ภาวะปลายเล็บร่น เป็นอาการที่เล็บแยกออกจากผิวหนังซึ่งไม่ได้ทำให้รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด แต่มักเป็นสัญญาณของโรคผิวหนัง หรือการติดเชื้อที่ควรจะต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อที่ร้ายแรง หรือทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้
[embed-health-tool-bmr]
ภาวะปลายเล็บร่น คืออะไร
ภาวะปลายเล็บร่น (Onycholysis) คือ อาการของโรคผิวหนังอย่างหนึ่ง โดยมีลักษณะของเล็บที่แยกออกจากผิวหนังที่อยู่ข้างใต้ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย และอาจเป็นสัญญาณของโรคผิวหนัง การติดเชื้อ หรือการบาดเจ็บ มักพบในผู้หญิงที่มีเล็บยาว และพบได้ทั้งเล็บมือและเล็บเท้า
ภาวะปลายเล็บร่นนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเป็นอยู่นานหลายเดือน เนื่องจากเล็บมือหรือเล็บเท้าจะไม่ติดกลับไปที่ผิวหนังใต้เล็บ ต้องรอให้เล็บใหม่งอกขึ้นมาทดแทนเล็บเก่าก่อน โดยปกติแล้วเล็บมือจะใช้เวลา 4-6 เดือนในการงอกใหม่อย่างเต็มที่ ส่วนเล็บเท้าอาจจะใช้เวลา 8-12 เดือน
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะปลายเล็บร่น
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะปลายเล็บร่นนั้น หากเป็นเล็บเท้า มักเกิดจากการสวมรองเท้าที่คับจนเกินไป จนมีอาการบาดเจ็บได้ นอกจากนั้นอาจเป็นผลจากการแพ้ผลิตภัณฑ์บางอย่าง เช่น น้ำยาล้างเล็บ เล็บเคมี เล็บปลอม รวมไปถึงอาจจะเป็นอาการของเชื้อราที่เล็บ หรือโรคสะเก็ดเงิน ส่วนสาเหตุนอกเหนือจากนี้ที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ การบาดเจ็บ การเคาะเล็บซ้ำ ๆ การตีกลอง
นอกจากนั้น ภาวะปลายเล็บร่นเป็นสัญญาณแรกที่ที่อาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อรา หรือโรคต่อมไทรอยด์ รวมทั้งการที่ร่างกายได้รับวิตามินหรือแร่ธาตุที่จำเป็นไม่เพียงพออีกด้วย
วิธีการรักษาภาวะปลายเล็บร่นด้วยตัวเอง
เมื่อเกิดภาวะปลายเล็บร่น อาจดูแลตัวเองในเบื้องต้นดังนี้
- ควรหมั่นตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ
- พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จำเป็นต้องใช้เล็บหรือปลายนิ้วมือ
- หลีกเลี่ยงการให้เล็บโดนสารเคมีหรือสารที่ก่อการระคายเคือง เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า ควรสวมถุงมือหากต้องสัมผัสกับน้ำยาเหล่านั้น
- หลีกเลี่ยงการใช้วัตถุแหย่เข้าไปเพื่อทำความสะอาดใต้เล็บ เพราะอาจทำให้ภาวะปลายเล็บร่นนั้นแย่ลงได้ เนื่องจากการผลักแบคทีเรียให้ลึกลงไปใต้เล็บ
- ใช้ ทีทรีออยล์สามารถช่วยรักษาเชื้อราและการติดเชื้อยีสต์ที่เกิดขึ้นใต้เล็บได้ โดยผสมทีทรีออยล์ให้เจือจางด้วยน้ำมันตัวพา เช่น โจโจ้บาออยล์ หรือ น้ำมันมะพร้าว อาจช่วยกำจัดเชื้อราได้ แต่เล็บควรต้องแห้งสนิทเมื่อใช้นัำมันเข้าไปรักษาภาวะปลายเล็บร่น
อย่างไรก็ตาม หากพยายามรักษาภาวะปลายเล็บร่นด้วยตนเองแล้วพบว่าอาการไม่ทุเลาลง หรืออาการแย่ลง ควรเข้าพบคุณหมอ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัย และการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป