ต่อมลูกหมากโต และ อาการ ที่เกิดขึ้นอาจยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่ก็เป็นไปได้ว่าเกิดจากร่างกายเสื่อมสภาพ อีกทั้งยังไม่ควรปล่อยไว้เป็นเวลานาน เนื่องจากต่อมลูกหมาก เป็นอวัยะที่ห่อหุ้มท่อปัสสาวะส่วนบน มีลักษณะคล้ายลูกเกาลัด ทำหน้าที่ในการสร้างของเหลวหรือน้ำหล่อเลี้ยงอสุจิ เพื่อช่วยให้อสุจิแข็งแรง ดังนั้นหากเกิดความผิดปกติขึ้นกับต่อมลูกหมากก็อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงและกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ได้
[embed-health-tool-heart-rate]
สาเหตุของต่อมลูกหมากโต
สาเหตุที่ทำให้ต่อมลูกหมากโตอาจยังไม่ทราบที่ชัดเจน แต่อาจเกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมีความเปลี่ยนแปลง ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุล จึงอาจนำไปสู่ภาวะต่อมลูกหมากโต พบได้มากในผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ขณะเดียวกันก็อาจพบได้ในอายุที่ต่ำกว่า 40 ปี เช่นกัน
นอกจากนี้ ต่อมลูกหมากโตยังอาจเป็นได้จากพันธุกรรมของในครอบครัวเคยมีปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เพรอาจส่งผลกระทบต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต ทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุลและเสี่ยงต่อมลูกหมากโต
ต่อมลูกหมากโต อาการ ที่ควรสังเกต
ต่อมลูกหมาก อาการที่ควรสังเกต มีดังนี้
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ปัสสาวะบ่อยในช่วงเวลากลางคืน
- ปัสสาวะลำบาก
- ปัสสาวะติดขัด
- ปัสสาวะเป็นเลือด
ควรเข้าพบคุณหมออย่างรวดเร็วหากมีปัญหาเกี่ยวกับปัสสาวะผิดปกติร่วมกับมีไข้ ปัสสาวะมีเลือดปน และรู้สึกปวดท้อง เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ไตเสียหาย ผนังกระเพาะปัสสาวะหดตัว และปัสสาวะสะสมในกระเพาะปัสสาวะมากเกินไป
การรักษาต่อมลูกหมากโต
การรักษาต่อมลูกหมากโต อาจทำได้ดังนี้
ยา
- ยาแอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha Blockers) เช่น ไซโลโดซิน (Silodosin) อัลฟูโซซิน (Alfuzosin) แทมซูโลซิน (Tamsulosin) ดอกซาโซซิน (Doxazosin) เหมาะสำหรับผู้ชายที่ต่อมลูกหมากโตในขนาดเล็ก ใช้เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะและต่อมลูกหมาก ทำให้ปัสสาวะได้ง่ายขึ้น แต่อาจส่งผลข้างเคียงเล็กน้อยคือทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ รวมถึงอาจทำให้อสุจิไหลกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ
- ยากลุ่ม 5 แอลฟา รีดักเตส อินฮิบิเตอร์ (5 Alpha Reductase Inhibitor) เช่น ยาฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) ดูแทสเทอไรด์ (Dutasteride) ใช้เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศที่ส่งผลให้ต่อมลูกหมากโตและช่วยลดขนาดของต่อมลูกหมาก
- ทาดาลาฟิล (Tadalafil) อาจช่วยรักษาต่อมลูกหมากโต แต่โดยทั่วไปแล้วมักใช้รักษาในภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศเป็นหลัก
- การใช้ยามากกว่าหนึ่งตัวขึ้นไป สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาตัวใดตัวหนึ่ง คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยากลุ่มแอลฟา รีดักเตส อินฮิบิเตอร์ ร่วมกับ แอลฟา-บล็อกเกอร์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการต่อมลูกหมากโต
การผ่าตัด
- การผ่าตัดด้วยการใช้คลื่นไมโครเวฟ (Transurethral Microwave Thermotherapy: TUMT) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตในระดับเบา โดยคุณหมอจะทำการใส่อิเล็กโทรดผ่านเข้าไปในท่อปัสสาวะไปถึงต่อมลูกหมาก และปล่อยคลื่นไมโครเวฟภายในต่อมลูกหมากเพื่อกำจัดเนื้อเยื่อบางส่วนของต่อมลูกหมาก ที่อาจช่วยลดขนาดของต่อมลูกหมากลง
- การผ่าตัดส่องกล้องต่อมลูกหมาก (Transurethral Resection of the Prostate: TURP) โดยคุณหมอจะสอดกล้องเข้าไปในท่อปัสสาวะเพื่อผ่าตัดนำชิ้นเนื้อออกทั้งหมดยกเว้นส่วนนอกของต่อมลูกหมาก เพื่อช่วยให้ปัสสาวะสะดวกขึ้น และอาจจำเป็นต้องใส่สายสวนชั่วคราวหลังการผ่าตัดเพื่อระบายปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะให้หมด
- การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อขยายท่อปัสสาวะ (Transurethral Incision of the Prostate: TUIP) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตในระดับเบาและปานกลาง โดยคุณหมอจะกรีดเปิดต่อมลูกหมากเล็กน้อยและสอดกล้องเข้าไป จากนั้นจะตัดชิ้นเนื้อเพียงบางส่วนออกภายในต่อมลูกหมาก เพื่อช่วยลดแรงกดทับบนท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะสะดวกขึ้น
- การผ่าตัดส่องกล้องด้วยเข็ม (Transurethral Needle Ablation: TUNA) โดยคุณหมอจะสอดเข็มเข้าไปในต่อมลูกหมาก และปล่อยคลื่นวิทยุไปที่เข็ม ทำให้เกิดความร้อนเพื่อเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อส่วนเกินของต่อมลูกหมากที่ขวางการไหลเวียนของปัสสาวะ ช่วยให้ปัสสาวะสะดวกขึ้น
- การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser Therapy) มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ การเลเซอร์เพื่อระเหยเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากบางส่วนที่อุดกั้นให้เป็นไอ และเลเซอร์กำจัดเนื้อเยื่อออกทั้งหมด อย่างไรก็ตามทั้ง 2 รูปแบบมีจุดประสงค์ เพื่อช่วยกำจัดเนื้อเยื่อส่วนเกินของต่อมลูกหมาก บรรเทาอาการต่อมลูกหมากโต ป้องกันการงอกใหม่ของเนื้อเยื่อและช่วยให้ปัสสาวะสะดวกขึ้น
การป้องกันภาวะต่อมลูกหมากโต
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันต่อมลูกหมากโต อาจทำได้ดังต่อนี้
- ไม่ควรอั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง เพราะอาจส่งผลให้ปัสสาวะบ่อยครั้ง ทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง นำไปสู่ต่อมลูกหมากโต
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ อีกทั้งยังอาจช่วยปรับฮอร์โมนให้สมดุล ลดความเสี่ยงจากต่อมลูกหมากโต
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำในปริมาณมากโดยเฉพาะก่อนเข้านอนและออกนอกบ้านเพื่อป้องกันการอั้นปัสสาวะ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานให้แข็งแรง