backup og meta

Chancroid คือ อะไร เป็นอันตรายหรือไม่ หายเองได้ไหม

Chancroid คือ อะไร เป็นอันตรายหรือไม่ หายเองได้ไหม

Chancroid คือ โรคแผลริมอ่อน ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีตุ่มแดงหรือตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ เมื่อสัมผัสแล้วทำให้รู้สึกเจ็บหรือแสบร้อน เมื่อตุ่มที่เป็นหนองแตกออกจะกลายเป็นแผลเปื่อยภายใน 1-2 วันร่วมกับอาการต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณขาหนีบ ซึ่งหมายความว่าร่างกายกำลังต่อสู้กับแบคทีเรียและเป็นสัญญาณว่ามีการติดเชื้อ

[embed-health-tool-bmi]

Chancroid คือ อะไร

Chancroid คือโรคแผลริมอ่อน เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียฮีโมฟิลุสดูเครย์ (Haemophilus ducreyi) ซึ่งติดต่อทางคนสู่คนได้ 2 วิธี ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีแผลเปื่อยและการสัมผัสกับหนองหรือแผลเปื่อยของผู้ป่วยโดยตรง แผลเปื่อยมักเกิดขึ้นบริเวณหนังหุ้มปลายองคชาต ร่องหลังหัวองคชาต ลำองคชาต หัวองคชาต รวมไปถึงถุงอัณฑะ และอาจเกิดแผลเปื่อยขึ้นบริเวณแคมใน ฝีเย็บ ต้นขาด้านในของผู้หญิง

โดยทั่วไป โรคนี้มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และส่วนใหญ่แล้วผู้หญิงที่ติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มักไม่มีอาการ หรือมีแผลภายในช่องคลอดเท่านั้น อาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองให้สังเกตเห็นบ้าง

แม้ว่า Chancroid รักษาได้ง่าย แต่เชื้อก็แพร่กระจายได้ง่ายมากเช่นกัน จึงควรรักษาให้หายตั้งแต่เนิ่น ๆ และงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะหาย เพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายไปยังผู้อื่น

อาการของ Chancroid

ตามปกติ จะเริ่มมีอาการภายใน 4-10 วัน หลังสัมผัสเชื้อแบคทีเรีย อาการที่พบได้บ่อย มักมีดังนี้

  • เกิดตุ่มเล็ก ๆ ที่มีขอบนูนชัดเจนบริเวณอวัยวะเพศ
  • ตุ่มเปลี่ยนเป็นแผลเปื่อยภายใน 1-2 วัน
  • แผลเปื่อยขยายใหญ่ แตกออกเป็นแผลหนอง
  • เจ็บและแสบร้อนบริเวณอวัยวะเพศ
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบบวม และการอักเสบของต่อมน้ำเหลืองอาจทำให้เกิดฝีที่ขาหนีบได้
  • ปวดแผลบริเวณอวัยวะเพศขณะปัสสาวะและมีเพศสัมพันธ์

วิธีรักษา Chancroid

วิธีรักษา Chancroid ทำได้ด้วยการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) ซิโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) อย่างไรก็ตาม ซิโปรฟลอกซาซิน ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

โดยทั่วไป อาการมักดีขึ้นหลังใช้ยาปฏิชีวนะไปแล้วประมาณ 3-4 วัน ทั้งนี้ ระยะฟื้นตัวอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค บริเวณที่เป็นแผล และระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละบุคคล

ในกรณีที่แผลเปื่อยกลับมาเป็นซ้ำหรือแผลหายช้ากว่า 7 วัน อาจเกิดจากเชื้อดื้อยา หรือมีภาวะสุขภาพอื่น ๆ ที่ควรได้รับการวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และหากฝียังไม่ยุบตัวคุณหมออาจต้องเจาะฝีด้วยเข็มเพื่อระบายหนองออก

วิธีป้องกัน Chancroid ทำได้อย่างไรบ้าง

การป้องกัน Chancroid คือควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์หรือเมื่อใช้เซ็กส์ทอย และเมื่อใช้งานเกิน 30 นาทีควรเปลี่ยนเป็นชิ้นใหม่ ซึ่งนอกจากจะป้องกันการตั้งครรภ์ และลดความเสี่ยงโรค Chancroid แล้วยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ด้วย เช่น โรคซิฟิลิส โรคหนองในเทียม การติดเชื้อเอชไอวี (HIV)

นอกจากนี้ ควรตรวจหาเชื้อเป็นประจำเพื่อคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงสูง เช่น เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก ทั้งนี้ หากมีการติดเชื้อและได้รับการรักษาจนหายแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Chancroid (Soft Chancre). https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/22444-chancroid-soft-chancre. Accessed May 24, 2023

Chancroid. https://www.cdc.gov/std/treatment-guidelines/chancroid.htm. Accessed May 24, 2023

Chancroid. https://dermnetnz.org/topics/chancroid. Accessed May 24, 2023

What Is Chancroid?. https://www.webmd.com/sexual-conditions/what-is-chancroid. Accessed May 24, 2023

Chancroid. https://medlineplus.gov/ency/article/000635.htm. Accessed May 24, 2023

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

13/07/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

แผลริมอ่อน สาเหตุ อาการ การรักษา

โรคแผลริมอ่อน อาการ การรักษา และการป้องกัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 13/07/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา