backup og meta

หนังหัวลอก เกิดจากอะไร และวิธีการดูแลรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

    หนังหัวลอก เกิดจากอะไร และวิธีการดูแลรักษา

    หนังหัวลอก เป็นภาวะทางผิวหนังที่เกิดจากปัญหาหนังหัวแห้งและขาดความชุ่มชื้น จนส่งผลให้หนังหัวลอกเป็นขุย คัน ระคายเคือง และอาจมีอาการอักเสบร่วมด้วย ซึ่งปัญหาหนังหัวแห้งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคผิวหนัง รังแค สภาพอากาศแห้ง อายุที่มากขึ้น ดังนั้น การดูแลหนังศีรษะอย่างเหมาะสมจึงอาจช่วยป้องกันและบรรเทาอาการหนังหัวลอกและแห้งได้

    หนังหัวลอก เกิดจากอะไร

    หนังหัวลอก เกิดจากการผลัดเซลล์ผิวบนหนังศีรษะที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากหนังศีรษะแห้ง สูญเสียน้ำและความชื้นมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้มีอาการระคายเคือง คันและลอกได้ โดยปัญหาหนังหัวลอกอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

    • รังแค เป็นสาเหตุของหนังหัวลอกที่พบบ่อย โดยรังแคอาจเกิดขึ้นเพราะปัญหาผิวหนังอักเสบจากโรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) โรคผื่นระคายสัมผัส การติดเชื้อรา การไม่สระผม ผิวแห้ง ฮอร์โมน ความเครียด ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น โดยรังแคเป็นสาเหตุที่ไม่ร้ายแรงสามารถหายได้หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม
    • สภาพอากาศเย็นและแห้ง อาจทำให้หนังศีรษะขาดความชุ่มชื้นและแห้งลอกได้
    • ผิวหนังอักเสบจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมและหนังศีรษะ เช่น แชมพู เจลแต่งผม สเปรย์ฉีดผม รวมทั้งการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ขจัดเอาน้ำมันบนหนังศีรษะออกมากเกินไป การล้างแชมพูไม่หมด การสระผมบ่อยเกินไป อาจทำให้หนังหัวลอก แห้ง และระคายเคืองได้
    • อายุที่มากขึ้น เชื่อมโยงกับสภาพผิวหนังที่อ่อนแอลงทั่วร่างกาย ทำให้ผิวหนังแห้งกร้าน ระคายเคืองง่ายและหลุดลอกง่าย
    • โรคผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน ซึ่งเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่ทำให้ผิวหนังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและลอกเป็นสะเก็ด หรือเชื้อราบนหนังศีรษะ เกิดจากการติดเชื้อราบนหนังศีรษะ หรือโรคแอกทินิกเคอราโทซิส (Actinic Keratosis) เกิดการกลายพันธุ์เป็นเนื้อไม่ดีของหนังศีรษะที่เกิดจากการทำร้ายของแสงแดด ส่งผลให้ผิวหนังอักเสบ แห้ง ระคายเคือง และลอก

    หนังหัวลอก อาการเป็นอย่างไร

    หนังหัวลอกอาจมีลักษณะที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสาเหตุหลัก ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นอาจมีดังนี้

    • อาการหนังหัวลอก เป็นขุย เป็นสะเก็ดสีขาวหรือสีเหลือง
    • หนังหัวแห้ง และอาจแห้งบริเวณผิวหนังส่วนอื่นด้วย
    • หนังหัวอาจมันเยิ้มหรือแห้ง และเต็มไปด้วยเกล็ดสีขาวหรือสีเหลือง
    • หนังหัวอาจมีสีแดง สีชมพู
    • อาการคันหนังหัว

    อย่างไรก็ตาม หากอาการหนังหัวลอกรบกวนการใช้ชีวิต ทำให้ขาดความมั่นใจ หรือมีการติดเชื้อมากขึ้น อาการคันรุนแรงขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและทำการรักษา

    วิธีการดูแลรักษาหนังหัวลอก

    การรักษาต้นเหตุของอาการหนังหัวลอกที่พบบ่อย เช่น รังแค โรคสะเก็ดเงิน เชื้อราบนหนังศีรษะ โรคแอกทินิกเคอราโทซิส อาจทำได้ดังนี้

    • เลือกใช้แชมพูขจัดรังแค ที่มีส่วนผสมของยาต้านเชื้อรา ป้องกันการตายของเซลล์ผิวหนัง ช่วยขจัดหนังส่วนเกินที่ลอกออก เช่น ซิงค์ ไพริไทออน (Zinc Pyrithione) ซีลีเนียมซัลไฟต์ (Selenium Sulfide) คีโตโรนาโซล (Ketoconazole) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) น้ำมันดิน (Coal Tar)
    • การฉายแสง ด้วยการใช้แสงอัลตราไวโอเลตที่ช่วยลดการอักเสบของหนังศีรษะ
    • การใช้ยาต้านเชื้อยาและบรรเทาอาการอักเสบ เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ (Corticosteroid) เทอร์บินาฟีน (Terbinafine)
    • การใช้ยารักษาเฉพาะที่สำหรับโรคแอกทินิกเคอราโทซิส เช่น ฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) อิมิควิโมด (Imiquimod)

    นอกจากนี้ ยังมีการดูแลรักษาที่ช่วยบรรเทาอาการและป้องกันหนังหัวลอก ดังนี้

    • การเลือกใช้แชมพูสูตรอ่อนโยนและให้ความชุ่มชื้นกับหนังศีรษะ
    • สระผมให้น้อยลง โดยเฉพาะผู้ที่มีหนังศีรษะแห้งควรสระผมวันเว้นวัน เพื่อลดการขจัดน้ำมันบนหนังศีรษะ
    • เป่าผมให้แห้งสนิทหลังสระผมทุกครั้ง เพราะความเปียกชื้นที่มากเกินไปอาจทำให้หนังศีรษะอ่อนแอ และอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาหนังหัวลอกได้
    • ดื่มน้ำให้มากขึ้น โดยควรดื่มน้ำ 2-3 ลิตร/วัน เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง
    • จัดการกับความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบ ฟังเพลง อ่านหนังสือ เพราะความเครียดอาจกระตุ้นการปล่อยฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ส่งผลให้ผิวหนังอ่อนแอและเสื่อมสภาพ และความเครียดสัมพันธ์โดยตรงกับอาการคันหนังศรีษะ
    • งดการสูบบุหรี่ เพราะสารเคมีในบุหรี่อาจทำให้ผิวหนังอ่อนแอลง และอาจทำให้หลอดเลือดตีบซึ่งส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด ส่งผลให้สารอาหารไปเลี้ยงเซลล์ผิวหนังได้ลดลง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา