backup og meta

หนังหัวลอก เป็นแผ่น ทําไงดี และควรป้องกันอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 05/04/2023

    หนังหัวลอก เป็นแผ่น ทําไงดี และควรป้องกันอย่างไร

    ปัญหาหนังศีรษะอาจเป็นปัญหาที่กวนใจหลาย ๆ คน โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศแห้งและหนาวเย็น อาจทำให้บางคนมีปัญหาหนังหัวแห้งและลอก จนเกิดคำถามว่า หนังหัวลอก เป็นแผ่น ทำไงดี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วปัญหานี้สามารถจัดการเองได้ ด้วยการเติมความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง รักษาความสะอาด จัดการกับความเครียด งดสูบบุหรี่ หรือพฤติกรรมอื่น ๆ ที่อาจทำให้ผิวหนังเสื่อมสภาพได้ง่าย

    หนังหัวลอกเป็นแผ่น เกิดจากอะไร

    หนังหัวลอก เป็นแผ่น ส่วนใหญ่อาจมีสาเหตุมาจากผิวหนังบริเวณหนังหัวขาดน้ำและสูญเสียความชุ่มชื้นมากจนหนังหัวแห้งและลอกเป็นแผ่น อาจทำให้บางคนมีอาการระคายเคือง แสบ เจ็บปวดและคันได้

    นอกจากนี้ ปัญหาหนังหัวลอก เป็นแผ่นยังอาจเกิดจากปัญหาอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้หนังหัวมีสภาพแห้ง ขาดความชุ่มชื้นและเสื่อมสภาพ ดังนี้

    • สภาพอากาศเย็นและแห้ง อาจส่งผลให้หนังหัวขาดความชุ่มชื้นแห้งและลอกเป็นแผ่นได้
    • การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมและหนังศีรษะ บางคนอาจมีอาการแพ้หรือระคายเคืองเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลหนังศีรษะหรือผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมบางชนิด ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการอักเสบ แสบ คัน หนังหัวแห้งและลอกเป็นแผ่นได้
    • อายุที่มากขึ้น สภาพผิวหนังจะเสื่อมโทรมลง อาจส่งผลให้หนังหัวแห้งกร้านและลอกเป็นแผ่นได้ง่าย
    • รังแค อาจเป็นสาเหตุหนังหัวลอก เป็นแผ่นที่พบได้บ่อย แต่รังแคอาจมีลักษณะของหนังหัวลอกออกเป็นแผ่นขนาดเล็ก สีขาวหรือสีเหลือง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคผิวหนัง ติดเชื้อรา ผิวแห้ง ใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม ไม่สระผม อย่างไรก็ตาม รังแคอาจรักษาหายได้และไม่เป็นปัญหาร้ายแรงต่อสุขภาพ
    • โรคผิวหนังบางชนิด เช่น ติดเชื้อราที่ผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน อาจทำให้ผิวหนังอักเสบ ติดเชื้อ หรือมีการเจริญเติบโตของผิวหนังมากกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้หนังหัวแห้งมาก ลอกเป็นขุยหรือเป็นแผ่น

    หนังหัวลอก เป็นแผ่น ทําไงดี

    สำหรับหลายคนที่อาจมีคำถามว่า หนังหัวลอกเป็นแผ่นทำไงดี โดยทั่วไปอาจดูแลรักษาได้เองที่บ้าน ดังนี้

  • เติมความชุ่มชื้นให้กับร่างกายและผิวหนังด้วยการดื่มน้ำมากขึ้นประมาณ 2-3 ลิตร/วัน อาจช่วยให้ผิวหนังทั่วร่างกายชุ่มชื้นขึ้น ทั้งยังช่วยรักษาและป้องกันปัญหาผิวแห้งลอกเป็นแผ่นได้
  • สระผมเป็นประจำด้วยแชมพูสระผมสูตรอ่อนโยน เหมาะกับสภาพหนังศีรษะและเส้นผม
  • ความถี่ในการสระผมควรเหมาะกับสภาพผิวหนัง โดยเฉพาะผู้ที่มีหนังหัวแห้งควรสระวันเว้นวันเพื่อไม่ให้หนังหัวแห้งมากเกินไป และผู้ที่มีหนังหัวมันมากอาจต้องสระทุกวันเพื่อขจัดความมันส่วนเกินและสิ่งสกปรกออก แต่ควรเลือกแชมพูสูตรอ่อนโยนที่ไม่ทำให้หนังหัวแห้งเกินไป
  • เป่าผมให้แห้งสนิททุกครั้งหลังสระผม เพื่อป้องกันหนังหัวอับชื้นที่อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ที่อาจทำให้หนังหัวอ่อนแอ แห้งและลอกเป็นแผ่นได้
  • จัดการกับความเครียด เพราะความเครียดอาจกระตุ้นให้ผิวหนังทั่วร่างกายอ่อนแอและเสื่อมาสภาพได้ง่าย จึงควรหากิจกรรมเพื่อจัดการกับความเครียด เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย นอนหลับ เล่นเกม
  • งดสูบบุหรี่และจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอกฮอล์ เนื่องจากสารเคมีในควันบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำลายเซลล์ผิวหนัง คอลลาเจน และอิลาสติน (Elastin) ในชั้นผิวหนัง นอกจากนี้ ยังอาจทำให้หลอดเลือดเสียหายซึ่งส่งผลต่อการลำเลียงสารอาหารเพื่อมาเลี้ยงผิวหนังด้วย
  • วิธีรักษาหนังหัวลอก เป็นแผ่น

    สำหรับผู้ที่มีปัญหาหนังหัวลอกเป็นแผ่นอย่างรุนแรงจนกระทบกับการใช้ชีวิต อาจจำเป็นต้องเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ ดังนี้

    • แชมพูขจัดรังแค คุณหมออาจแนะนำแชมพูที่มีส่วนประกอบของซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ซิงค์ ไพริไธโอน (Zinc Pyrithione) คีโตโรนาโซล (Ketoconazole) น้ำมันดิน (Coal Tar) เป็นต้น เพื่อช่วยขจัดเซลล์ผิวหนังเก่า ต้านเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดปัญหาผิวหนัง ช่วยบรรเทาอาการคันและระคายเคือง
    • การรักษาด้วยยา คุณหมออาจต้องวินิจฉัยอาการของแต่ละบุคคลเพื่อพิจารณาจ่ายยาตามความเหมาะสมของแต่ละโรค เช่น ยาต้านเชื้อรา ยาอะพรีมิลาส (Apremilast) คอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ (Corticosteroid) เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ยาแคลซิโพไตรอีน (Calcipotriene)
    • การฉายแสง เพื่อช่วยรักษาอาการอักเสบของหนังศีรษะด้วยการฉายแสงอัลตราไวโอเลต

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 05/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา