backup og meta

น้ำคาวปลากี่วันหมด และควรดูแลตัวเองหลังคลอดอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 07/03/2023

    น้ำคาวปลากี่วันหมด และควรดูแลตัวเองหลังคลอดอย่างไร

    น้ำคาวปลาเป็นของเหลวที่ไหลออกจากช่องคลอดหลังรกหลุดคลอดลูก ประกอบไปด้วยเลือด เศษเนื้อเยื่อมดลูก ของเหลว เช่น น้ำคร่ำ การมีน้ำคาวปลาเป็นภาวะธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอดทุกคน และคุณแม่ก็อาจต้องการทราบว่า น้ำคาวปลากี่วันหมด โดยทั่วไปแล้วน้ำคาวปลาจะไหลออกมาในวันคลอดและจะมีน้ำคาวปลาเรื่อย ๆ ประมาณ 6-8 สัปดาห์หลังคลอด โดยปริมาณน้ำคาวปลาจะค่อย ๆ ลดลงและหมดไปเอง ระหว่างนั้นคุณแม่หลังคลอดควรรักษาสุขอนามัยของตัวเองให้ดี ใส่ผ้าอนามัยแบบแผ่นเพื่อรองรับน้ำคาวปลา และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ เช่น การสวนล้างช่องคลอด การใส่ผ้าอนามัยแบบสอด

    น้ำคาวปลาคืออะไร

    น้ำคาวปลา (Lochia) คือ ของเหลวและเนื้อเยื่อที่ไหลออกมาจากโพรงมดลูกของผู้หญิงหลังคลอด พบในคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติทางช่องคลอด แต่ก็สามารถพบในผู้ที่ผ่าคลอด (C-section) ได้เช่นกัน แต่อาจมีปริมาณน้อยกว่าผู้ที่คลอดธรรมชาติ น้ำคาวปลาประกอบไปด้วยเลือด มูกปากมดลูก น้ำคร่ำ แบคทีเรีย จุลินทรีย์ เยื่อของทารกในครรภ์ เนื้อเยื่อมดลูก เป็นต้น มีกลิ่นคล้ายประจำเดือน และอาจไหลออกมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์หลังคลอด ลักษณะน้ำคาวปลาของคุณแม่หลังคลอดแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป โดยทั่วไปจะเป็นน้ำเลือดแล้วจึงเปลี่ยนไปเป็นมูกสีขาว ทั้งนี้ น้ำคาวปลาเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเป็นปกติหลังคลอดและมักไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างไรก็ตาม คุณแม่หลังคลอดควรดูแลสุขภาพให้ดี ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอและรับประทานอาหารที่ดี เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว

    ระยะของน้ำคาวปลา

    ระยะของน้ำคาวปลา อาจแบ่งได้ดังนี้

    • ระยะที่ 1 น้ำคาวปลาแดง (Lochia rubra) เกิดขึ้นประมาณ 3-4 วันหลังคลอด น้ำคาวปลาระยะนี้จะเป็นของเหลวสีเข้มหรือสีแดงสด มีปริมาณมากเหมือนประจำเดือนช่วงมามาก อาจมีก้อนเลือดปนอยู่บ้าง และอาจทำให้ปวดท้องเล็กน้อย
    • ระยะที่ 2 น้ำคาวปลาเหลืองใส (Lochia serosa) เกิดขึ้นประมาณ 4-10 วันหลังคลอด น้ำคาวปลาระยะนี้จะมีสีจางลงและค่อนข้างใส อาจเป็นสีน้ำตาลอมชมพู ปริมาณลดลงกว่าระยะแรกเล็กน้อย ในช่วงนี้จะพบก้อนเลือดน้อยลงหรือไม่มีอีกเลย
    • ระยะที่ 3 น้ำคาวปลาขาว (Lochia alba) เกิดขึ้นประมาณ 10-28 วันหลังคลอด น้ำคาวปลาระยะนี้จะเป็นน้ำสีนวลหรือสีขาว อาจไม่มีเลือดหรือก้อนเลือดปนอยู่แล้ว มีปริมาณน้อยลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่ไหลออกมาอีกเลย

    น้ำคาวปลากี่วันหมด

    ระยะเวลาในการขับน้ำคาวปลาของคุณแม่หลังคลอดแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 6 สัปดาห์ แต่บางคนอาจนานถึง 8 สัปดาห์  ในช่วงแรกจะสังเกตได้ว่าน้ำคาวปลาไหลออกมาในปริมาณมาก แต่จะค่อย ๆ เบาบางลงจนหายไปในที่สุด

    นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบางประการ เช่น ขณะหรือหลังทำกิจกรรมที่ใช้แรงเยอะหรือออกกำลังกาย ขณะให้นม หลังลุกจากเตียงนอนในตอนเช้า ก็อาจทำให้น้ำคาวปลาในแต่ละระยะถูกขับออกมาในปริมาณมากกว่าปกติได้

    วิธีดูแลตัวเองขณะมีน้ำคาวปลา

    วิธีดูแลตัวเองขณะมีน้ำคาวปลาหลังคลอด อาจมีดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพราะ อาจทำให้แบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุลจนเกิดการติดเชื้อได้
    • สวมกางเกงชั้นในและกางเกงที่สามารถเปื้อนได้จนกว่าน้ำคาวปลาจะหมดไป เพราะน้ำคาวปลาอาจเลอะเสื้อผ้าได้ง่าย
    • ใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นเพื่อรองรับน้ำคาวปลา และควรเปลี่ยนผ้าอนามัยแผ่นใหม่ทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง เพื่อลดการสะสมของเชื้อก่อโรค
    • หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดหรือการสอดอะไรเข้าไปในช่องคลอด เพราะอาจทำให้แบคทีเรียเข้าไปในช่องคลอดจนเกิดการติดเชื้อได้
    • คุณแม่หลังคลอดอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมกับน้ำคาวปลา เช่น อาการท้องผูก โรคริดสีดวงทวาร จึงควรรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช และดื่มน้ำบ่อย ๆ
    • ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้คุณแม่หลังคลอดเครียด วิตกกังวล หรือมีภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Baby blues) ที่ทำให้มีอารมณ์แปรปรวน ร้องไห้บ่อย นอนไม่หลับ นอกจากนี้ การดูแลทารกยังอาจทำให้คุณแม่เหนื่อยล้า จึงควรดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเองให้ดี พูดคุยกับคนรอบข้าง ผลัดเวรให้สามีหรือครอบครัวช่วยดูแลทารก หาเวลาว่างพักผ่อนหรือทำงานอดิเรก เช่น อาบน้ำอุ่น อ่านหนังสือ เล่นโยคะ เพื่อผ่อนคลายความเครียด

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    หากคุณแม่หลังคลอดมีอาการต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพที่ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

    • ตกขาวมีสีเขียว
    • ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็นคาวมาก ผิดไปจากช่วงที่มีประจำเดือนปกติ
    • มีเลือดออกทางช่องคลอดเยอะมาก เช่น ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยแผ่นใหม่ทุกชั่วโมง อาจเป็นสัญญาณของภาวะตกเลือดหลังคลอด (Postpartum Hemorrhage หรือ PPH)
    • มีไข้ หนาวสั่น หรือมีอาการไม่สบายคล้ายไข้หวัด
    • อวัยวะเพศบวมหรือปวดบริเวณรอบ ๆ อวัยวะเพศ
    • เป็นตะคริวรุนแรงหรือปวดบริเวณกระดูกอุ้งเชิงกราน
    • มีอาการวิงเวียนศีรษะหรือรู้สึกคล้ายจะเป็นลม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 07/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา