ผู้ที่มีเนื้องอกมดลูกมักจะไม่มีอาการที่สังเกตได้ ส่วนใหญ่จะตรวจพบจากการเข้ารับการตรวจภายในหรืออัลตราซาวด์ประจำปี อย่างไรก็ตาม เนื้องอกมดลูก อาการ มักขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของเนื้องอก โดยอาการที่พบบ่อย คือ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดท้องน้อยรุนแรง ภาวะนี้พบได้บ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์ แม้ว่าเนื้องอกในมดลูกมักไม่พัฒนากลายเป็นมะเร็ง แต่อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่กระทบต่อสุขภาพได้ ดังนั้น จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติและทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
[embed-health-tool-ovulation]
เนื้องอกมดลูก เกิดจากอะไร
เนื้องอกมดลูก เกิดจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเจริญเติบโตผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกิดจากปัจจัยบางอย่าง ดังต่อไปนี้
- พันธุกรรม ครอบครัวที่มีประวัติเป็นเนื้องอกในมดลูกอาจมีความเสี่ยงที่บุตรหลานเป็นเนื้องอกมดลูกเพิ่มขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นอาจมีส่วนในการกระตุ้นให้เซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเจริญเติบโตมากผิดปกติ นำไปสู่การเกิดเนื้องอกมดลูก โดยเฉพาะผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดและสตรีตั้งครรภ์
นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะสุขภาพ เช่น โรคอ้วน ภาวะร่างกายขาดวิตามินดี และมีพฤติกรรมการดูแลตัวเองไม่ดี เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การไม่รับประทานผักและผลไม้ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการเป็นประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกมดลูกได้เช่นกัน
เนื้องอกมดลูก อาการ มีอะไรบ้าง
เนื้องอกมดลูก อาการ จะขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้องอก โดยอาจสังเกตได้ดังนี้
- ประจำเดือนมามาก หรือประจำเดือนมาติดต่อกันนานกว่า 1 สัปดาห์
- รู้สึกเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- ปัสสาวะบ่อย หรือท้องผูก เนื่องจากเนื้องอกไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียง
- ท้องมีขนาดใหญ่ขึ้น รู้สึกไม่สบายท้องเนื่องจากเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้น
- ปวดอุ้งเชิงกราน ปวดท้องน้อย ในกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากเนื้องอก เช่น เนื้องอกใหญ่จนทำให้ขาดเลือด ก้อนเนื้องอกมีการบิดขั้ว
หากสังเกตว่ามีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคโลหิตจางจากการสูญเสียเลือดมาก ภาวะมีบุตรยาก สำหรับสตรีตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ทารกเจริญเติบโตช้าและเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดได้
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย คือ การเข้ารับการตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอแม้ว่าจะยังไม่มีอาการผิดปกติ เพื่อสามารพบและให้การติดตามรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
การรักษาเนื้องอกมดลูก
วิธีรักษาเนื้องอกมดลูก มีดังนี้
ยา
ใช้ในการรักษาเนื้องอกในมดลูกโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยควบคุมฮอร์โมนเพศ ลดความดันในอุ้งเชิงกรานที่ส่งผลให้มีอาการปวดท้อง และช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติ ซึ่งอาจทำให้เนื้องอกหดตัวลง แต่ไม่ได้ช่วยกำจัดเนื้องอกให้หายไป ยาที่ใช้อาจมีดังต่อไปนี้
- โกนาโดโทรปิน รีลิสซิงฮอร์โมน อะโกนิสต์ (Gonadotropin Releasing Hormone Agonists: GnRH agonists) ใช้เพื่อขัดขวางการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งอาจทำให้ประจำเดือนหยุดไหลชั่วคราวและอาจช่วยให้เนื้องอกหดตัว อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้ยานี้นานเกิน 3-6 เดือน เพราะอาจทำให้เข้าสู่วัยทองก่อนกำหนดได้
- กรดทรานเอกซามิก (Tranexamic Acid) เป็นยาที่มีส่วนช่วยให้เลือดแข็งตัว ใช้เพื่อบรรเทาอาการประจำเดือนมามากกว่าปกติหรือมีอาการเลือดออกทางช่องคลอด
- ห่วงคุมกำเนิด มีฮอร์โมนโปรเจสตินที่อาจช่วยบรรเทาอาการเลือดออกจากช่องคลอด
- ยาฮอร์โมนอื่น ๆ เช่น การฉีดยาคุมกำเนิด
การผ่าตัด
เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นเนื้องอกมดลูกที่มีอาการในระดับปานกลางหรือรุนแรงและมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด เช่น เนื้องอกทำให้เกิดเลือดออกมากผิดปกติจนมีภาวะซีด ก้อนเนื้องอกกดเบียดอวัยวะอื่นก้อนเนื้องอกมดลูกมีขนาดใหญ่มากจนทำให้รู้สึกไม่สบายตัวหรือส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกจะมีหลายเทคนิค ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ ดังนี้
- การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกผ่านช่องท้อง เป็นการผ่าตัดเพื่อนำเนื้องอกมดลูกออก เหมาะสำหรับผู้ที่มีเนื้องอกจำนวนมากหรือมีเนื้องอกขนาดใหญ่
- การผ่าตัดมดลูกออกทั้งหมด อาจช่วยกำจัดเนื้องอกมดลูกและแก้ไขปัญหาประจำเดือนมามากกว่าปกติ แต่อาจทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ตลอดชีวิต หากวางแผนมีบุตรควรปรึกษาคุณหมอก่อนการรักษา
- การใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Magnetic Resonance-guided Focused Ultrasound) เป็นการรักษาด้วยการใช้คลื่นเสียงที่มีความถี่ที่ทำให้เกิดความร้อนสูง เพื่อสลายเนื้องอกมดลูกและทำลายเนื้อเยื่อ โดยใช้ร่วมกับการสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อช่วยกำหนดขอบเขตของเนื้องอกได้อย่างตรงจุด
- ผ่าตัดเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial ablation) เป็นกระบวนการผ่าตัดโดยใช้พลังงานความร้อนหรือกระแสไฟฟ้าเพื่อทำลายเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อช่วยลดการไหลของประจำเดือน เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาประจำเดือนมามากผิดปกติ
- การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกผ่านการส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดโดยการสอดกล้องขนาดเล็กผ่านช่องคลอดเข้าไปในมดลูก และใช้เครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กตัดเนื้องอกภายในมดลูกออก นอกจากนี้ ยังมีการผ่าตัดโดยการใช้หุ่นยนต์ ซึ่งเป็นกระบวนการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าและเสียเลือดน้อยกว่า แต่มีความซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง