สาเหตุผมร่วง มีหลายประการ ทั้งด้วยอายุที่มากขึ้น ผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด การดึงรั้งเส้นผมบ่อย ๆ และความเครียด แต่ส่วนใหญ่สาเหตุผมร่วงเกิดจากพันธุกรรม หรือเรียกว่าภาวะผมบางจากพันธุกรรม ทั้งนี้ ปัญหาผมร่วง อาจป้องกันได้โดยการรักษาสุขภาพเส้นผมด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การเลือกใช้ยาสระผมที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการใช้ไดร์เป่าผม ควรเช็ดผมให้แห้งอยู่เสมอ และรับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงรากผมและเส้นผมให้แข็งแรง
[embed-health-tool-bmr]
สาเหตุผมร่วง มีอะไรบ้าง
ปัญหาผมร่วงอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยมีสาเหตุจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- พันธุกรรม เป็นสาเหตุผมร่วงที่พบได้บ่อยที่สุดทั้งในผู้ชายและผู้หญิง หรือเรียกว่าภาวะผมบางจากพันธุกรรม อาการผมร่วงที่มีสาเหตุจากพันธุกรรมอาจเป็นตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นและร่วงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เพศชายมีหนังศีรษะล้านได้เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป และเพศหญิงอาจผมร่วงหนักหลังเข้าสู่วัยทอง
- อายุที่มากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น เส้นผมจะงอกช้าลงหรือหยุดงอก นำไปสู่ปัญหาผมบางหรือหัวล้านได้
- โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน หรือในผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันต้านตนเอง (Autoimmune Diseases) จะทำให้เกิดอาการผมร่วงต่าง ๆ เช่น ผมร่วงเป็นหย่อม ผมร่วงทั้งศีรษะ หนวดหรือเคราร่วง หรือเส้นผมและเส้นขนร่วงหมดทั้งตัว อย่างไรก็ตาม โรคผมร่วงเป็นหย่อมสามารถรักษาได้ด้วยการทายาและฉีดยา
- การดึงรั้งเส้นผมซ้ำ ๆ หรือติดต่อกันเป็นเวลานาน จากการสวมหมวก ผูกผมหางม้า หรือถักเปีย เป็นหนึ่งในสาเหตุผมร่วงจากการดึงรั้ง (Traction Alopecia) ซึ่งมักหายเองได้หากหยุดดึงรั้งเส้นผมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ในระยะยาว ผมร่วงจากการดึงรั้งจะทำให้ผมร่วงแบบถาวรโดยที่ผมจะไม่งอกใหม่ทดแทน
- ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย ในบางราย อาจมีฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) เพิ่มขึ้นผิดปกติ ซึ่งทำให้ปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในเพศหญิงลดต่ำลง ส่งผลให้รูขุมขนหดเล็กลง และผมเส้นใหม่งอกช้ากว่าเดิม จนผมดูบางลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกายมักเกิดขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ คลอดบุตร หรืออยู่ในช่วงวัยทอง รวมถึงเมื่อมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบหรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
- สารพิษต่าง ๆ หากร่างกายได้รับสารหนู ปรอท แทลเลียม (Thallium) หรือลิเทียม (Lithium) อาจทำให้ผมร่วงได้ นอกจากนี้ การบริโภควิตามินเอและธาตุอาหารซีลีเนียม (Selenium) ในรูปแบบอาหารเสริมในปริมาณที่มากเกินไปยังเป็นพิษต่อร่างกายและทำให้ผมร่วงได้
- ความเครียด มักไปกระตุ้นให้รูขุมขนเข้าสู่ระยะพัก (Resting Phase) หรือระยะที่ผมหยุดโตและหลุดร่วงจากรูขุมขน ซี่งเป็นสาเหตุให้ผมร่วงง่ายกว่าปกติ นอกจากนี้ ความเครียดอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมดึงผมโดยไม่รู้ตัว จนทำให้ผมร่วงหรือบางลง
- การติดเชื้อที่หนังศีรษะ เมื่อเป็นโรคติดเชื้อที่หนังศีรษะ เช่น รูขุมขนอักเสบ กลาก ปมราดำ (Black Piedra) ผื่นแพ้ต่อมไขมัน ผู้ป่วยจะมีอาการผมร่วงร่วมด้วย
- ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคข้ออักเสบ โรคซึมเศร้า โรคเกาต์ มะเร็ง อาจมีผลข้างเคียงทำให้ผมร่วงได้ นอกจากนี้ การรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดและการฉายรังสีมักทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน
- การขาดสารอาหาร เช่น สารอาหารกลุ่มวิตามินบี โดยเฉพาะวิตามินบี 7 โปรตีน เหล็ก สังกะสี ทั้งนี้ สารอาหารที่มีส่วนช่วยบำรุงรากผมและเส้นผมเหล่านี้สามารถพบได้ในอาหารทั่วไปที่บริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น ปวยเล้ง อกไก่ มันเทศ ไข่แดง หอยนางรม
วิธีป้องกันผมร่วง มีอะไรบ้าง
ปัญหาผมร่วง อาจป้องกันได้ด้วยการบำรุงและรักษาสุขภาพเส้นผม ตามคำแนะนำต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการดึงรั้งเส้นผม งดการผูกผมเป็นทรงต่าง ๆ และการรวบตึงผม ควรปล่อยให้ผมทิ้งตัวตามธรรมชาติ
- หลีกเลี่ยงการทำร้ายเส้นผม เช่น การใช้ไดร์เป่าผม การใช้ที่หนีบผม หรือเครื่องดัดผม เพราะความร้อนจากอุปกรณ์ดังกล่าวจะทำให้เส้นผมและรูขุมขนเสียหาย
- หลีกเลี่ยงการสระผมบ่อยเกินไป เพื่อป้องกันปัญหาผมแห้ง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้แชมพูที่มีสารซัลเฟต (Sulfate) เป็นส่วนผสม เพราะอาจทำให้ผมชี้ฟูหรือเส้นผมไม่แข็งแรงจนหลุดร่วงได้
- เช็ดผมให้แห้งทุกครั้งหลังสระผม เพราะความชื้นบนหนังศีรษะเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เชื้อราเพิ่มจำนวน นำไปสู่การติดเชื้อบริเวณรากผมจนผมหลุดร่วงได้ง่ายกว่าปกติ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและมีส่วนช่วยบำรุงรากผมและเส้นผม เช่น อกไก่ ปวยเล้ง ไข่แดง ฝรั่ง หอยนางรม เพื่อป้องกันร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อเส้นผมอย่างวิตามินบี 7 โปรตีน เหล็ก หรือสังกะสี
- บรรเทาความเครียดด้วยการนั่งสมาธิ ฝึกโยคะ ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ หรือทำงานอดิเรกที่ตนเองสนใจ
- งดดื่มสุรา สูบบุหรี่ เพราะจะมีผลให้ผมร่วงก่อนวัยอันควร