backup og meta

ช่องคลอดมีกลิ่น กินยาอะไรดี มีสาเหตุมาจากอะไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์ · สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

    ช่องคลอดมีกลิ่น กินยาอะไรดี มีสาเหตุมาจากอะไร

    ช่องคลอดมีกลิ่น กินยาอะไรดี? อาจเป็นคำถามที่ผู้หญิงหลายคนสงสัยและมีความกังวล เพราะช่องคลอดมีกลิ่นเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราวกับผู้หญิงทุกคน ช่องคลอดมีกลิ่น อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือปรสิต หรือเป็นอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วิธีรักษาคุณหมอจะให้ผู้ป่วยรับประทานยาฆ่าเชื้อ เพื่อรักษาการติดเชื้อและกลิ่นเหม็น ทั้งนี้ ช่องคลอดมีกลิ่นสามารถป้องกันได้ ด้วยการทำความสะอาดช่องคลอดเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการสวมใส่กางเกงชั้นในที่รัดแน่นเกินไป รวมทั้งการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อันเป็นสาเหตุหนึ่งของช่องคลอดมีกลิ่น

    ช่องคลอดมีกลิ่น เกิดจากอะไร

    โดยทั่วไป ช่องคลอดสุขภาพดี จะมีกลิ่นเปรี้ยวจาง ๆ หรือมีกลิ่นคล้ายผลไม้รสหวาน จะมีความสมดุลของภาวะกรด-เบสในช่องคลอด และมีความสมดุลของแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย ลดโอกาสติดเชื้อในช่องคลอด

    อย่างไรก็ตาม ช่องคลอดบางครั้งอาจมีกลิ่นคล้ายโลหะ เกิดจากกลิ่นของเลือดประจำเดือน หรือหลังมีเพศสัมพันธ์อย่างรุนแรงจนช่องคลอดเป็นแผล

    ทั้งนี้ หากช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น กลิ่นคล้ายคาวปลา หรือมีกลิ่นที่แตกต่างจากที่กล่าวมา อาจเป็นเพราะสาเหตุดังต่อไปนี้

    • ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis) เกิดจากการเสียสมดุลของกรด-เบสนช่องคลอด หรือแบคทีเรียก่อโรคมีจำนวนมากเกินไป ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ และอาการต่าง ๆ เช่น ช่องคลอดเหม็น คันช่องคลอด รู้สึกแสบร้อนเมื่อปัสสาวะ รวมถึงมีของเหลวสีเทาหรือเขียว ไหลออกมาจากช่องคลอด
    • โรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) เกิดจากเชื้อปรสิต ซึ่งแพร่ติดต่อกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์ เมื่อเป็นโรคนี้ ช่องคลอดของผู้ติดเชื้อจะมีกลิ่นเหม็น และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คันบริเวณช่องคลอด รู้สึกเจ็บปวดเมื่อถ่ายปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ และตกขาวกลายเป็นสีเขียว เทา หรือเหลือง
    • การหมักหมมของผ้าอนามัย ไม่เปลี่ยนผ้าอนามัยหรือการสอดผ้าอนามัยไว้นานเกินไป จนช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น ทั้งนี้ ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 4-8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย
    • การไม่รักษาความสะอาด รวมถึงการมีเหงื่อออกมากบริเวณขาหนีบ อาจนำไปสู่การหมักหมมของเชื้อโรค และทำให้เกิดกลิ่นเหม็นบริเวณช่องคลอดได้

    ทั้งนี้ หากช่องคลอดมีกลิ่นผิดปกติและไม่หายไปภายใน 1 สัปดาห์ ควรพบคุณหมอ เพื่อเข้ารับการตรวจช่องคลอด โดยเฉพาะหากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ได้แก่ คัน แสบร้อน ระคายเคือง มีหนอง ตกขาวผิดปกติ เพราะอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ แม้จะพบได้น้อยมาก เช่น มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากมดลูก

    วิธีดูแลตนเองเมื่อช่องคลอดมีกลิ่น

    หากช่องคลอดมีกลิ่นผิดปกติ สามารถดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการในเบื้องต้นได้ ดังนี้

    • ระหว่างอาบน้ำ ทำความสะอาดภายนอกบริเวณช่องคลอดโดยใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว และไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม และล้างออกด้วยน้ำสะอาด ซับให้แห้งและสวมใส่ชุดชั้นในและเสื้อผ้าที่โปร่งสบายไม่คับเกินไป
    • หลีกเลี่ยงการใช้สายฉีดสวนชำระล้างในช่องคลอดเพราะในช่องคลอดมีกรดในจำนวนที่เหมาะสมสำหรับควบคุมปริมาณแบคทีเรียและยีสต์ หากชำระล้างมากเกินไปอาจทำให้เสียสมดุล เกิดการระคายเคืองและอาการอื่น ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ตามมาได้
    • ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะรับประทานเอง เนื่องจากสาเหตุของการเกิดตกขาวผิดปกติมีหลายสาเหตุดังที่กล่าวไปข้างต้น ฉะนั้น ควรพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจภายใน วินิจฉัยหาสาเหตุ และรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

    ช่องคลอดมีกลิ่น กินยาอะไรดี

    การรักษาช่องคลอดมีกลิ่น ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ จะใช้ในกรณีที่คุณหมอวินิจฉัยว่าช่องคลอดมีกลิ่นเกิดจากปัญหาสุขภาพหรือโรคต่าง ๆ   โดยคุณหมอจะจ่ายยาฆ่าเชื้อให้คนไข้ ดังนี้

    • พยาธิในช่องคลอด โดยปกติ คุณหมอจะให้คนไข้รับประทานยาเมโทรนิดาโซล รูปแบบเม็ดขนาด 500-750 กรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 5-10 วัน
    • ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ยาเมโทรนิดาโซลขนาด 500 มิลลิกรัม และรับประทานตามดุลยพินิจของคุณหมอ ในปริมาณและจำนวนวันที่แตกต่างกัน

    ทั้งนี้ ช่องคลอดมีกลิ่นเนื่องจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การใช้ผ้าอนามัยเป็นเวลานาน หรือการไม่รักษาความสะอาด สามารถรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เปลี่ยนผ้าอนามัยให้บ่อยขึ้น ทำความสะอาดช่องคลอดสม่ำเสมอ

    การปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันช่องคลอดมีกลิ่น

    ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น อาจสามารถป้องกันได้ ตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • ทำความสะอาดช่องคลอดสม่ำเสมอ ด้วยน้ำอุ่นและสบู่ฤทธิ์อ่อน ซึ่งจะไม่ทำให้ผิวหนังบริเวณช่องคลอดระคายเคือง หรืออักเสบ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เนื่องจากอาจทำให้ภาวะกรด-เบสในช่องคลอดเสียสมดุล และเพิ่มความเสี่ยงเป็นช่องคลอดอักเสบ รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้
    • เช็ดช่องคลอดจากหน้าไปหลัง เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากทวารหนักแพร่กระจายไปยังช่องคลอด และทำให้เกิดการติดเชื้อ
    • ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคพยาธิในช่องคลอด โดยเฉพาะในกรณีของผู้หญิงซึ่งมีคู่นอนหลายคน
    • สวมกางเกงชั้นในที่ทำจากฝ้าย เพราะจะช่วยระบายอากาศ และไม่ทำให้บริเวณช่องคลอดอับชื้น นอกจากนี้ ไม่ควรสวมกางเกงในซึ่งรัดแน่นเกินไปด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

    สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา