Epididymis คือ หลอดเก็บอสุจิ ซึ่งเป็นอวัยวะหนึ่งในระบบสืบพันธุ์ที่ขดทบไปมาอยู่หลังอัณฑะ ทำหน้าที่เก็บอสุจิหรือลำเลียงอสุจิที่ผลิตจากอัณฑะ เพื่อเตรียมตัวนำส่งออกเมื่อถึงจุดสุดยอด เมื่อผสมกับไข่ของผู้หญิงก็จะเกิดเกิดการปฏิสนธิ หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ถุงอัณฑะบวมแดง ควรเข้ารับการวินิจฉัยและรับการรักษาจากคุณหมอ
[embed-health-tool-ovulation]
หน้าที่ของ Epididymis คือ อะไร
Epididymis หรือ หลอดเก็บอสุจิ มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กขดอยู่บริเวณด้านบนของอัณฑะ มีหน้าที่เก็บอสุจิที่ผลิตจากอัณฑะ โดยระหว่างที่อสุจิเคลื่อนที่จากอัณฑะที่เป็นแหล่งผลิตตัวอสุจิไปยังปลายอวัยวะเพศชายทำให้อสุจิมีการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ โดยกล้ามเนื้อเรียบที่ล้อมรอบหลอดเก็บอสุจิจะบีบตัวเพื่อช่วยให้อสุจิสามารถเคลื่อนที่ออกจากหลอดเก็บอสุจิได้ง่าย
ความเสี่ยงที่อาจทำให้ Epididymis ผิดปกติ
Epididymis เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ที่ควรได้รับการดูแลเหมือนอวัยวะส่วนอื่น ๆ เพราะหากขาดการรักษาสุขอนามัยที่ดี เช่น ไม่สวมถุงยางอนามัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ ไม่รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ ไม่เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อคัดกรองโรค ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงให้หลอดเก็บอสุจิเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียจากทางเดินปัสสาวะหรือติดเชื้อไวรัสจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเก็บอสุจิอักเสบได้
นอกจากนี้ การประสบอุบัติเหตุบริเวณขาหนีบ การติดเชื้อวัณโรค ก็อาจส่งผลให้หลอดเก็บอสุจิอักเสบ นำไปสู่การเกิดหนอง ฝีในถุงอัณฑะ ถุงอัณฑะอักเสบ และภาวะมีบุตรยาก
อาการผิดปกติของ Epididymis
อาการผิดปกติของ Epididymis ที่ควรสังเกต มีดังนี้
- ถุงอัณฑะบวมแดง
- เจ็บปวดลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง
- ปัสสาวะลำบากและอาจปัสสาวะเป็นเลือด
- ปัสสาวะบ่อย ปวดปัสสาวะกะทันหัน
- มีเลือดปนกับน้ำอสุจิ
- มีของเหลวสีเหลืองหรือสีเขียวไหลออกจากองคชาต
- ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณขาหนีบ
การวินิจฉัยความผิดปกติของ Epididymis
หากมีอาการปวดอัณฑะอย่างรุนแรง มีของเหลวผิดปกติไหลออกจากองคชาต และรู้สึกเจ็บปวดขณะปัสสาวะ โดยเฉพาะหากมีอาการนานกว่า 6 สัปดาห์ หรือเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ควรรับการวินิจฉัยจากคุณหมอทันที โดยอาจใช้วิธีดังนี้
- การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คุณหมออาจเก็บตัวอย่างของเหลวจากท่อปัสสาวะ เพื่อตรวจดูว่าเป็นโรคหนองในทียม หนองในแท้ หรือมีการติดเชื้ออื่น ๆ หรือไม่
- การตรวจปัสสาวะและเลือด คุณหมออาจเก็บตัวอย่างปัสสาวะและเลือด นำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อหาความผิดปกติ
- อัลตราซาวด์ ใช้เพื่อตรวจการไหลเวียนของเลือดไปยังอัณฑะว่าต่ำกว่าเกณฑ์หรือไม่ และใช้เพื่อตรวจหาความผิดปกติบริเวณ Epididymis
หากคุณหมอวินิจฉัยว่าหลอดเก็บอสุจิอักเสบหรือมีอาการผิดปกติ อาจทำการรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือให้ยาต้านไวรัสเพื่อรักษาการติดเชื้อไวรัสจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาการอาจดีขึ้นภายใน 48-72 ชั่วโมง สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือมีฝีและหนองร่วมด้วย คุณหมออาจแนะนำให้ผ่าตัด
การดูแล Epididymis ควรทำอย่างไร
การดูแล Epididymis เพื่อป้องกันภาวะหลอดเก็บอสุจิอักเสบและความผิดปกติอื่น ๆ อาจทำได้ด้วยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่อาจส่งผลให้หลอดเก็บอสุจิอักเสบ