backup og meta

ปจด.มาไม่ปกติ มีสาเหตุจากอะไร และการดูแลตัวเอง

ปจด.มาไม่ปกติ มีสาเหตุจากอะไร และการดูแลตัวเอง

ปจด.มาไม่ปกติ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของประจำเดือนที่แตกต่างไปจากที่เคยเป็น เช่น ประจำเดือนไม่มา ประจำเดือนมามากหรือมานาน ประจำเดือนมาน้อย ประจำเดือนห่าง โดยสาเหตุของ ปจด.มาไม่ปกติ มักเกิดจากความเครียด ความอ้วน การคุมกำเนิด โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ รวมถึงความไม่สมดุลของฮอร์โมนและความผิดปกติต่าง ๆ เกี่ยวกับต่อมไทรอยด์หรือระบบสืบพันธุ์

[embed-health-tool-ovulation]

ปจด. คืออะไร ปกติเป็นแบบไหน

ปจด. ย่อมาจาก ประจำเดือน เป็นภาวะสุขภาพของเพศหญิงในวัยเจริญพันธุ์ที่ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงหลังตกไข่และไม่ได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกกลายเป็นเลือดไหลออกทางช่องคลอดเดือนละครั้ง

โดยทั่วไป เพศหญิงจะเริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุ 12-15 ปี และหยุดมีประจำเดือนเมื่อเข้าสู่วัยทอง หรือประมาณอายุ 45-55 ปี ซึ่งเกิดจากภาวะรังไข่หยุดทำงานโดยธรรมชาติ ทำให้ไม่มีการสร้างฮอร์โมนเพศทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน และไม่มีการตกไข่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ประจำเดือนแต่ละรอบ จะเกิดห่างกันประมาณ 28 วัน อย่างไรก็ตาม ประจำเดือนอาจมาเร็วหรือช้ากว่านั้น คือ อยู่ในช่วงระหว่าง 21-35 วัน โดยประจำเดือนแต่ละรอบจะมาติดต่อกันราว 3-7 วัน

อาการแบบไหนเข้าข่าย ปจด.มาไม่ปกติ

ปจด.มาไม่ปกติ หมายถึง การมีประจำเดือนที่แตกต่างไปจากที่เคยเป็น ซึ่งพบได้ในเพศหญิงที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ได้แก่

  • ประจำเดือนขาด (Amenorrhea) หรือบางครั้งเรียกว่า ประจำเดือนไม่มา หมายถึง การขาดประจำเดือนติดต่อกันตั้งแต่ 3 รอบขึ้นไป ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ รวมถึงการไม่เคยมีประจำเดือนเลย ในกรณีของวัยรุ่นที่อายุ 16 ปีแล้ว
  • ประจำเดือนมามาก (Menorrhagia) คือการเป็นประจำเดือนติดต่อกันเกิน 7 วัน หรือมีเลือดออกมากกว่าปกติ โดยสังเกตได้จากการเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ทั้งนี้ เมื่อประจำเดือนมามาก อาจพบลิ่มเลือดหรือก้อนเลือดออกมาพร้อมกับประจำเดือนด้วย
  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ (Metrorhagia) ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอในแต่ละรอบเดือน
  • ประจำเดือนห่าง (Oligomenorrhea) หรือมีประจำเดือนห่างกันเกิน 35 วันในแต่ละรอบ และใน 1 ปี มีประจำเดือนเพียง 4-9 ครั้งเท่านั้น
  • ประจำเดือนมาบ่อย (Polymenorrhea) คือการมีระยะห่างระหว่างรอบเดือนสั้นกว่า 21 วัน
  • ประจำเดือนเลื่อน (Delayed period) คือ การที่ประจำเดือนที่เคยมาเป็นประจำทุก ๆ 21-35 วัน มาเร็วหรือช้ากว่ารอบเดือนก่อนหน้าเกิน 7 วัน
  • ประจำเดือนหลังวัยทอง (Postmenopausal bleeding) เข้าสู่วัยทองแล้วแต่กลับมามีประจำเดือนหลังประจำเดือนหยุดไปเป็นระยะเวลาหนึ่งปี

ปจด.มาไม่ปกติ เกิดจากอะไรได้บ้าง

ความผิดปกติต่าง ๆ เกี่ยวกับประจำเดือน สามารถเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ ดังนี้

  • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โทนเดี่ยวโปรเจสเตอโรน เช่น ยาฉีดคุมกำเนิด หรือ ยาฝังคุมกำเนิด ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลงจนไม่สามารถรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนได้ เลยมักทำให้ไม่มีประจำเดือน หลังจากหยุดใช้ยา อาจทำให้ปจด.มาไม่ปกติเป็นเวลาประมาณ 6 เดือนได้ โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้ยาฉีดคุมกำเนิด
  • การให้นมบุตร เนื่องจากขณะให้นมบุตร ร่างกายผลิตฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) สูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ยับยั้งการมีประจำเดือน ทำให้ ปจด.มาไม่ปกติในหญิงให้นมบุตรบางราย
  • การเสียสมดุลของฮอร์โมนเพศ หรือฮอร์โมนเอสโตรเจนและเทสโทสเตอโรนในเพศหญิง เป็นสาเหตุหนึ่งของประจำเดือนมามากและประจำเดือนขาด ทั้งนี้ การเสียสมดุลของฮอร์โมนเพศ อาจเป็นอาการสืบเนื่องจากโรคถุงน้้ำในรังไข่หลายใบ ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีประจำเดือนน้อยว่า 9 ครั้งใน 1 ปี และรอบประจำเดือนห่างกันเกิน 35 วัน
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ เช่น โรคบูลิเมีย เนอโวซา (Bulimia Nervosa) หรือการล้วงคอให้อาเจียนหลังรับประทานอาหาร สามารถทำให้ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงทำงานผิดปกติ และส่งผลต่อปริมาณหรือความถี่ของการเป็นประจำเดือนได้
  • วัยทอง ก่อนเข้าสู่วัยทอง การทำงานของรังไข่อาจมีความผิดปกติ ทำให้ผู้หญิงเป็นประจำเดือนในปริมาณมากหรือน้อยกว่าปกติ รวมถึงอาจมีระยะห่างระหว่างรอบเดือนถึง 60 วัน หรือประจำเดือนไม่มาในบางเดือน
  • เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ เป็นสาเหตุหนึ่งของการมีประจำเดือนปริมาณมากผิดปกติ โดยปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุแน่ชัด อาจพบเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเติบโตนอกโพรงมดลูก เช่น บริเวณรังไข่ ท่อนำไข่ หรือเยื่อบุช่องท้อง
  • ความเครียด ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งจะไปรบกวนการทำงานสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) แล้วส่งผลให้ประจำเดือนขาด มาช้า หรือมาน้อยกว่าปกติได้ ทั้งนี้ นอกจากความเครียด ร่างกายยังหลั่งคอร์ติซอลออกมาได้หากออกกำลังกายหักโหม หรือป่วยเป็นกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome)
  • เนื้องอกบริเวณมดลูก เนื้องอกที่อาจพบหนึ่งก้อนหรือหลายก้อนบริเวณผนังมดลูก หรือในโพรงมดลูก ทั้งนี้ เนื้องอกบริเวณมดลูก อาจเป็นสาเหตุของประจำเดือนมามาก หรือประจำเดือนมานานกว่าปกติ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก

นอกจากนี้ ปจด.มาไม่ปกติ ยังสามารถเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น

  • มะเร็งโพรงมดลูกหรือมะเร็งปากมดลูก
  • การใช้ยาบางอย่าง เช่น สเตียรอยด์
  • ภาวะเลือดออกผิดปกติ

ปจด.มาไม่ปกติ แบบไหนที่ควรไปพบคุณหมอ

หากมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาประจำเดือนหรือระบบสืบพันธุ์

  • พบอาการปวดรุนแรงระหว่างมีประจำเดือน หรือระหว่างรอบประจำเดือน
  • ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
  • ปริมาณประจำเดือนมากผิดปกติ
  • เป็นประจำเดือนติดต่อกันเกิน 7 วัน
  • ประจำเดือนขาดติดต่อกันเกิน 3 รอบเดือน
  • มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดหลังเข้าสู่วัยทองแล้ว

 วิธีดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยง ปจด.มาไม่ปกติ

การลดโอกาสเป็นปจด.มาไม่ปกติ สามารถทำได้ ด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • ดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม โดยการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอแต่ไม่หักโหมเกินไป และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ลดความเครียด
  • ใช้ยาคุมกำเนิดตามคำแนะนำที่ระบุไว้ข้างกล่อง หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • ไปพบคุณหมอสม่ำเสมอ เพื่อตรวจภายในอย่างน้อยเป็นประจำทุกปี จะได้ทราบถึงภาวะสุขภาพของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง หากพบความผิดปกติ จะได้รักษาทันท่วงที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Heavy Menstrual Bleeding. https://www.cdc.gov/ncbddd/blooddisorders/women/menorrhagia.html#:~:text=Menorrhagia%20is%20menstrual%20bleeding%20that,larger%2C%20that%20is%20heavy%20bleeding. Accessed May 4, 2022

Oligomenorrhea: Definition, Signs, and Treatments. https://www.webmd.com/women/oligomenorrhea-definition-signs-and-treatments#:~:text=Causes%20of%20Oligomenorrhea,-Many%20things%20can&text=Polycystic%20ovarian%20syndrome%20%E2%80%94%20or%20PCOS,United%20States%20may%20have%20PCOS. Accessed May 4, 2022

ลักษณะประจำเดือนผิดปกติ. http://www.student.chula.ac.th/~59370703/period2.html#:~:text=%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B4,%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%20(Metrorhagia). Accessed May 4, 2022

What are menstrual irregularities?. https://www.nichd.nih.gov/health/topics/menstruation/conditioninfo/irregularities. Accessed May 4, 2022

Period problems. https://www.womenshealth.gov/menstrual-cycle/period-problems. Accessed May 4, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/11/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ลิ่มเลือดประจำเดือน เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่

5 เรื่องเข้าใจผิดเมื่อ เป็นประจำเดือน ที่ควรรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา