคัดหลั่งกลิ่นเหม็นไหลออกจากแผลผ่าตัด มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ ผู้หญิงซึ่งทำหมันแล้วบางราย อาจพบเลือดไหลจากช่องคลอด จึงจำเป็นต้องใช้ผ้าอนามัย จนกว่าเลือดจะหยุดไหล

อัตราสำเร็จของ การทำหมันหญิง

อัตราการทำหมันหญิงสำเร็จอยู่ที่ 99 เปอร์เซ็นต์ และการทำหมันมักเห็นผลทันที หลังจากผ่าตัดเสร็จสิ้น

อย่างไรก็ตาม คุณหมอมักแนะนำให้คนไข้มีเพศสัมพันธ์แบบป้องกันจนกว่าจะถึงรอบเดือนครั้งถัดไป เพราะการมีเพศสัมพันธ์ก่อนมีประจำเดือนครั้งถัดไปโดยไม่ป้องกันอาจทำให้ตั้งครรภ์ได้

นอกจากนี้ ท่อนำไข่ของผู้หญิงบางคนอาจเชื่อมต่อกันเองได้หลังทำหมันแล้ว ทำให้กลับไปตั้งครรภ์ได้ตามปกติ โดยกรณีแบบนี้เกิดขึ้นได้น้อยมาก หรือคิดเป็นผู้หญิงจำนวน 1-7 คน ต่อจำนวนผู้หญิงที่ทำหมันแล้ว 1,000 คน ตามข้อมูลของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

ความเสี่ยงของการทำหมันหญิงต่อภาวะสุขภาพ

โดยทั่วไป การทำหมันหญิงจะดำเนินการโดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ จึงมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพหรือภาวะแทรกซ้อนต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่อาจพบได้จากการผ่าตัด มีดังนี้

  • เกิดแผลบริเวณลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ หรือเส้นเลือดใหญ่
  • ผลข้างเคียงจากยาสลบ เช่น อาการแพ้อย่างรุนแรง
  • โอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูกที่สูงกว่าผู้หญิงที่ไม่เคยผ่านการทำหมัน
  • การปิดหรือผูกท่อรังไข่ที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจเสี่ยงให้ตั้งครรภ์ได้
  • อาการเลือดไหลที่แผลผ่าตัด หรือเลือดไหลภายในช่องท้อง
  • การติดเชื้อ

ทั้งนี้ ผู้หญิงซึ่งมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ อาจพบความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพจากการทำหมันมากกว่าผู้หญิงโดยทั่วไป

  • เป็นโรคเบาหวาน
  • เคยผ่าตัดบริเวณหน้าท้องมาก่อน
  • มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
  • เป็นโรคเกี่ยวกับปอด
  • น้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Female sterilization. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/female-sterilisation/. Accessed March 9, 2022

Tubal Ligation. https://www.hopkinsmedicine.org/health/treatment-tests-and-therapies/tubal-ligation. Accessed March 9, 2022

Tubal ligation. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/tubal-ligation/about/pac-20388360. Accessed March 9, 2022

การทำหมันหญิง. https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=169. Accessed March 9, 2022

Getting Your Tubes Tied: Pros, Cons, What to Know. https://www.webmd.com/sex/birth-control/should-i-get-my-tubes-tied. Accessed March 9, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/04/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ทำหมันแล้วท้องได้ไหม และการทำหมันเป็นอย่างไร

ทำหมันแล้วอยากมีลูก เป็นไปได้ไหม ต้องทำอย่างไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา