ผมร่วง คือหนึ่งในปัญหาสุขภาพหนังศีรษะและเส้นผม ที่อาจเกิดจากการสืบทอดทางพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ผลข้างเคียงของยา และความเครียด ที่อาจส่งผลให้เส้นผมหลุดร่วง และอาจเสี่ยงต่อปัญหาศีรษะล้าน ดังนั้น ควรศึกษา วิธีแก้ผมร่วง หรืออาจเข้ารับการรักษาจากคุณหมอโดยตรง เพื่อฟื้นฟูสุขภาพเส้นผมและหนังศีรษะให้กลับมาแข็งแรง
ผมร่วงเกิดจากอะไร
ผมร่วงอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- พันธุกรรมของคนในครอบครัว เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของปัญหาผมร่วง อาจส่งผลให้เกิดภาวะผมบางจากพันธุกรรม (Androgenetic alopecia) ซึ่งเป็นลักษณะผมร่วงมากบริเวณส่วนกลางของหนังศีรษะ หรือศีรษะล้าน
- อายุที่มากขึ้น เนื่องจากเซลล์ในร่างกายอาจเสื่อมสภาพลงตามอายุที่มากขึ้น ส่งผลให้การเจริญเติบโตของเส้นผมช้าลง หรืออาจหยุดการเจริญเติบโต และหลุดร่วง
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เนื่องจากภาวะต่าง ๆ เช่น ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ วัยหมดประจำเดือน ที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
- ความเครียด ทำให้ผมร่วงมากขึ้น หรือทำให้เกิดพฤติกรรมการดึงผมโดยไม่รู้ตัว เพื่อผ่อนคลายความเครียด จึงเป็นสาเหตุที่อาจทำให้ผมร่วง
- แผลบนหนังศีรษะ อาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่ได้รับผลกระทบถูกทำลาย ส่งผลให้ผมร่วงชั่วคราว และอาจงอกขึ้นใหม่เมื่อแผลหายดี ยกเว้นกรณีที่บริเวณนั้นเกิดแผลเป็น
- สารเคมีจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ยาย้อมผม น้ำยาฟอกสีผม สเปรย์จัดแต่งทรงผม รวมถึงสารเคมีจากมลภาวะภายนอก เช่น สารหนู สารปรอท ลิเทียม (Lithium) แทลเลียม (Tallium) อาจทำลายเส้นผมและหนังศีรษะ จนส่งผลให้เส้นผมขาดหลุดร่วง
- การฉายรังสีหรือเคมีบำบัด การฉายแสงหรือการทำเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง อาจมีผลข้างเคียงทำให้ผมร่วงหลังจากการรักษาได้
- ผลข้างเคียงของยา ยาและอาหารเสริมบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคข้ออักเสบ โรคซึมเศร้า โรคเกาต์ มะเร็ง อาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้ผมร่วงได้
สัญญาณเตือนของอาการผมร่วง
สัญญาณเตือนของอาการผมร่วง ที่ควรสังเกต มีดังนี้
- เส้นผมบริเวณศีรษะด้านบนหรือบริเวณตามแนวหน้าผากเริ่มหลุดร่วง จนมองเห็นหนังศีรษะชัดขึ้น
- ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ และอาจมีอาการคัน หรือเจ็บหนังศีรษะก่อนผมร่วง
- ผมร่วงอย่างกะทันหันเมื่อสัมผัสกับเส้นผม ขณะหวีผม มัดผม หนีบผม และสระผม
- สะเก็ดหนังศีรษะหลุดลอกออกเป็นแผ่นเล็ก ๆ และอาจมีอาการคัน และหนังศีรษะแดงบวม
ควรพบคุณหมอทันทีที่สังเกตว่าผมร่วงมากกว่าปกติเมื่อหวีผม จับผม สระผม โดยเฉพาะตามแนวรอบหน้าผาก
วิธีแก้ผมร่วง
วิธีแก้ผมร่วง อาจทำได้ดังนี้
- เลือกใช้แชมพู ครีมนวด และผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมสูตรอ่อนโยนและเหมาะกับสภาพเส้นผม เพื่อป้องกันไม่ให้รูขุมขนถูกทำลายและส่งผลทำให้ผมร่วงได้
- หลีกเลี่ยงการทำสีผม และการดัดผม เพราะอาจทำให้หนังศีรษะและเส้นผมได้รับสารเคมีจากผลิตภัณฑ์ย้อมสีผม น้ำยาดัดผม ที่ส่งผลให้ผมร่วง
- หลีกเลี่ยงการหนีบผมหรือการเป่าผมด้วยลมร้อน เพราะอาจทำให้เส้นผมเปราะบาง แห้งเสีย และหลุดร่วง
- หลีกเลี่ยงการมัดผมแน่นจนเกินไป และควรหวีผมเบา ๆ เพื่อป้องกันการดึงรั้ง จนทำให้ผมขาดและหลุดร่วง
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อแดง ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี ไข่แดง อาหารทะเล ผักใบเขียว เพราะธาตุเหล็กมีส่วนช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงและนำส่งออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ที่อาจช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมใหม่
- หยุดสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่อาจขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปยังศีรษะ ทำให้ผมร่วง และอาจลดการเจริญเติบโตของเส้นผม
- ใช้ยารักษาผมร่วง ที่มีในรูปแบบแชมพู เซรั่ม และยาสำหรับรับประทาน เช่น ไมนอกซิดิล (Minoxidil) ฟิแนสเทอไรด์ (Finasteride) สไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยา
- รักษาผมร่วงด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การเลเซอร์ การปลูกผม การฉีดสเตียรอยด์ เพื่อเป็นการฟื้นฟูสุขภาพหนังศีรษะ กระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม และอาจช่วยลดอาการผมร่วงได้