เลือดออกทางช่องคลอด สีแดงสด ไม่ใช่ประจําเดือน อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ผลข้างเคียงจากยาคุมกำเนิด เนื้องอกในมดลูก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์อย่างรุนแรง อีกทั้งยังอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งบางชนิด ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าวจึงควรแจ้งให้คุณหมอทราบ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและดำเนินการรักษาอย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-ovulation]
สาเหตุของเลือดออกทางช่องคลอด สีแดงสด ไม่ใช่ประจําเดือน
อาการเลือดออกทางช่องคลอด สีแดงสด แต่ไม่ใช่ประจําเดือน อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- ยาคุมกำเนิด การรับประทานยาคุมกำเนิด อาจทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอด สีแดงสด แต่ไม่ใช่ประจำเดือน เนื่องจากยาคุมกำเนิดอาจส่งผลให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น ทำให้เยื่อบุผนังมดลูกและหลอดเลือดหนาขึ้นหรือบางลง และอาจส่งผลให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด
- วัยหมดประจำเดือน อาจทำให้ระดับฮอร์โมนเพศแปรปรวน ส่งผลให้การผลิตสารหล่อลื่นในช่องคลอดลดลง นำไปสู่อาการช่องคลอดแห้ง ระคายเคืองและเลือดออกจากช่องคลอด
- การตั้งครรภ์ เมื่อตัวอ่อนฝังตัวในผนังมดลูกอาจส่งผลให้มีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อย เรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก อย่างไรก็ตาม หากสังเกตว่ามีอาการปวดท้องรุนแรง และมีเลือดไหลมาก อาจเป็นสัญญาณของการแท้งบุตรและการตั้งครรภ์นอกมดลูก ควรเข้าพบคุณหมอทันที
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในเทียม หูดหงอนไก่ เริม ที่อาจทำให้ช่องคลอดและปากมดลูกอักเสบ จนมีเลือดออกทางช่องคลอด และอาจส่งผลให้เกิดอาการรุนแรง การแพร่กระจายหรือภาวะแทรกซ้อนได้หากไม่รีบรักษา
- การมีเพศสัมพันธ์อย่างรุนแรง และการมีเพศสัมพันธ์บ่อยเกินไป อาจทำให้เกิดแผลในช่องคลอด ส่งผลให้มีเลือดออกทางช่องคลอดและอาจมีอาการเจ็บแสบขณะปัสสาวะหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์ร่วมด้วยได้
- ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) อาจเกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อที่ผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดถุงน้ำขนาดเล็กในรังไข่จำนวนมาก และอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น สิวขึ้น ประจำเดือนขาด มีขนบริเวณหน้าอก หน้าท้อง และหลัง ศีรษะล้าน มีบุตรยาก และมีเลือดออกจากช่องคลอด สีแดงสด ไม่ใช่ประจำเดือน
- มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งท่อนำไข่ ที่มักพบในผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป อาจส่งผลให้มีเลือดออกทางช่องคลอด สีแดงสด แต่ไม่ใช่ประจำเดือนได้
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เลือดออกทางช่องคลอด สีแดงสด แต่ไม่ใช่ประจำเดือน เช่น การใส่ผ้าอนามัยแบบสอดนานเกินไปโดยไม่ได้เปลี่ยนโรคตับ โรคไต เนื้องอกในมดลูก การไม่เปลี่ยนห่วงอนามัยหรือวงแหวนคุมกำเนิดตามกำหนด การแท้งบุตร ผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดมดลูก การถูกล่วงละเมิดทางเพศ โรควอนวิลลิแบรนด์ (Von Willebrand Disease) ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ และภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
อาการผิดปกติที่ควรพบคุณหมอ
อาการผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากการมีเลือดออกทางช่องคลอด สีแดงสด แต่ไม่ใช่ประจำเดือน อาจมีดังนี้
- มีเลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือนนานกว่า 7 วัน
- มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์
- ปวดท้องน้อย
- มีไข้
- วิงเวียนศีรษะ
- ผิวซีด
- เป็นลมบ่อยครั้ง
- อ่อนเพลียเหนื่อยล้า
ควรทำอย่างไร เมื่อมีเลือดออกทางช่องคลอด สีแดงสด ไม่ใช่ประจําเดือน
เมื่อมีเลือดออกทางช่องคลอด สีแดงสด ไม่ใช่ประจําเดือน ควรเข้ารับการตรวจภายในเพื่อวินิจฉัยสาเหตุของโรค โดยคุณหมออาจเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อในช่องคลอดไปตรวจ อัลตราซาวด์ภายในช่องคลอด ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทดสอบการตั้งครรภ์ ตรวจคัดกรองมะเร็ง รวมถึงอาจส่องกล้องตรวจในช่องคลอด เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดและทำการรักษาอย่างเหมาะสม
การรักษาอาการเลือดออกทางช่องคลอด สีแดงสด ไม่ใช่ประจำเดือน
การรักษาอาการเลือดออกทางช่องคลอด สีแดงสด แต่ไม่ใช่ประจำเดือน อาจทำได้ดังนี้
- สำหรับผู้ที่มีเลือดออกจากช่องคลอด สีแดงสด แต่ไม่ใช่ประจำเดือนเนื่องจากยาคุมกำเนิด คุณหมออาจให้หยุดการคุมกำเนิดแบบใช้ฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิด เพื่อปรับความสมดุลของฮอร์โมนให้กลับมาเป็นปกติ โดยอาจให้เปลี่ยนไปใช้การคุมกำเนิดด้วยการสวมถุงยางอนามัยแทน
- สำหรับผู้ที่มีเลือดออกจากช่องคลอด สีแดงสด แต่ไม่ใช่ประจำเดือนเพราะวัยหมดประจำเดือน คุณหมออาจรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เพื่อปรับความสมดุลของฮอร์โมนเพศ ช่วยบรรเทาอาการช่องคลอดแห้งและระคายเคือง ซึ่งอาจช่วยป้องกันไม่ให้มีเลือดออกทางช่องคลอดได้
- สำหรับผู้ที่มีเลือดออกทางช่องคลอดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในเทียม หนองในแท้ เริม หูดหงอนไก่ อาจรักษาตามโรคที่เป็น เช่น ยาปฏิชีวนะ ที่ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย และชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และยาต้านไวรัสที่อาจช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนและการแพร่ระบาดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- สำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์อย่างรุนแรงและมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้ง ควรงดกิจกรรมทางเพศหรือลดความถี่การมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์อย่างรุนแรง
- สำหรับผู้ที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ หากต้องการตั้งครรภ์ ควรรับประทานยาที่ทำให้ไข่ตก เช่น โคลมีฟีน ไซเตรท (Clomiphene citrate) โกนาโดโทรฟิน (Gonadotrophin) แต่หากไม่ต้องการตั้งครรภ์อาจใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อปรับฮอร์โมนให้สมดุล นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายเป็นประจำและรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพร่วมด้วย
- สำหรับผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง ทั้งมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งช่องคลอด และมะเร็งรังไข่ อาจรักษาโดยการฉายรังสี ทำเคมีบำบัด ผ่าตัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง หรืออาจใช้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อช่วยต่อสู้กับโรคมะเร็ง