backup og meta

อาการไข่ดัน คืออะไร สาเหตุและวิธีรักษา

อาการไข่ดัน คืออะไร สาเหตุและวิธีรักษา

อาการไข่ดัน เป็นอาการบวมที่เกิดขึ้นบริเวณขาหนีบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อไวรัส เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาท โดยทั่วไปสามารถรับมือได้ด้วยการรักษาตามสาเหตุและการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม เช่น หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ใช้แรงเยอะ ประคบผ้าห่อน้ำแข็งเพื่อลดอาการบวม โดยทั่วไปอาการไข่ดันมักจะดีขึ้นเอง แต่อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ แต่หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น มีอาการบวมมากขึ้น ปวดจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-bmi]

อาการไข่ดัน คืออะไร

ต่อมน้ำเหลืองเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย กระจายตัวอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ กกหู ด้านข้างของลำคอ ใต้รักแร้ ขาหนีบ ทำหน้าที่กรองน้ำเหลืองซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดพิเศษที่ช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้ โดยปกติแล้ว ขณะที่ต่อมน้ำเหลืองกำจัดสารพิษหรือเชื้อโรค การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันบริเวณนั้นจะทำให้ต่อมน้ำเหลืองขยายตัวอยู่ใต้ผิวหนังและอาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นบวมเล็กน้อยและไวต่อการสัมผัส แต่เมื่อต่อสู้กับเชื้อโรคเสร็จแล้ว ไม่นานต่อมน้ำเหลืองก็จะกลับสู่ขนาดปกติ

ที่บริเวณขาหนีบด้านในหรือโคนขาหนีบแต่ละข้างจะมีต่อมน้ำเหลืองประมาณ 10 ต่อม หากต่อมน้ำเหลืองในบริเวณนี้ขยายตัวผิดปกติ อาจทำให้มีอาการบวมที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน หรือที่เรียกว่า อาการไข่ดัน โดยขนาดและรูปร่างที่เกิดขึ้นจะแตกต่างไปในแต่ละคน ส่วนใหญ่จะทำให้รู้สึกเจ็บเมื่อเคลื่อนไหวร่างกาย แม้จะเรียกว่าไข่ดัน แต่อาการนี้ก็สามารถเกิดได้กับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

สาเหตุของอาการไข่ดัน

สาเหตุของอาการไข่ดัน อาจมีดังนี้

สาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น

  • การติดเชื้อ เช่น เชื้อรา เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด
  • โรคสังคัง (Jock Itch) เป็นโรคกลากบริเวณขาหนีบ เกิดจากการติดเชื้อราในกลุ่มเดอมาโทไฟต์ (Dermatophyte)
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคซิฟิลิส โรคหนองใน โรคเริม การติดเชื้อ HIV ในระยะโรคเอดส์
  • โรคผิวหนังติดเชื้อ เช่น เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis)

สาเหตุที่อาจพบได้น้อยกว่า เช่น

  • โรคภูมิต้านเนื้อเยื่อตนเอง (Autoimmune Diseases) เช่น โรคลูปัส (Lupus) โรคอะไมลอยด์โดสิส (Amyloidosis) โรคซาร์คอยด์โดสิส (Sarcoidosis) ภาวะข้ออักเสบ (Arthritis)
  • การอักเสบในร่างกาย เช่น ภาวะบวมน้ำเหลือง (Lymphedema)
  • โรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งผิวหนังที่ส่งผลต่อร่างกายส่วนล่าง โรคมะเร็งอัณฑะ โรคมะเร็งปากช่องคลอด (Vulvar Cancer)
  • การใช้ยารักษาโรค เช่น ยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol) ที่ใช้รักษาโรคเกาต์ ยาอะทีโนลอล (Atenolol) ยาไฮดราลาซีน (Hydralazine) ยาแคปโตพริล (Captopril) ที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ยาคาร์บามาเซพีน (Carbamazepine) ที่เป็นยากันชัก

นอกจากนี้ อาการไข่ดันยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับต่อมน้ำเหลือง เช่น ภาวะกระดูกเสียหาย ภาวะกระดูกหักล้า (การหักของกระดูกจากการใช้งานซ้ำ ๆ หรือออกกำลังกายหนักมาก) จากการวิ่งมาราธอน โรคนิ่วในไต ปัญหาเกี่ยวกับลูกอัณฑะ อาการเส้นประสาทถูกกดทับ โรคไซอาติก้า (Sciatica) ที่เกิดจากเส้นประสาทอักเสบจนเกิดอาการบวม รวมถึงต้องแยกกับโรคบางอย่างเช่นภาวะไส้เลื่อนเพราะมีอาการบวมในบริเวณเดียวกันได้

อาการไข่ดัน เป็นอย่างไร

อาการไข่ดัน อาจมีดังนี้

  • เจ็บบริเวณขาหนีบ เนื่องจากกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และเส้นเอ็นบริเวณนั้นขยายตัว
  • อวัยวะเพศบวมหรือแดง
  • ผิวหนังบริเวณขาหนีบหรืออวัยวะเพศแข็ง เมื่อกดแล้วไม่ยุบตัว
  • ปวดบริเวณอวัยวะเพศ

อาการไข่ดัน รักษายังไง

การรักษาอาการไข่ดันอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ดังนี้

  • อาการไข่ดันจากการติดเชื้อไวรัส คุณหมออาจให้ยาต้านไวรัสหรือไม่จำเป็นต้องรับการรักษา จากนั้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ ต่อมน้ำเหลืองอาจลดขนาดลงและอาการบวมบริเวณขาหนีบจะหายไปเอง
  • อาการไข่ดันจากการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา คุณหมออาจให้ยาปฏิชีวนะและยาต้านเชื้อราเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ
  • อาการไข่ดันจากการใช้ยารักษาโรค คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดอื่นที่ไม่ส่งผลข้างเคียงต่อต่อมน้ำเหลือง หรือปรับขนาดยาให้เหมาะสม ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรเปลี่ยนยาหรือปรับขนาดยาเองโดยไม่ปรึกษาคุณหมอก่อน
  • อาการไข่ดันจากโรคภูมิต้านเนื้อเยื่อตนเอง คุณหมอจะรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด การใช้ยาเพื่อควบคุมสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานใกล้เคียงปกติ
  • อาการไข่ดันจากโรคมะเร็ง คุณหมอจะส่งต่อผู้ป่วยไปยังแผนกโรคมะเร็ง ซึ่งจะรักษาภาวะที่เป็นอยู่ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การผ่าตัด การฉายแสง การทำคีโม การใช้ยา

บางครั้งก็อาจไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงของ อาการไข่ดัน ได้ คุณหมออาจแนะนำให้รอประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อรอดูว่าอาการที่พบจะหายไปเองได้หรือไม่

วิธีดูแลตัวเองเมื่อมี อาการไข่ดัน

ผู้ที่มีอาการไข่ดัน ควรดูแลตัวเองดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการก้มตัว โค้งตัว และการยกของหนัก ๆ ในช่วงที่มีอาการปวดบริเวณที่เป็นไข่ดัน
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ทำให้อาการปวดบวมแย่ลงหรือกลับมาเป็นซ้ำอีก
  • แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากไปอีกอย่างน้อย 2-3 วัน
  • ประคบบริเวณขาหนีบด้วยผ้าห่อน้ำแข็งครั้งละไม่เกิน 20 นาที ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง อาจช่วยบรรเทาอาการบวมและไม่สบายตัวได้
  • หลีกเลี่ยงการสวมกางเกงชั้นในหรือกางเกงที่รัดแน่นรอบ ๆ บริเวณที่บวมแดงหรือปวด
  • หากอาการเจ็บไม่หายไปเอง ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ แต่ควรไปพบคุณหมอหรือเภสัชกรเพื่อรับคำแนะนำในการดูแลรักษาที่เหมาะสม

วิธีป้องกันอาการไข่ดัน

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการไข่ดัน อาจทำได้ดังนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีคู่นอนหลายคน เพราะอาจเสี่ยงรับเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดอาการบวมบริเวณขาหนีบ
  • เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรคหัด (Measles) โรคไอกรน (Pertussis) โรคบาดทะยัก (Tetanus) โรคหัดเยอรมัน (Rubella)
  • ผู้ที่เป็นโรคภูมิต้านเนื้อเยื่อตนเอง ควรปฏิบัติตนและรับประทานยาตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด
  • ดูแลสุขอนามัยของตัวเองอยู่เสมอ เช่น อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ล้างมือบ่อย ๆ ไม่สวมกางเกงชั้นในหรือกางเกงที่คับหรือรัดแน่นเกินไป จนที่ทำให้ขาหนีบอับชื้น เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อที่ผิวหนัง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Lymph Nodes – Swollen. https://www.seattlechildrens.org/conditions/a-z/lymph-nodes-swollen/. Accessed February 9, 2023

Swollen lymph nodes (swollen glands). https://www.healthdirect.gov.au/swollen-glands. Accessed February 9, 2023

Swollen lymph nodes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/swollen-lymph-nodes/symptoms-causes/syc-20353902. Accessed February 9, 2023

Swollen Lymph Nodes in the Groin. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21695-swollen-lymph-nodes-in-the-groin. Accessed February 9, 2023

Swollen Lymph Nodes. https://www.webmd.com/a-to-z-guides/swollen-glands. Accessed February 9, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

17/01/2024

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ต่อมน้ำเหลืองโต อาการ สาเหตุ การรักษา

ต่อมน้ำเหลืองโต อาการ เป็นอย่างไร และเกิดจากสาเหตุใด


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 17/01/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา