backup og meta

ตรวจช่องคลอด การเตรียมตัว และความเสี่ยงที่ผู้หญิงควรรู้

ตรวจช่องคลอด การเตรียมตัว และความเสี่ยงที่ผู้หญิงควรรู้

การตรวจช่องคลอด หรือการตรวจภายใน เป็นการตรวจที่อาจทำให้ทราบถึงสุขภาพภายในช่องคลอดและบริเวณอวัยวะเพศว่าเสี่ยงเป็นโรคหรือมีการติดเชื้อใด ๆ หรือไม่ เพื่อให้สามารถทำการรักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่อาการจะลุกลาม ก่อนการตรวจช่องคลอด ควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้ารับการตรวจ และคอยสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นหลังการตรวจ เช่น เจ็บช่องคลอด เลือดออกมาก จะได้แจ้งคุณหมอให้ทราบในทันที

[embed-health-tool-ovulation]

ประโยชน์ของการตรวจช่องคลอด

การตรวจช่องคลอด เป็นการตรวจเพื่อหาสัญญาณของการเกิดภาวะต่าง ๆ เช่น ซีสต์ในรังไข่ ปัญหาของท่อรังไข่ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื้องอกในมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากมดลูก ซึ่งควรตรวจเป็นประจำทุกปี โดยสามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 21 ปี และสำหรับผู้ที่กำลังวางแผนการตั้งครรภ์ก็ควรทำการตรวจช่องคลอดเพื่อคัดกรองโรคที่อาจเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการตกขาวผิดปกติ เลือดออกทางช่องคลอด ปัญหาทางเดินปัสสาวะ ปวดบริเวณช่องคลอดขณะปัสสาวะและระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ก็ควรเข้ารับการตรวจช่องคลอดเพื่อคัดกรองโรคด้วยเช่นกัน

การเตรียมตัวก่อนตรวจช่องคลอด

การเตรียมตัวก่อนตรวจช่องคลอด ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • ควรนับเวลาที่รอบเดือนมา เพราะการตรวจช่องคลอดควรตรวจในวันที่ไม่มีประจำเดือน
  • ทำความสะอาดบริเวณช่องคลอดและอวัยวะเพศให้สะอาดก่อนตรวจ
  • ไม่ควรใช้ยาหรือครีมทาบริเวณช่องคลอดก่อนตรวจ
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หรือกิจกรรมที่มีการสอดวัตถุในช่องคลอดก่อนตรวจอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

ขั้นตอนการตรวจช่องคลอด

ขั้นตอนการตรวจช่องคลอด มีดังนี้

  • การตรวจช่องคลอดภายนอกด้วยสายตา เป็นการตรวจขั้นแรก โดยคุณหมออาจตรวจดูบริเวณภายนอกของช่องคลอดเพื่อมองหาความผิดปกติ เช่น ช่องคลอดบวมแดง อาการคันเมื่อสัมผัส แผลพุพอง สีของตกขาวผิดปกติ โดยให้ถอดเสื้อผ้าส่วนล่างและนอนลงบนเตียงสำหรับตรวจภายใน พร้อมกับยกขาขึ้นวางบนที่วางขา เพื่อให้สะดวกต่อการตรวจ
  • การตรวจช่องคลอดภายในด้วยสเปคคูลั่ม (Speculum) คุณหมออาจใช้อุปกรณ์เรียกว่า คีมถ่างช่องคลอด หรือ สเปคคูลั่ม ซึ่งเป็นโลหะมีลักษณะเหมือนปากเป็ดสอดเข้าในช่องคลอดเพื่อขยายช่องคลอดให้กว้างขึ้นเพียงพอที่จะเห็นภายในช่องคลอด การตรวจนี้อาจส่งผลให้รู้สึกไม่สบายตัว และเจ็บปวดเล็กน้อย ระหว่างตรวจอาจหายใจเข้าออกช้า ๆ ไม่เกร็ง หรือพูดคุยกับคุณหมอ เพื่อเพิ่มความผ่อนคลาย
  • การตรวจช่องคลอดด้วยการส่องกล้อง หลังจากคุณหมอใช้คีมถ่างช่องคลอด อาจใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าคอลโปสโคป (Colposcopy) เพื่อส่องตรวจดูภายในช่องคลอดและปากมดลูก ในรายที่มีข้อบ่งชี้
  • การตรวจแปปสเมียร์ (Pap smear หรือ Pap test) ระหว่างที่ใช้คีมถ่างช่องคลอดและการส่องกล้อง คุณหมออาจทำการตรวจแปปสเมียร์โดยการใช้ไม้พายป้ายเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกเพื่อเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูก แล้วนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคหรือมีความผิดปกติใด ๆ เกี่ยวกับปากมดลูกหรือไม่ เช่น มะเร็ง รอยโรคก่อนมะเร็ง รวมไปถึงการติดเชื้อบางอย่าง

หลังจากตรวจเสร็จคุณหมอจะนำคีมถ่างช่องคลอดออก และสวมใส่ถุงมือนำนิ้ว 2 นิ้ว สอดเข้าช่องคลอดอีกครั้ง พร้อมกับกดบริเวณหน้าท้องส่วนล่าง และกระดูกเชิงกราน เพื่อตรวจขนาดและรูปร่างของมดลูกและรังไข่ รวมถึงตรวจหาเนื้องอก บางครั้งอาจสอดนิ้วอีกข้างบริเวณทวารหนักพร้อมกันกับการสอดนิ้วในช่องคลอด เพื่อหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อในบริเวณนั้น

ความเสี่ยงจากการตรวจช่องคลอด

การตรวจช่องคลอด อาจทำให้รู้สึกตึง ๆ เล็กน้อย หรือมีอาการเจ็บช่องคลอด ปวดท้องน้อยและอุ้งเชิงกราน จากการใช้คีมถ่างช่องคลอด โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ตรวจช่องคลอดครั้งแรก แต่อาการเหล่านี้จะหายได้เองหลังจากตรวจเสร็จสิ้น หากรู้สึกเจ็บปวดมากเกินไปขณะตรวจ หรือมีอาการผิดปกติหลังตรวจ เช่น อาการคันรุนแรง เลือดออกทางช่องคลอด ควรแจ้งให้คุณหมอทราบทันที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

pelvic exam. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/pelvic-exam/about/pac-20385135. Accessed December 31, 2022.

Pelvic Exam. https://www.webmd.com/women/guide/pelvic-examination. Accessed December 31, 2022.

Pelvic Exams. https://www.acog.org/womens-health/faqs/pelvic-exams. Accessed December 31, 2022.

Pelvic examination and colposcopy. https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/vaginal-cancer/getting-diagnosed/tests-diagnose/pelvic-examination. Accessed December 31, 2022.

internal exam. https://www.cancer.gov/publications/dictionaries/cancer-terms/def/internal-exam. Accessed December 31, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/12/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

คันช่องคลอด สาเหตุและการรักษา

ยาสอดช่องคลอด ใช้อย่างไร มีข้อควรระวังอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา