หูดหงอนไก่เป็นโรคที่ไม่อันตราย อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดและรู้สึกคันได้ เมื่อเกิดหูดหงอนไก่จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา โดยจะได้ ยาทาหูดหงอนไก่ ร่วมกับการรักษาอื่น ๆ
[embed-health-tool-ovulation]
หูดหงอนไก่ คืออะไร
หูดหงอนไก่ (Genital warts) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส ที่ชื่อว่า (Human Papillomavirus) หรือที่รู้จักในชื่อว่า เชื้อ HPV ลักษณะของเป็นหูดหงอนไก่จะเป็นติ่งเนื้ออ่อน สีชมพู คล้ายกับหงอนไก่ โดยเริ่มจากรอยโรคเล็ก ๆ ก่อนจะขยายตัวเป็นติ่งเนื้อขรุขระคล้ายหงอนไก่ แต่บางครั้งพบเป็นลักษณะแบนราบ ผิวขรุขระ หรือบางชนิดมีขนาดใหญ่มากและผิวขรุขระคล้ายดอกกะหล่ำ
- ผู้ชายมักพบที่ใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ เส้นสองสลึง อาจพบบริเวณรอบทวารหนัก โดยเฉพาะผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- ผู้หญิงพบได้ที่ปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก และฝีเย็บหูด โดยจะเริ่มจากขนาดเล็กและโตขึ้นเรื่อย ๆ ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์อาจทำให้หูดหงอนไก่โตเร็วกว่าปกติ และต้องระวังทารกอาจติดเชื้อจากแม่
ผู้ที่เป็นโรคหูดหงอนไก่ มีโอกาสติดเชื้อกามโรคอื่นร่วมด้วย เช่น ซิฟิลิส หนองใน พยาธิในช่องคลอด โดยการติดเชื้อเหล่านี้ จะทำให้ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะแสบ มีตกขาว คัน หรือมีแผลที่อวัยวะเพศเพิ่มขึ้น
การติดต่อของเชื้อ HPV
เชื้อ HPV ทำให้เกิดโรคได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เด็กมักมีอาการที่ฝ่ามือฝ่าเท้า ผู้ใหญ่จะพบเชื้อได้ช่วงอายุ 16-25 ปี โดยเชื้อจะอยู่ในบริเวณที่อับชื้นจึงเกิดรอยโรคที่อวัยวะสืบพันธุ์ โดยการติดต่อของโรค ได้แก่
- ติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ ประมาณ 50 -70 % ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
- ติดต่อจากแม่ไปสู่ลูก กรณีทารกคลอดผ่านช่องคลอด ด้วยการคลอดธรรมชาติ แต่จะพบได้จำนวนน้อย
ระยะฟักตัวของโรคหูดหงอนไก่ ประมาณ 3 สัปดาห์ถึง 8 เดือน โดยผู้ที่สัมผัสเชื้อนี้ไม่ได้ติดโรคทุกราย ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ภาวะภูมิคุ้มกันและจำนวนเชื้อที่ได้รับ
วิธีรักษาหูดหงอนไก่
แพทย์จะใช้ดุลพินิจของแพทย์ ประกอบกับเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา พิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่น เช่น อาการของโรค ตำแหน่งที่เป็น ผู้ป่วยตั้งครรภ์หรือไม่ โดยมีวิธีรักษาดังนี้
- ยาทาหูดหงอนไก่ : แพทย์จะใช้ยาทาหูดหงอนไก่ ทาในบริเวณที่เป็นหูด ยาโพโดฟิลลิน (Podophyllin) หรือตัวยา 5% อิมิควิโมดครีม (5% Imiquimod Cream) ช่วยลดปริมาณไวรัสทำให้หูดหายไป ลดอัตราการกลับเป็นซ้ำ การใช้ยาทาหูดหงอนไก่ สะดวกกับผู้ป่วยอย่างมาก เพราะสามารถนำกลับไปทาเองที่บ้านได้
- จี้ด้วยสารเคมี : ใช้ 80% กรดไตรคลอโรอะเซติค (Trichloroacetic Acid) จี้บริเวณที่เป็นหูดโดยบุคลากรทางการแพทย์ หลังจากจี้ยา 1 ชั่วโมง ไม่ควรโดนน้ำ โดยทำการรักษาสัปดาห์ละครั้ง ติดต่อกันจนหาย หากเกิน 6 ครั้งแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่น
- รักษาหูดหงอนไก่ด้วยการผ่าตัด เช่น ตัดออกด้วยไฟฟ้า ตัดออกโดยใช้ความเย็นจัด ผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์สำหรับหูดขนาดใหญ่
ผู้ที่เป็นโรคหูดหงอนไก่ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโรค อาจใช้เพียงยาทาหูดหงอนไก่ หรือรักษาด้วยการผ่าตัดตามดุลพินิจของแพทย์ แต่ควรปรึกษาแพทย์ให้เร็ว ก่อนที่หูดจะลุกลามต่อไป