backup og meta

เลือดออกทางช่องคลอด สีน้ำตาล เกิดจากสาเหตุใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/01/2024

    เลือดออกทางช่องคลอด สีน้ำตาล เกิดจากสาเหตุใด

    เลือดออกทางช่องคลอด สีน้ำตาล ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ มักเป็นเลือดประจำเดือนที่ยังตกค้าง มักพบในวันแรกหรือวันท้าย ๆ ของการมีประจำเดือน หรือหลังจากประจำเดือนหมดประมาณ 1-2 วัน แต่ในบางกรณีก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น การใช้ฮอร์โมนเพื่อคุมกำเนิด เลือดล้างหน้าเด็ก ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ การแท้งบุตร ทั้งนี้ หากมีอาการปวดท้อง ตกขาวผิดปกติ และช่องคลอดมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย ควรไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกวิธี

    เลือดออกทางช่องคลอด สีน้ำตาล เกิดจากอะไร

    เลือดออกทางช่องคลอด สีน้ำตาล อาจเกิดได้จากสาเหตุต่อไปนี้

    • ประจำเดือน

    ในวันแรกและวันท้าย ๆ ของการเป็นประจำเดือนหรือหลังหมดประจำเดือนไปแล้ว 1-2 วัน อาจมีเลือดประจำเดือนบางส่วนตกค้างอยู่ในช่องคลอด ซึ่งร่างกายมักจะดูดซับและย่อยสลายไปเอง แต่หากทำกิจกรรมที่มีแรงกระแทก เช่น เล่นกีฬา มีเพศสัมพันธ์หลังประจำเดือนเพิ่งหมดใหม่ ๆ ก็อาจทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอด สีน้ำตาล ได้

    • การใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด

    การใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด เช่น ยาคุมกำเนิดแบบเม็ด ห่วงคุมกำเนิดชนิดเคลือบฮอร์โมน อาจทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเสียสมดุล และทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ มีเลือดออกทางช่องคลอด สีน้ำตาล สีแดง หรือสีชมพู โดยเฉพาะหากเพิ่งเริ่มใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดเป็นครั้งแรก

    • เลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation bleeding)

    จุดเลือดหรือเลือดที่ไหลออกจากช่องคลอด ที่มีตั้งแต่สีชมพูไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม อาจเป็นสัญญาณของเลือดล้างหน้าเด็ก ซึ่งเกิดจากตัวอ่อนฝังตัวเข้ากับผนังโพรงมดลูกประมาณ 10-14 วันหลังการปฏิสนธิ โดยทั่วไป เลือดล้างหน้าเด็กจะไหลออกจากช่องคลอดในปริมาณเล็กน้อยเป็นเวลา 1-2 วัน และมักไม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย

    • วัยหมดประจำเดือน

    ในช่วงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) จะลดลงอย่างมาก นอกจากจะทำให้ช่องคลอดแห้งและมีน้ำหล่อเลี้ยงน้อยลงแล้ว ยังทำให้หลอดเลือดหดตัว ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีเลือดสีน้ำตาลไหลออกจากช่องคลอด

    เป็นภาวะที่เกิดขึ้นหลังจากผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนไม่มีประจำเดือนติดต่อกันเกิน 12 เดือนแล้ว แต่กลับมีเลือดออกจากช่องคลอด ในลักษณะกะปริบกะปรอย สีน้ำตาลหรือสีชมพู อาจเกิดจากติ่งเนื้อในโพรงมดลูก มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ ผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนทดแทน ควรไปพบคุณหมอเพื่อรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ

  • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS)
  • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของรังไข่ ทำให้การตกไข่ไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ตกไข่เลย จึงส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนขาดติดต่อกันหลายเดือน ประจำเดือนมานานกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้เลือดประจำเดือนตกค้างอยู่ในช่องคลอดนาน เมื่อไหลออกมาจึงเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล

    ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบพบได้ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ และมักถ่ายทอดมาจากพันธุกรรม สาเหตุยังไม่แน่ชัด แต่อาจเป็นผลมาจากการมีระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) หรือฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป และอาจเกิดร่วมกับภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) การรักษาทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพ เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อาจช่วยให้ฮอร์โมนสมดุลมากขึ้น และอาจรักษาด้วยการใช้ยาควบคุมฮอร์โมนและการฉีดอินซูลินตามคำแนะนำของคุณหมอ

    นอกจากนี้ อาการเลือดออกทางช่องคลอด สีน้ำตาลอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น

    • การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย โรคหนองใน โรคหนองในเทียม
    • ภาวะประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ (Hypomenorrhea)
    • ซีสต์รังไข่
    • การแท้งบุตร
    • น้ำคาวปลา (Lochia)
    • การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy)
    • ภาวะเลือดออกกลางรอบเดือนหรือในช่วงตกไข่
    • การถูกกระแทกอย่างรุนแรง
    • การออกกำลังกายหักโหม

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    หากมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และรับการรักษาอย่างเหมาะสม

    • มีเลือดออกทางช่องคลอด สีน้ำตาลติดต่อกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์
    • มีเลือดออกทางช่องคลอด สีน้ำตาลหลังจากมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้ง
    • เลือดและของเหลวที่ออกมาจากช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น
    • มีเลือดออกร่วมกับมีอาการปวดท้องหรือเป็นตะคริว
    • มีเลือดออกร่วมกับมีอาการคัน ระคายเคืองช่องคลอด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา