backup og meta

แปลงเพศ จากชายเป็นหญิง ขั้นตอนและความเสี่ยง

แปลงเพศ จากชายเป็นหญิง ขั้นตอนและความเสี่ยง

แปลงเพศ จากชายเป็นหญิง เป็นการเปลี่ยนแปลงเพศสภาพจากชายไปสู่หญิง โดยมักใช้วิธี ผ่าตัดอวัยวะเพศ รวมทั้งการใช้ฮอร์โมนเพศหญิงเพื่อปรับสภาพร่างกายร่วมด้วย ทั้งนี้ การแปลงเพศไม่สามารถทำให้ ผู้ที่ได้รับการแปลงเพศกลายเป็นเพศตรงข้ามได้ 100 เปอร์เซ็นต์  และยังมีความเสี่ยงที่ควรระวัง เช่น ผลข้างเคียง จากการใช้ฮอร์โมนในระยะยาว ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด และการดูแลตัวเองหลังการผ่าตัด

ขั้นตอนการผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิง

การแปลงเพศมีขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่ละบุคคลอาจจะได้รับการวินิจฉัยและวางแผนการแปลงเพศที่แตกต่างกันออกไป โดยปกติการแปลงเพศจากชายไปเป็นหญิงมีขั้นตอน ดังนี้

1. ก่อนผ่าตัดและการคัดกรองโรค

เมื่อบุคคลแสดงความประสงค์จะแปลงเพศกับสถานพยาบาลแห่งใดแห่งใดหนึ่ง มักถูกซักประวัติเป็นอันดับแรก เพื่อตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะแปลงเพศ โดยเกณฑ์พิจารณาหลัก ๆ มีดังนี้

  • อายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ (ในกรณีอายุ 18 ปีหรือยังไม่ถึง 20 ปี จำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง)
  • ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความทุกข์ใจในเพศสภาพ (Gender dysphoria) ซึ่งเป็นความไม่พอใจที่เพศวิถีของตัวเองไม่ตรงกับเพศโดยกำเนิด
  • รู้ตัวว่าอยากเป็นผู้หญิงมานานแล้ว หรือใช้ชีวิตในฐานะผู้หญิงข้ามเพศมาเกิน 1 ปี
  • มีใบรับรองจากจิตแพทย์อย่างน้อย 2 คน
  • ใช้ฮอร์โมนเพศหญิงมานานเกิน 1 ปี

นอกจากนี้ ยังต้องเข้ารับการตรวจโรคเพื่อยืนยันว่าร่างกายเหมาะสมสำหรับการผ่าตัด โดยโรคหรือภาวะผิดปกติต่าง ๆ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจและการวินิจฉัยของคุณหมอ เช่น

  • โรคมะเร็ง
  • โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • โรคไตชนิดรุนแรง
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • โรคไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบหรือผนังหน้าท้อง
  • ภาวะอัณฑะค้างอยู่ในช่องท้อง
  • ภาวะหนังหุ้มปลายองคชาตตีบ
  • โรคจิตเภท

ในกรณีที่คุณหมออนุญาตให้ผ่าตัดแปลงเพศได้ จำเป็นต้องหยุดการใช้ฮอร์โมนอย่างน้อย 1 เดือนก่อนผ่าตัดเพราะอาจทำให้ลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำขณะผ่าตัดได้ และงดสูบบุหรี่ก่อนผ่าตัด เพราะบุหรี่อาจทำให้แผลหายช้า เนื่องจากนิโคตินในบุหรี่ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงผิวหนังหดตัวและผิวหนังขาดออกซิเจน

2. กระบวนการผ่าตัดแปลงเพศ

การแปลงเพศจากชายไปเป็นหญิงจำเป็นต้องสร้างช่องคลอดเทียมเพื่อใช้ร่วมเพศหรือปัสสาวะ การปรับแนวท่อปัสสาวะให้ไหลลงด้านล่าง และการสร้างจุดสัมผัสทางเพศหรือคลิตอริส โดยปกติการผ่าตัดใช้เวลาราว 4-6 ชั่วโมง เริ่มต้นโดยให้คนไข้ดมยาสลบและให้ยาชาผ่านกระดูกสันหลัง โดยวิธีแปลงเพศที่พบทั่วไป คือการผ่าตัดสร้างช่องคลอดจากผิวหนังองคชาต โดยมีขั้นตอนดังนี้

  • คุณหมอจะสร้างช่องคลอดใหม่ โดยกรีดผิวหนังระหว่างถุงอัณฑะกับทวารหนัก
  • คุณหมอจะเลาะช่วงล่างคนไข้เป็นโพรง เข้าไปจนใกล้กับเยื่อบุช่องท้อง
  • คุณหมอจะดันผิวหนังองคชาตเข้าไปในช่องคลอดที่เลาะไว้ ทั้งนี้ ในกรณีหนังองคชาตไม่พอ  เนื่องจากช่องคลอดลึก คุณหมออาจใช้ผิวหนังจากส่วนอื่นร่วมด้วย เช่น ถุงอัณฑะ หน้าท้อง ขาหนีบ
  • คุณหมอเย็บปิดผิวหนังโดยรอบ
  • คุณหมอจะเจาะรูปัสสาวะ และตกแต่ง ส่วนที่ผ่าตัดให้เหมือนของผู้หญิง คือมีคลิตอริส แคมนอก แคมใน โดยเส้นประสาทเพื่อรับความรู้สึกจะถูกเก็บไว้บริเวณคลิตอริส แคมใน และรอบ ๆ ท่อปัสสาวะ
  • เพื่อไม่ให้ช่องคลอดตีบ หลังผ่าตัดเสร็จ คุณหมออาจสอดผ้าก๊อซไว้ข้างใน
  1. การดูแลตัวเองหลังผ่าตัด

เมื่อการผ่าตัดแปลงเพศเสร็จแล้ว คุณหมอจะแนะนำวิธีการดูแลตัวเอง ดังนี้

  • พักรักษาตัวที่สถานพยาบาล ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศจะพักอยู่ที่สถานพยาบาลเป็นเวลาประมาณ 4-6 วัน ตามข้อกำหนดของแต่ละแห่ง ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคนไข้
  • งดรับประทานอาหารซึ่งทำให้เกิดการขับถ่าย ในช่วง 2-3 วันแรก เช่น ผัก ผลไม้ นมเปรี้ยว เพื่อลดโอกาสขับถ่าย เนื่องจากแผลอาจปนเปื้อนอุจจาระและติดเชื้อได้
  • ขยายช่องคลอด หรือการแยงโม (Vaginal Dilation ) ด้วยแท่งขยายช่องคลอดเพื่อไม่ให้ช่องคลอดตีบตัน โดยในปีแรกจำเป็นต้องทำทุกวัน
  • ไม่นั่งยอง ๆ จนกว่าแผลผ่าตัดจะหายสนิท เนื่องจากกอาจทำให้แผลปริแยกได้ โดยแผลจะหายสนิทภายในประมาณ 2 เดือน
  • ทำความสะอาดแผลทุกวัน จนกว่าแผลภายนอกร่างกายและภายในช่องคลอดจะหายดี
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย เช่น ปั่นจักรยานหรือวิ่งจ๊อกกิ้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
  • ควรรีบไปพบคุณหมอ เมื่อพบอาการผิดปกติอย่าง ปัสสาวะแสบ ช่องคลอดหด แผลปริ
  • รับประทานฮอร์โมนสม่ำเสมอ เพื่อคงลักษณะความเป็นหญิง โดยหญิงข้ามเพศอาจรับประทานฮอร์โมนต่อได้หลังจากผ่าตัดไปแล้ว 1 เดือน

ความเสี่ยงของการแปลงเพศผู้ที่ต้องการผ่าตัดแปลงเพศจำเป็นต้องยอมรับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ ทั้งโรคแทรกซ้อนหรือภาวะสุขภาพอื่น ๆ โดยเฉพาะระหว่างหรือหลังผ่าตัดแปลงเพศ รวมทั้งผลข้างเคียงจากการใช้ยาฮอร์โมน

ความเสี่ยงจากการผ่าตัดแปลงเพศ

ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ อาจพบความเสี่ยง ดังนี้

  • แผลผ่าตัดแยก โดยเฉพาะหากมีการออกกำลังกายหรือขยับตัวอย่างรวดเร็ว ในช่วงแรกอาจจำเป็นต้องค่อย ๆ เดิน ไม่ยกของหนัก หรือเคลื่อนไหวร่างกายช้า ๆ
  • ความเสียหายต่อระบบประสาท เนื่องจากการผ่าตัด เช่น ภาวะความรู้สึกน้อยเกิน (Hypoesthesia) หรือการมีความรู้สึกน้อยลงหรือด้านชา ณ ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เมื่อถูกสัมผัสหรือได้รับแรงสั่นสะเทือน
  • แผลสมานตัวช้า
  • การติดเชื้อต่าง ๆ อันเป็นความเสี่ยงโดยทั่วไปของการผ่าตัดทุกประเภท
  • ท่อปัสสาวะตีบหรืออุดตัน
  • เลือดคั่งใต้แผลผ่าตัด
  • ช่องคลอดตีบ โดยมักเกิดในกรณีไม่ใช้แท่งขยายช่องคลอดอย่างสม่ำเสมอ

ความเสี่ยงจากการใช้ฮอร์โมน

ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดแปลงเพศ คนไข้จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนเพศหญิงหรือฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อปรับลักษณะทางกายภาพให้เข้ากับเพศสภาพ ไม่ว่าจะเป็นการมีเสียงแหลมสูง การเพิ่มขนาดเต้านม การลดปริมาณขนบนร่างกาย ทั้งนี้ อาจส่งผลกระทบให้เกิดผลข้างเคียงหรือโรคแทรกซ้อนได้หากใช้ฮอร์โมนในระยะยาว ดังนี้

  • ความดันเลือดต่ำหรือสูง
  • โรคหัวใจ
  • โรคมะเร็ง
  • การทำงานของตับผิดปกติ
  • หลอดเลือดดำอุดตัน
  • ฮีโมโกลบินที่เพิ่มขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Changing Genders: How It’s Done. https://www.webmd.com/sex/news/20150422/transgender-homomes-surgery.

MTF ข้อมูลเชิงลึกแปลงเพศ. https://th.yanhee.net/%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%96%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3/mtf-%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A8/#list1.

LGBTQ Health. https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?contenttypeid=134&contentid=116.

ผ่าตัดแปลงเพศชายเป็นหญิง (MTF Sex Reassignment Surgery). https://www.kamolhospital.com/service/MTF-sex-reassignment/.

เมื่อใจไม่ตรงกับเพศจะทำอย่างไร. https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=720.

การผ่าตัดแปลงเพศ. https://www.vibhavadi.com/Health-expert/byDoctors/detail/586.

เวอร์ชันปัจจุบัน

04/02/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ฮอร์โมนเพศ คืออะไรและความสำคัญ

วัยรุ่น LGBTQ เพศที่สาม ทำร้ายตัวเอง ความเสี่ยงที่ป้องกันได้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/02/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา