backup og meta

เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ BDSM

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/03/2022

    เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ BDSM

    BDSM (bondage, discipline, sadism and masochism) เป็นรสนิยมการมีเซ็กส์รูปแบบหนึ่ง ที่มีการแสดงบทบาทสมมุติก่อนมีเซ็กส์หรือระหว่างมีเซ็กส์ โดยแบ่งเป็นฝ่ายผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ เช่น ตำรวจและผู้ร้าย คุณหมอและคนไข้ เพื่อช่วยสร้างจินตนาการ เพิ่มสีสันและความเร่าร้อนของการมีเซ็กส์ และอาจช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคู่รักได้ อย่างไรก็ตาม ควรคำนึงถึงความปลอดภัยระหว่างการมีเซ็กส์ ความสมยอมของทั้งสองฝ่าย และควรป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง

    การมีเซ็กส์แบบ BDSM คืออะไร

    BDSM คือ รูปแบบการมีเซ็กส์ ที่แบ่งออกเป็นฝ่ายผู้กระทำและฝ่ายผู้ถูกกระทำ หรืออาจสลับบทบาทกัน โดยอาจมีการสวมบทบาทสมมุติ เช่น คุณหมอกับคนไข้ ตำรวจกับผู้ร้าย และอาจมีการใช้อุปกรณ์ร่วมด้วย เช่น ผ้าปิดตา โซ่ แส้ กุญแจมือ เชือก ไม้เรียว รวมถึงอาจมีการตีหรือดึงผมเบา ๆ ตามรสนิยมของแต่ละคน หากฝ่ายเป็นผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าตัวเองถูกล้ำเส้นทางร่างกายจนเกินไปก็อาจมีการใช้คำศัพท์เฉพาะ หรือเรียกว่า safe word ซึ่งเป็นคำพูดหรือสัญญาณเตือนที่คิดขึ้นเองแทนการใช้คำว่า “หยุด” “ไม่” หรือการผลักออก เพื่อให้อีกฝ่ายรับรู้ โดยไม่ทำให้หมดอารมณ์ขณะมีเซ็กส์

    BDSM เป็นตัวอักษรที่ย่อมาจาก

    • B = Bondageมีความหมายว่าการพันธนาการหรือความเป็นทาส
    • D = Discipline/Dominance คือการลงโทษ/การแสดงอำนาจหรือคนควบคุม
    • S = Sadism/Submission คือผู้ที่มีความสุขจากการทำร้ายผู้อื่น/การยอมจำนน
    • M = Masochism คือผู้ที่มีความสุขจากการถูกผู้อื่นลงโทษหรือมีความสุขจากการถูกทำให้เจ็บปวด

    ข้อดีของการมีเซ็กส์แบบ BDSM

    ข้อดีของการมีเซ็กส์แบบ BDSM มีดังนี้

    • อาจเพิ่มความสุขหรือความพึงพอใจจากการมีเซ็กส์
    • อาจช่วยเพิ่มความผูกพันระหว่างคู่รักให้มากขึ้น
    • พัฒนาด้านความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ การสื่อสารจากการสวมบทบาทสมมุติ
    • ช่วยลดความเครียดและช่วยปรับปรุงสุขภาพจิตใจ ลดความวิตกกังวล เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์อาจช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่เป็นฮอร์โมนความเครียดได้

    จากการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ตีพิมพ์ใน The Journal of Sexual Research เดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2564 ที่ได้สำรวจความพึงพอใจจากการมีเซ็กส์แบบ BDSM ในเว็บไซต์ประชากรชาวนอร์เวย์ 4,148 คน พบว่าพฤติกรรมการมีเซ็กส์แบบ BDSM นั้นพบได้ค่อนข้างบ่อย และการมีเซ็กส์แบบ BDSM อาจสามารถสร้างความใกล้ชิดระหว่างคู่รัก และให้ความพึงพอใจในการมีเซ็กส์ได้มากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีความสนใจในการสวมบทบาทแต่ไม่เคยลองทำ

    ข้อควรระวังในการมีเซ็กส์แบบ BDSM

    การมีเซ็กส์แบบ BDSM อาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บทางร่างกาย เนื่องจากการใช้อุปกรณ์ หรือการใช้ความรุนแรงตามบทบาทสมมุติ โดยเฉพาะฝ่ายถูกกระทำอาจได้รับความรุนแรงเกินกว่าเหตุ เพราะฝ่ายกระทำอาจเสพติดความรุนแรง หรือเพลิดเพลินและอินกับบทบาทของตัวละครมากเกินไป อีกทั้ง การมีเซ็กส์แบบ BDSM อาจมีความเกี่ยวข้องกับการใช้สารเสพติด และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนการมีเซ็กส์ร่วมด้วย จึงอาจทำให้ขาดสติและกระทำรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

    จากการสำรวจของสถาบันนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยในรัฐเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ตีพิมพ์ใน International Journal of Legal Medicine เดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2564 พบว่าสาเหตุของการเสียชีวิตจากการมีเซ็กส์แบบ BDSM อันดับหนึ่งคือการเสียชีวิตจากการถูกรัดคอ 88.2% ตามด้วยการเสียชีวิตจากการเสพสารเสพติด หรือดื่มแอลกอฮอล์ 64.3%

    ดังนั้น จึงควรศึกษาวิธีการมีเซ็กส์แบบ BDSM อย่างปลอดภัย รวมถึงควรเช็กอุปกรณ์ที่ใช้ว่าอันตรายหรือไม่ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ของมีคม และเชือกรัดบริเวณคอ เพราะอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บ และขาดอากาศหายใจ นอกจากนี้ ยังควรสังเกตอีกฝ่าย หากมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ควรส่งสัญญาณให้หยุดหรือออกห่างทันที

    การมีเซ็กส์อย่างปลอดภัย

    การมีเซ็กส์อย่างปลอดภัย อาจทำได้ดังนี้

  • สวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรเลือกถุงยางอนามัยที่ทำจากลาเท็กซ์หรือโพลียูรีเทน (Polyurethane) แทนน้ำยางจากธรรมชาติ เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้น้ำยางจากธรรมชาติ ที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองอวัยวะเพศ
  • หากรู้สึกอีกฝ่ายล้ำเส้นเกินขอบเขตที่ตกลงกันไว้ขณะมีเซ็กส์ อาจใช้คำ safe word เพื่อบ่งบอกให้อีกฝ่ายรู้ตัวและหยุดพฤติกรรม
  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือการมีเซ็กส์หลายคน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เพราะอาจทำให้ไม่มีสติ จนอาจไม่สามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเองได้ หรือหลงลืมการป้องกัน ทำให้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสที่อาจนำไปสู่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสเอชพีวี (HPV)
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อคัดกรองโรค
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา