backup og meta

มดลูกหย่อน อาการ ปัจจัยเสี่ยง และการรักษา

มดลูกหย่อน อาการ ปัจจัยเสี่ยง และการรักษา

มดลูกหย่อน อาการ ที่พบบ่อย คือ มดลูกที่ค่อย ๆ ย้อยลงมาเป็นระยะจนออกมาบริเวณปากช่องคลอด โดยอาจมีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และเอ็นของอุ้งเชิงกรานที่ทำหน้าที่ยึดและรองรับมดลูก อีกทั้งยังอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น วัยหมดประจำเดือน การผ่าตัด ภาวะน้ำหนักเกิน หากสังเกตว่ามีอาการไม่สบายตัวขณะเคลื่อนไหว รู้สึกเหมือนมีก้อนภายในช่องคลอด ขับถ่ายลำบาก เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์และปัสสาวะ ควรพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างรวดเร็ว

[embed-health-tool-ovulation]

ปัจจัยเสี่ยงของอาการมดลูกหย่อน

มดลูกหย่อน มีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และเอ็นอุ้งเชิงกรานที่คอยยึดและรองรับมดลูกเสื่อมสภาพ ซึ่งอาจมีปัจจัยบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น ดังนี้

  • คนในครอบครัวมีภาวะเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอ่อนแอ
  • อายุที่เพิ่มมากขึ้นและวัยหมดประจำเดือน ที่อาจส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และอุ้งเชิงกรานเสื่อมสภาพจนนำไปสู่อาการมดลูกหย่อน
  • น้ำหนักเกินที่มากเกินไป อาจทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานรับน้ำหนักมากขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้มดลูกหย่อนได้
  • ภาวะต่าง ๆ เช่น อาการท้องผูกเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ อาการไอเรื้อรัง เนื้องอกในอุ้งเชิงกราน รวมถึงการยกของหนักเป็นประจำ เพราะอาจทำให้เกิดความดันในช่องท้อง อาการเกร็ง และแรงสั่นสะเทือนไปยังบริเวณมดลูก ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้กล้ามเนื้อมดลูกเสื่อมสภาพ นำไปสู่มดลูกหย่อน
  • การคลอดทารกที่มีขนาดตัวใหญ่ โดยเฉพาะคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเสียหายระหว่างคลอด นำไปสู่อาการมดลูกหย่อนหลังคลอด
  • การสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่อาจส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคหลอดลมอักเสบ อาการไอเรื้อรัง เพราะการไออาจทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไปยังมดลูก ที่เพิ่มความเสี่ยงทำให้มดลูกหย่อนหรือย้อยลงมาตามลำดับ

มดลูกหย่อน อาการ ที่ควรไปพบคุณหมอ

อาการมดลูกหย่อน ที่ควรไปพบคุณหมอ เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษา มีดังนี้

  • รู้สึกว่ามีบางอย่างโผล่ออกมาจากช่องคลอด ทำให้รู้สึกเหมือนนั่งอยู่บนลูกบอลขนาดเล็ก
  • รู้สึกมีแรงกดภายในช่องคลอด
  • มีตกขาวมากกว่าปกติ
  • ปวดหลังส่วนล่าง
  • รู้สึกเหมือนมีบางอย่างถ่วงบริเวณช่องคลอดเอาไว้
  • รู้สึกเจ็บปวดช่องคลอดระหว่างปัสสาวะและมีเพศสัมพันธ์
  • ปัสสาวะและอุจจาระลำบาก
  • ปัสสาวะเล็ดเล็กน้อยเมื่อไอ จาม หรือออกกำลังกาย
  • รู้สึกว่าปัสสาวะไม่สุดที่อาจทำให้จำเป็นต้องเบ่งปัสสาวะและเข้าห้องน้ำบ่อย
  • รู้สึกไม่สบายตัวขณะเคลื่อนไหว เช่น เดิน นั่ง วิ่ง
  • ติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้ง ปัสสาวะลำบาก 
  • รู้สึกช่องคลอดหลวม ตกขาวเปลี่ยนสี

หากปล่อยไว้เป็นเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น ปัญหากระเพาะปัสสาวะหย่อน โรคกระเปาะทวารหนักที่เกิดจากกล้ามเนื้อหรือผนังด้านหน้าของทวารหนักและช่องคลอดฉีกขาด หรือเกิดการขยายตัวเป็นถุงโป่งพองเข้าไปในช่องคลอด และแผลพุพองบริเวณมดลูกที่เกิดจากการเสียดสีกับเสื้อผ้าได้

การวินิจฉัยอาการมดลูกหย่อน

การวินิจฉัยอาการมดลูกหย่อน อาจทำได้ดังนี้

  • อัลตราซาวด์ คุณหมออาจใช้การอัลตราซาวด์ เพื่อตรวจโครงสร้างภายในช่องคลอด เพื่อหาสาเหตุและหาวิธีรักษาอย่างเหมาะสม
  • ตรวจสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยคุณหมออาจให้ผู้ป่วยยืนหรือนอนราบ และให้ผู้ป่วยไอหรือเกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เพื่อตรวจสอบดูว่ามดลูกหย่อนออกมาจากช่องคลอดมากน้อยแค่ไหน
  • การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กหรือการทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) ทำเพื่อตรวจสอบอาการมดลูกหย่อนที่ยื่นออกมาพร้อมกับผนังมดลูก

การรักษาอาการมดลูกหย่อน

การรักษาอาการมดลูกหย่อน มีอาจทำได้ดังนี้

  • อุปกรณ์พยุงมดลูก(Pessaries) มีลักษณะเป็นวงแหวนพลาสติกที่มีความยืดหยุ่น ใช้ใส่เข้าไปในช่องคลอดและดันขึ้น เพื่อช่วยรองรับมดลูกที่หย่อนลงมาให้กลับเข้าที่ โดยคุณหมอต้องเป็นคนใส่ให้เท่านั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ควรเข้าพบคุณหมอตามการนัดหมายทุกครั้งเพื่อเช็กอาการหลังใส่หรือนำอุปกรณ์ออกมาทำความสะอาดและเปลี่ยนใหม่ ผลข้างเคียงของการใช้อุปกรณ์พยุงมดลูก ได้แก่ ช่องคลอดเป็นแผล ระคายเคืองช่องคลอด ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น
  • การผ่าตัด เป็นวิธีรักษาอาการมดลูกหย่อน โดยการผ่าตัดเปิดหน้าท้องเพื่อซ่อมแซมกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และเอ็นที่เสียหายของอุ้งเชิงกราน เพื่อให้สามารถกลับมารองรับมดลูกได้อีกครั้ง แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมดลูกหย่อนระดับรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาใด ๆ อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อนำมดลูกออกทั้งหมด
  • การใช้ยาปรับระดับฮอร์โมน เหมาะสำหรับอาการมดลูกหย่อนที่เกิดจากฮอร์โมนไม่สมดุลโดยคุณหมออาจให้ใช้ยาเหน็บหรือวงแหวนที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสอดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อช่วยปรับความสมดุลของฮอร์โมน และช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน

การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการมดลูกหย่อน

การดูแลตัวเองเพื่อช่วยบรรเทาอาการมดลูกหย่อน หรือป้องกันไม่ให้มดลูกหย่อนมีอาการรุนแรงขึ้น อาจทำได้ดังนี้

  • การออกกำลังกายบริหารอุ้งเชิงกราน เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการมดลูกหย่อนในระยะแรก โดยเริ่มจากการนั่งหรือยืน และหายใจเข้าลึก ๆ เป็นจังหวะ จากนั้นขมิบช่องคลอดซึ่งคล้ายกับการกลั้นปัสสาวะ ค้างเอาไว้ 10 วินาที และผ่อนคลาย ควรทำซ้ำ ๆ กัน 10 ครั้ง วันละ 3 รอบ เป็นประจำทุกวัน ในระหว่างที่ขมิบช่องคลอดไม่ควรเกร็งหน้าท้องหรือขาหนีบ เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหดเกร็งได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ
  • ควบคุมอาการไอ เช่น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และสารก่อภูมิแพ้ บรรเทาอาการไอด้วยการรับประทานยาแก้ไอหรืออมยาอม และเข้ารับการรักษาอาการไอเรื้อรังและภาวะหลอดลมอักเสบ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการมดลูกหย่อนรุนแรงขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนักและการออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ด้วยการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง ดื่มน้ำให้มาก ๆ และออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้อาการมดลูกหย่อนแย่ลงไปกว่าเดิมและเป็นการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Uterine prolapse. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/uterine-prolapse/symptoms-causes/syc-20353458.Accessed September 20, 2022

Prolapsed Uterus. https://www.webmd.com/women/guide/prolapsed-uterus.Accessed September 20, 2022

Prolapsed uterus. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/prolapsed-uterus.Accessed September 20, 2022

Prolapsed uterus. https://www.healthdirect.gov.au/prolapsed-uterus.Accessed September 20, 2022

Uterine prolapse. https://medlineplus.gov/ency/article/001508.htm.Accessed September 20, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/10/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ แบบประเมินความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก

มดลูกอักเสบ สาเหตุ อาการ การรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา