backup og meta

ตกขาวสีเขียวอันตรายไหม ควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    ตกขาวสีเขียวอันตรายไหม ควรดูแลตัวเองอย่างไร

    ผู้หญิงหลายคนที่พบความผิดปกติของตกขาว อาจสงสัยว่าหากมี ตกขาวสีเขียวอันตรายไหม หากมีตกขาวสีเขียวแต่ไม่มีอาการอื่น ๆ เช่น กลิ่นเหม็นเปรี้ยว ตกขาวเป็นฟอง ผื่นแดง แสบร้อน คันบริเวณอวัยวะเพศ ก็อาจไม่เป็นอันตรายมากนัก แต่หากมีอาการดังที่กล่าวมาร่วมด้วยควรเข้าพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุ เพราะอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

    ตกขาวสีเขียว เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

    ตกขาวสีเขียวส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิจากการมีเพศสัมพันธ์ และอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น

    • การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ทางเดินปัสสาวะ เพราะการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การเข้าห้องน้ำสาธารณะ การสวนล้างอวัยวะเพศ เป็นต้น ส่งผลให้แบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุล ซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและทำให้มีอาการตกขาวสีเหลือง เขียว เทา ตกขาวมีกลิ่น คันและแสบร้อนช่องคลอด
    • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease หรือ PID) เป็นการติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ส่วนใหญ่เกิดจากโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน โรคหนองในเทียม นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการสวนล้างช่องคลอด หลังคลอดบุตร การแท้งบุตร เป็นต้น อาจทำให้มีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ ปวดท้อง เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวสีเขียวหรือสีเหลือง ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
    • ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial Vaginosis หรือ BV) เกิดจากแบคทีเรียไม่ดีเจริญเติบโตในช่องคลอดมากขึ้น และแบคทีเรียดีน้อยลงจนเสียสมดุลทำใหช่องคลอดอักเสบ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการสวนล้างช่องคลอด การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย เป็นต้น อาจทำให้มีอาการตกขาวสีเหลือง เขียว ตกขาวมีกลิ่นเหม็นคาว คันและแสบช่องคลอด
    • โรคพยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวทริโคโมแนส วาจินาลิส (Trichomonas Vaginalis) บริเวณระบบสืบพันธุ์ เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก ท่อปัสสาวะ เพราะการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน อาจทำให้มีอาการคัน แสบร้อนช่องคลอด บวมแดง ตกขาวมีกลิ่นเหม็น ตกขาวมีสีเหลือง เขียวหรือเทา
    • การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในเทียม โรคหนองใน เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อโดยไม่ป้องกัน อาจทำให้มีอาการคันอวัยวะเพศ แสบ แดง บวม ตกขาวมีกลิ่น ตกขาวสีเหลืองหรือเขียว
    • การตั้งครรภ์ ในระหว่างตั้งครรภ์ระบบภูมิคุ้มกันอาจทำงานลดลงเพื่อป้องกันการกำจัดตัวอ่อนในครรภ์ ซึ่งอาจมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อง่ายขึ้น แต่ร่างกายยังคงกระตุ้นผลิตตกขาวมากขึ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตกขาวเปลี่ยนเป็นสีเขียว เป็นฟองและมีกลิ่นเหม็น อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อราที่ควรเข้าพบคุณหมอ

    ตกขาวสีเขียวอันตรายไหม

    ตกขาวเป็นภาวะปกติของร่างกายช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับช่องคลอด และขจัดเชื้อโรคออกจากช่องคลอด ซึ่งตกขาวที่เป็นปกติจะมีลักษณะเป็นเมือกใส ปริมาณไม่มาก ไม่มีกลิ่นหรือมีกลิ่นเล็กน้อย และไม่ก่อให้เกิดอาการคัน แสบร้อน บวมแดง

    สำหรับผู้หญิงบางคนที่พบความผิดปกติของตกขาว อาจมีคำถามว่า หากมีอาการ ตกขาวสีเขียวอันตรายไหม ซึ่งโดยทั่วไปหากมีตกขาวสีเขียวแต่ไม่มีอาการคันและไม่มีกลิ่นเหม็น อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดไม่รุนแรง ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายมาก แต่หากมีตกขาวสีเขียวพร้อมกับกลิ่นเหม็นเปรี้ยว เป็นฟอง และทำให้มีอาการผื่นแดง แสบร้อน คันบริเวณอวัยวะเพศ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการและหาสาเหตุ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อแบคทีเรีย ปรสิตหรือเชื้อรา ที่อาจก่อให้เกิดโรคอันตรายร้ายแรง เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นแผลอักเสบในช่องคลอด

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันตกขาวสีเขียว

    การป้องกันการติดเชื้อในช่องคลอดที่เป็นสาเหตุของตกขาวสีเขียวอาจทำได้ ดังนี้

    • ควรมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนเพียงคนเดียว เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
    • ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
    • ปัสสาวะก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อในช่องคลอด
    • ควรทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศเป็นประจำทุกวัน ด้วยน้ำเปล่าหรือสบู่อ่อน ๆ และหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนประกอบที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคือง เช่น น้ำหอม แอลกอฮอล์
    • หลังเข้าห้องน้ำควรล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศทุกครั้ง และซับอวัยวะเพศให้แห้งจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันความอับชื้นละการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด
    • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด
    • เลือกใส่กางเกงชั้นในที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป และระบายอากาศได้ดี
    • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัว เช่น ชุดชั้นใน เซ็กส์ทอย ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ร่วมกับผู้อื่น
    • ตรวจภายในเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์โดยไม่รู้ตัว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา