ตัดเล็บ เป็นหนึ่งในกิจวัตรที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะไม่ใช่แค่ให้เล็บดูดี แต่เพื่อป้องกันการสะสมของสิ่งสกปรกและเชื้อโรคในเล็บ อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ประเทศอังกฤษ ที่ได้ให้ข้อมูลว่า การตัดเล็บมือและเล็บเท้าบ่อยเกินไป อาจทำให้เล็บมีปัญหา ทั้งยังอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเล็บ จนเกิดโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเล็บตามมา
ตัดเล็บ บ่อยเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ
การตัดเล็บทุกวัน ทั้งเล็บมือและเล็บเท้า เพื่อให้เล็บดูดี อาจนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพเล็บ เนื่องจากการตัดเล็บแบบไม่ถูกวิธีเป็นประจำอาจปรับสมดุลของการเจริญเติบโตของเล็บได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเครียดทางกายภาพ (Physical Stress) ต่อเล็บ และเมื่อเวลาผ่านไป อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเล็บ จนเกิดโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเล็บตามมา นอกจากนี้ ควรตัดเล็บให้ถูกวิธี และตัดเล็บอย่างง่าย เช่น ตัดให้เป็นทรงโค้ง ทรงเหลี่ยม เพื่อลดความเครียดในการเจริญเติบโตของเล็บ
นอกจากการตัดเล็บแล้ว เล็บยังสามารถบ่งบอกปัญหาสุขภาพได้ โดยหากสังเกตเห็นว่าเล็บเปลี่ยนไป เช่น สีเปลี่ยน รูปร่างเปลี่ยน ผิวสัมผัสเปลี่ยนไป ควรปรึกษาคุณหมอ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเล็บ อาจเป็นสัญญาณของโรคบางอย่าง เช่น โรคมะเร็งผิวหนัง โรคเชื้อราที่เล็บ
วิธีตัดเล็บที่ถูกต้อง
การตัดเล็บด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม ตามคำแนะนำของแพทย์ผิวหนังอาจมีดังต่อไปนี้
- ทำให้เล็บนุ่ม เวลาที่ดีที่สุดที่ควรตัดเล็บ คือ ตัดเล็บทันทีหลังอาบน้ำ แต่หากไม่สามารถทำได้ อาจแช่เล็บในน้ำอุ่นเป็นเวลา 1-2 นาทีเพื่อให้เล็บนุ่มขึ้น
- ใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม ใช้ที่ตัดเล็บหรือกรรไกรตัดเล็บ โดยอาจใช้กรรไกรตัดเล็บมือกับตัดเล็บเท้าแยกกัน ที่สำคัญ คือ ควรทำความสะอาดฆ่าเชื้อที่ตัดเล็บเป็นประจำทุกเดือน โดยวิธีทำความสะอาด คือ ใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาด และใช้แปรงขัดที่ตัดเล็บ จากนั้นล้างในน้ำร้อน และเช็ดให้แห้ง
- เวลาตัดเล็บ ควรตัดแนวตรง ควรตัดเล็บเป็นแนวตรงหรือทรงสี่เหลี่ยม และอาจตะไบขอบเล็บเล็กน้อย เพื่อป้องกันการข่วนผิวหนัง เสื้อผ้า หรือเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน
- ป้องกันการเกิดเล็บขบ ด้วยการตัดเล็บแนวตรงแทนแนวโค้ง ปกติแล้วเล็บเท้าจะงอกช้ากว่าเล็บมือ ดังนั้น อาจไม่จำเป็นต้องตัดเล็บเท้าบ่อย และเวลาตัดควรตัดเป็นแนวตรง เพื่อป้องกันเล็บขบ
- ใช้ตะไบเล็บ ควรตะไบเล็บหลังตัดเล็บ เพื่อไม่ให้ผิวเล็บขรุขระ นอกจากนี้ ควรตะไบเล็บไปในทางเดียว เพราะการตะไบไปมาอาจทำให้เล็บอ่อนแอ
- ไม่ควรตัดหนังกำพร้า หนังกำพร้าจะช่วยป้องกันเล็บ ดังนั้น จึงไม่ควรตัดหนังกำพร้าออก นอกจากนี้เวลาที่ตัดหนังออกอาจทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคอื่น ๆ
- ใช้มอยส์เจอไรเซอร์บำรุงเล็บ การเพิ่มความชุ่มชื้นให้เล็บด้วยผลิตภัณฑ์บำรุงเล็บ อาจช่วยให้เล็บไม่แห้งและฉีกขาดง่าย
วิธีป้องกันการติดเชื้อในเล็บ
นอกจากวิธีดูแลและทำความสะอาดเล็บแล้วอาจมีวิธีป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ ในเล็บ ดังนี้
- อาจตัดเล็บเป็นประจำ ไม่ควรปล่อยให้เล็บยาวจนเกินไป
- อาจทำความสะอาดซอกเล็บทุกครั้ง เวลาล้างมือ
- อาจทำความสะอาดอุปกรณ์ทำเล็บทุกครั้ง ก่อนนำมาใช้
- หลีกเลี่ยงการกัดเล็บ
- หลีกเลี่ยงการตัดหนัง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการฉีกหรือกัดหนังที่ลอกออกมาจากบริเวณเล็บ โดยให้ตัดหนังที่ลอกออกมาแล้ว และทำความสะอาด