backup og meta

ตกขาวสีเขียว หายเองได้ไหม และควรดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 04/03/2024

    ตกขาวสีเขียว หายเองได้ไหม และควรดูแลตัวเองอย่างไร

    ตกขาว คือ สารคัดหลั่งที่ไหลออกจากช่องคลอด ปกติจะมีลักษณะเป็นเมือกลื่น คล้ายไข่ขาว มีสีใสหรือขาวขุ่น  ไม่มีกลิ่น แต่บางครั้งสีของตกขาวก็อาจเปลี่ยนสีได้ เช่น กลายเป็นสีเขียว และคนที่มีอาการดังกล่าวอาจสงสัยว่า ตกขาวสีเขียว หายเองได้ไหม การมีตกขาวผิดปกติร่วมกับมีอาการอื่น ๆ อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติบริเวณช่องคลอดบางประการ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจลุกลามและทำให้เสี่ยงติดเชื้ออื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น

    ตกขาวสีเขียว เกิดจากอะไร

    ตกขาวมีหน้าที่ให้ความชุ่มชื้น ช่วยหล่อลื่น และลดการระคายเคืองในช่องคลอด ตกขาวในสภาวะจะเป็นกรดเล็กน้อยเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากภายนอก และประกอบไปด้วยเซลล์ที่ตายแล้วและแบคทีเรียธรรมชาติในช่องคลอด ทั้งนี้ ตกขาวปกติจะไม่ส่งกลิ่นและไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง หากมีตกขาวสีเขียว อาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพบางประการ เช่น

    เกิดจากภาวะไม่สมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด โดยแบคทีเรียชนิดก่อโรคมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่แบคทีเรียชนิดแลคโตบาซิลไล  (Latobacilli) ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรคมีจำนวนน้อยลง เมื่อปริมาณแบคทีเรียชนิดดีและไม่ดีเสียสมดุลจึงทำให้ช่องคลอดอักเสบ

    สาเหตุที่ทำให้ปริมาณแบคทีเรียไม่สมดุล เช่น การสวนล้างช่องคลอด การไม่สวมถุงยางอนามัย การมีคู่นอนหลายคน ซึ่งกระทบต่อความสมดุลของเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องคลอด จนทำให้เกิดตกขาวสีเขียวหรือสีเหลือง ตกขาวเป็นฟอง หรือส่งกลิ่นเหม็นคาว ร่วมกับมีอาการคันบริเวณช่องคลอดและเจ็บขณะถ่ายปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อแบคทีเรียอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงและเสี่ยงติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้น จึงควรรักษาให้หายโดยเร็ว

    โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มักเกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวทริโคโมแนส วาจินาลิส (Trichomonas Vaginalis) ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธุ์ส่วนล่าง เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก ท่อปัสสาวะ การติดเชื้อในช่วงแรกจะไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจน อาการมักปรากฏหลังจากติดเชื้อ 5-28 วัน ส่วนใหญ่จะทำให้คันช่องคลอด ปวดแสบปวดร้อนที่ช่องคลอด อวัยวะเพศบวมแดง มีตกขาวมากผิดปกติหรือมีตกขาวสีเขียว สีเหลือง หรือสีเทา

    การติดเชื้อโปรโตซัวทริโคโมแนส วาจินาลิสอาจทำให้อวัยวะเพศระคายเคืองจนแพร่กระจายหรือติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ได้ง่ายขึ้น แม้จะไม่มีอาการแสดงให้เห็นชัดเจนก็ตาม

    • โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic inflammatory disease หรือ PID)

    โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเป็นภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อในบริเวณระบบสืบพันธุ์เพศหญิง สาเหตุที่พบบ่อย คือโรคหนองในแท้ (Gonorrhea) โรคหนองในเทียม (Chlamydia) แต่ในบางกรณี การสวนล้างช่องคลอด ช่วงมีประจำเดือน ช่วงหลังคลอด การแท้งบุตร ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียและนำไปสู่โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบได้เช่นกัน

    โดยทั่วไป โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบมักไม่แสดงอาการ และระดับอาการก็อาจมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง อาจทำให้มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ร่วมกับการมีตกขาวผิดปกติ ตกขาวเป็นสีเขียวหรือสีเหลือง ตกขาวมีกลิ่นเหม็น เป็นต้น หากติดเชื้อควรเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อลุกลามไปยังอวัยวะภายในอื่น ๆ จนเกิดความเสียหาย เช่น มีแผลจากการอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงมีบุตรยากหรือเสี่ยงตั้งครรภ์นอกมดลูกได้

    ตกขาวสีเขียว หายเองได้ไหม

    ตกขาวสีเขียว มักเป็นสัญญาณของการติดเชื้อที่บริเวณช่องคลอด หรือภายในระบบสืบพันธุ์ส่วนล่าง ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา เนื่องจากอาการตกขาวสีเขียวมักไม่หายไปเอง และมีอาการร่วมอื่น ๆ ที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คัน ระคายเคือง ปวดแสบปวดร้อน เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์หรือถ่ายปัสสาวะ นอกจากนี้ การติดเชื้ออาจลุกลาม และเสี่ยงแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้ด้วย

    หากพบว่าตกขาวเปลี่ยนเป็นสีเขียว ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ หลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเองเนื่องจากอาจรักษาได้ไม่ตรงจุด

    ตกขาวสีเขียว รักษายังไง

    โดยทั่วไปการรักษาตกขาวสีเขียวจากการโรคพยาธิหรือจากการติดเชื้อแบคทีเรียทำได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อต้านเชื้อ โดยควรรับประทานยาติดต่อกันตามขนาดและระยะเวลาที่คุณหมอแนะนำ ไม่ควรหยุดยาเองแม้อาการจะดีขึ้นแล้ว เพื่อให้สามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างหมดจดและป้องกันเชื้อดื้อยา โดยยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาการติดเชื้อในช่องคลอด อาจมีดังนี้

    • เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ให้รับประทานขนาด 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งพร้อมมื้ออาหารหรือหลังอาหารแล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ ติดต่อกันประมาณ 5-7 วัน
    • ทินิดาโซล (Tinidazole) ใช้รักษาโรคติดเชื้อบางชนิดที่เกิดจากแบคทีเรียหรือพยาธิ ให้รับประทานขนาด 400-500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 5-7 วัน หรือขนาด 2 กรัม เพียงครั้งเดียว
    • คลินดามัยซิน (Clindamycin) ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในช่องคลอด ให้รับประทานขนาด 30 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 5-7 วัน
    • อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) เช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ใช้รักษาภาวะตกขาวผิดปกติจากการติดเชื้อและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในเทียม โรคหนองในแท้

    ขณะรักษาอาการตกขาวสีเขียวควรงดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 1 สัปดาห์ และควรให้คู่นอนไปพบคุณหมอเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์และรับการรักษาที่เหมาะสมหากติดเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในภายหลัง

    ตกขาวสีเขียว ห้าม กิน อะไร

    เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้เกิด ตกขาวสีเขียว มักจะมาจากการติดเชื้อ ซึ่งจำเป็นต้องรักษาด้วยใช้ยาปฏิชีวนะ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีการปนเปื้อนสูง ดังนี้

    • ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมที่ไม่ผ่านการพลาสเจอร์ไรซ์
    • ชีส
    • อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ
    • ปลาดิบ ซูชิ
    • อาหารหมักดอง
    • ผักและผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันตกขาวผิดปกติ

    การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันตกขาวผิดปกติ อาจทำได้ดังนี้

    • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
    • ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศด้วยน้ำเปล่าหรือสบู่อ่อน ๆ
    • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนประกอบที่อาจทำให้ระคายเคือง เช่น น้ำหอม เพราะอาจส่งผลให้แบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุลได้
    • หลังเข้าห้องน้ำควรเช็ดทำความสะอาดอวัยวะเพศจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันแบคทีเรียเข้าไปในช่องคลอดจนเสี่ยงติดเชื้อ
    • ถ่ายปัสสาวะก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในช่องคลอด
    • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด
    • สวมกางเกงชั้นในที่ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดแน่นจนเกินไป และไม่สวมกางเกงชั้นในที่ยังไม่ได้ซัก
    • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัว เช่น ชุดชั้นใน เซ็กส์ทอย ร่วมกับผู้อื่น
    • เมื่อเริ่มมีเพศสัมพันธ์ ควรตรวจภายในทุกปี
    • นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงและทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ อาจลดความเสี่ยงในการเกิดเชื้อได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 04/03/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา