backup og meta

ปล่อยในกี่วันถึงท้อง ? หากท้องไม่พร้อมควรคุมกำเนิดอย่างไร ?

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/11/2022

    ปล่อยในกี่วันถึงท้อง ? หากท้องไม่พร้อมควรคุมกำเนิดอย่างไร ?

    ปล่อยในกี่วันถึงท้อง ? อาจเป็นคำถามที่หลายคนที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันสงสัย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่พร้อมมีบุตร เพราะการปล่อยในอาจมีความเสี่ยงที่ตัวอสุจิจะไปผสมกับไข่ภายในช่องคลอด และก่อให้เกิดการปฏิสนธิและฝังตัวในโพรงมดลูกจนเกิดการตั้งครรภ์ ดังนั้น ผู้ที่ไม่ได้วางแผนที่จะมีบุตรจึงควรศึกษาวิธีการคุมกำเนิดและเลือกการคุมกำเนิดอย่างเหมาะสม เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การรับประทานยาคุมกำเนิด การฝังยาคุม การใช้แผ่นแปะยาคุม

    ปล่อยในกี่วันถึงท้อง ?

    ในแต่ละเดือนผู้หญิงจะมีการตกไข่ ที่ปล่อยไข่ไปยังท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิ โดยไข่นั้นอาจมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 12-24 ชั่วโมง ซึ่งหากในระหว่างนั้นมีการปล่อยในเกิดขึ้น ก็จะเกิดการปฏิสนธิและท้องได้ นอกจากนี้ ตัวอสุจิมักจะมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 5 วัน ดังนั้น หากอยากมีบุตรจึงควรนับวันตกไข่และควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 5 วันก่อนตกไข่ แต่หากไม่พร้อมที่จะมีบุตร ก็ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ หรือควรใช้วิธีการคุมกำเนิดชนิดอื่น

    หากเกิดการปฏิสนธิขึ้นตัวอ่อนจะฝังตัวในโพรงมดลูกภายใน 6-10 วันหลังจากปฏิสนธิ และพัฒนาเป็นทารกตามลำดับซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้อาจทำให้ผู้หญิงท้องหลังจากผู้ชายปล่อยในภายใน 7-10 วัน และอาจรู้ผลชัดเจนประมาณ 14 วัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระยะเวลาการปฏิสนธิของแต่ละบุคคลอาจไม่เท่ากัน หากมีความกังวลใจควรตรวจครรภ์ด้วยตัวเองหรือเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจครรภ์เพื่อให้ทราบผลแน่ชัด

    การตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง

    หากมีความกังวลใจว่า ปล่อยในกี่วันถึงท้อง หรือหากสังเกตว่าประจำเดือนไม่มาเกินกว่า 1 เดือน ควรรออย่างน้อย 14 วันหลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันจึงค่อยตรวจครรภ์

    การตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง มีวิธีที่แตกต่างกันตามประเภทของชุดตรวจดังนี้

    1. การใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์แบบหยด

    ภายในกล่องจะประกอบด้วย ถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ หลอดหยดสำหรับดูดน้ำปัสสาวะและตลับทดสอบการตั้งครรภ์

    วิธีใช้ที่ตรวจครรภ์แบบหยด

    • ปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ โดยควรใช้ปัสสาวะแรกของวันเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ปัสสาวะมีความเข้มข้นของฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (HCG) สูงสุด และไม่ควรดื่มน้ำก่อนตรวจเพราะอาจทำให้ปัสสาวะเจือจาง และอาจทำให้ผลตรวจครรภ์คลาดเคลื่อน
    • ใช้หลอดหยดดูดน้ำปัสสาวะและหยดลงบนตลับการทดสอบการตั้งครรภ์ในช่องที่มีตัวอักษร S ประมาณ 3 หยด สูงสุดไม่เกิน 6 หยด
    • วางทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที ในพื้นที่ที่แห้งสนิท เพื่อรอผลทดสอบ

    2. ชุดทดสอบการตั้งครรภ์แบบจุ่ม

    ภายในกล่องประกอบด้วยถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ กระดาษทดสอบการตั้งครรภ์ บางยี่ห้ออาจเป็นเครื่องพลาสติกที่มีส่วนปลายไว้จุ่มปัสสาวะที่สามารถอ่านผลลัพธ์ได้ภายในชิ้นเดียว

    วิธีใช้ที่ตรวจครรภ์

    •  ปัสสาวะลงในถ้วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ โดยควรใช้ปัสสาวะแรกของวันเหมือนกับการตรวจครรภ์แบบหยด
    • นำกระดาษทดสอบ หรือถอดฝาเครื่องทดสอบการตั้งครรภ์ แล้วนำส่วนปลายของอุปกรณ์จุ่มลงในปัสสาวะประมาณ 7-10 วินาที โดยไม่ควรจุ่มเกินขีดที่กำหนด
    • วางกระดาษในพื้นที่ที่สะอาดหรือปิดฝาอุปกรณ์แล้ววางไว้ในพื้นที่แห้งสนิท และรอผลทดสอบประมาณ 5 นาที หรือตามคำแนะนำที่ระบุข้างผลิตภัณฑ์

    ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ทั้ง 2 รูปแบบจะมีตัวอักษร C และ T เมื่อถึงเวลาอ่านค่าผลทดสอบ หากพบว่าเส้นสีแดงปรากฏตรงกับตัวอักษร C และ T ทั้ง 2 ขีดอย่างชัดเจน อาจหมายความว่ากำลังตั้งครรภ์ แต่หากมีเส้นสีแดงขึ้นตรงกับตัวอักษร C เพียง 1 ขีด จะมีความหมายว่า ไม่ตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ถ้าเส้นสีแดงมีสีจาง อาจจำเป็นต้องตรวจสอบใหม่ในเช้าวันถัดไป และหากไม่มีเส้นสีแดงขึ้นที่ตัวอักษร C แสดงว่าชุดการทดสอบนั้นไม่สามารถทำการทดสอบได้ ให้เปลี่ยนชุดทดสอบอันใหม่แทน

    วิธีการคุมกำเนิดสำหรับผู้ที่ไม่พร้อมตั้งครรภ์

    สำหรับผู้ที่ไม่พร้อมตั้งครรภ์และไม่อยากเกิดความกังวลใจว่า ปล่อยในกี่วันถึงท้อง ควรหลีกเลี่ยงการปล่อยใน และควรคุมกำเนิดด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • ถุงยางอนามัย เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ใช้งานง่ายและสะดวก โดยควรเลือกขนาดให้เหมาะสมและศึกษาการใช้ให้ถูกต้อง
    • ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน หรือมีเพียงฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว ซึ่งมีทั้งรูปแบบ 21 เม็ด หรือ 28 เม็ด และยาคุมฉุกเฉิน ใช้เพื่อช่วยสร้างเมือกบริเวณปากมดลูกและออกฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ ทำให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ยาก หรือทำให้ผนังมดลูกบางลงจนตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวในผนังมดลูกได้ โดยวิธีนี้จำเป็นต้องอาศัยความสม่ำเสมอในการรับประทานยา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงสุด
    • ฝังยาคุม คือยาคุมที่มีลักษณะเป็นแท่งพลาสติกสีขาวขนาดเล็กประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสติน โดยอาจฝังไว้ใต้ผิวหนังบริเวณแขนหรือก้น เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างเมือกปากมดลูกให้หนาขึ้น ป้องกันการตั้งครรภ์ และจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่เมื่อครบกำหนดการใช้งาน
    • แผ่นแปะคุมกำเนิด คือแผ่นที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน และปล่อยฮอร์โมนผ่านทางผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือด โดยสามารถแปะบริเวณหน้าท้อง หลังแขน และก้น เพื่อช่วยป้องกันการตั้งครรภ์และควรเปลี่ยนแผ่นใหม่ทุกสัปดาห์ ยกเว้นในช่วงสัปดาห์ที่ 4 เพื่อให้ประจำเดือนมาตามปกติ
    • ยาคุมกำเนิดแบบฉีด คือการฉีดฮอร์โมนโปรเจสตินบริเวณแขน หรือก้น เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างเมือกบริเวณปากมดลูกให้หนาขึ้น ทำให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ยาก ลดความเสี่ยงการตั้งครรภ์และจำเป็นต้องกลับมาฉีดซ้ำทุก ๆ 3 เดือน ก่อนยาจะหมดฤทธิ์
    • ห่วงอนามัยคุมกำเนิด มีลักษณะเป็นพลาสติก หรือทองแดงรูปตัว T ที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน โดยใส่เข้าไปบริเวณปากมดลูกเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพการคุมกำเนิดได้นานประมาณ 3-10 ปี ผลข้างเคียงของการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้คืออาจส่งผลให้ช่องคลอดอักเสบ ปากมดลูกอักเสบ และติดเชื้อในช่องคลอดได้
    • ไดอะแฟรมครอบปากมดลูก คืออุปกรณ์ที่ทำจากซิลิโคน มีลักษณะคล้ายถ้วยและมีความยืดหยุ่น มักใช้ร่วมกับยาฆ่าอสุจิ โดยทายาฆ่าอสุจิให้ทั่วไดอะแฟรมครอบปากมดลูก และสอดเข้าไปในช่องคลอดเป็นเวลา 3 ชั่วโมงก่อนมีเพศสัมพันธ์ และควรใส่ทิ้งไว้อย่างน้อยอีก 6 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ ไม่ควรถอดออกทันที เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ฆ่าเชื้ออสุจิได้เต็มประสิทธิภาพ
    • วงแหวนคุมกำเนิด มีมีลักษณะเป็นวงแหวนพลาสติกขนาดเล็กที่ประกอบไปด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อปล่อยฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด โดยควรใส่เป็นเวลา 3 สัปดาห์ และถอดออกในสัปดาห์ที่ 4 เพื่อให้ประจำเดือนมาตามปกติ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา