หัวเป็นเชื้อรา เกิดจากการที่มีเชื้อราจำนวนมากบนเส้นผม หรือหนังศีรษะ มักเป็นผลมาจากการปล่อยให้เส้นผมหรือหนังศีรษะเปียกชื้น ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม โรคที่เกิดจากเชื้อรา สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อรา ทั้งในรูปแบบครีม แชมพู หรือยาสำหรับรับประทาน นอกจากนี้ หัวเป็นเชื้อรายังป้องกันได้โดยการเป่าผมให้แห้งสนิทหลังสระผม และหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
สาเหตุที่ทำให้หัวเป็นเชื้อรา
โดยทั่วไป เชื้อราบนหนังศีรษะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อาจไม่ส่งผลต่อสุขภาพหากจำนวนเชื้อราไม่มากเกินไป อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่อไปนี้อาจทำให้เชื้อราเติบโตมากเกินไป และเป็นสาเหตุของการติดเชื้อหรือโรคผิวหนังได้
- อาศัยในบริเวณที่ร้อนและชุ่มชื้น
- มีภาวะเหงื่อออกมาก
- ใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กำจัดเชื้อแบคทีเรีย ที่มีผลต่อการควบคุมจำนวนเชื้อราบนหนังศีรษะ เมื่อแบคทีเรียลดลงอาจทำให้เชื้อราเพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของหัวเป็นเชื้อรา
- สระผมหรือล้างศีรษะแล้วไม่เช็ดให้แห้ง
หัวเป็นเชื้อรา ติดต่อกันได้จากไหนบ้าง
เชื้อราเป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่ง ที่พบได้ทุกที่ แม้แต่บนหนังศีรษะของคน นอกจากนี้ เชื้อรารอบ ๆ ตัว ยังแพร่กระจายมายังหนังศีรษะได้ จากสาเหตุต่อไปนี้
- การสัมผัสร่างกายระหว่างกัน เช่น จับมือ กอด ลูบศีรษะ
- การใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น หวี แปรง ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน
- การสัมผัสสัตว์เลี้ยงหรือปศุสัตว์ต่าง ๆ เช่น สุนัข แมว แพะ หมู ม้า
- การทำกิจกรรมในพื้นที่ชื้นแฉะบ่อยหรือเป็นเวลานาน เช่น ห้องน้ำ ห้องล็อคเกอร์ สระว่ายน้ำ ห้องซาวน่า ซึ่งมีสภาพแวดล้อมอันเอื้อต่อการเติบโตของเชื้อรา
- การปล่อยให้เส้นผมหรือหนังศีรษะเปียกหรืออับชื้นเป็นเวลานาน
หัวเป็นเชื้อรา มีอาการอย่างไร
เมื่อติดเชื้อราบนหนังศีรษะ อาการที่พบได้อาจมีดังนี้
- ปื้นหรือตุ่มแดง บนหนังศีรษะ
- หนังศีรษะแห้ง เป็นขุยหรือรังแค
- คันหนังศีรษะ
- ผมร่วง
โรคอื่น ๆ ที่พบได้บริเวณศีรษะ มีดังต่อไปนี้
- กลากที่หนังศีรษะ (Tinea capitis) หรือบางครั้งเรียกว่า “ชันนะตุ” เป็นโรคหนังศีรษะจากเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโทไฟต์ (Dermatophyte) อาการที่พบบ่อย ได้แก่ เกิดผื่นวงแหวนบริเวณหนังศีรษะ ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ จนเห็นหนังศีรษะ มีก้อนกลัดหนองบนหนังศีรษะ
- รูขุมขนอักเสบ (Folliculitis) เป็นโรคผิวหนังเนื่องจากติดเชื้อราหรือแบคทีเรียที่รูขุมขน โดยอาการที่พบบ่อย คือ เกิดตุ่มแดงคล้ายสิวบนหนังศีรษะ มีหนองข้างใน มักขึ้นบริเวณรูขุมขน รวมทั้งรู้สึกคันหรือเจ็บปวดในบริเวณที่เป็น
- ผื่นแพ้ต่อมไขมัน (Seborrheic Dermatitis) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “เซบเดิร์ม” เป็นโรคผิวหนังที่พบได้ในอัตรา 1-5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ซึ่งทางการแพทย์สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) รวมถึงเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ เมื่อเป็นผื่นแพ้ต่อมไขมัน จะพบตุ่มแดงบนหนังศีรษะ ร่วมกับอาการคัน และผิวหนังเป็นขุยมันวาวสีออกเหลือง
การรักษาหัวเป็นเชื้อรา
การติดเชื้อราที่หนังศีรษะ รวมถึงโรคผิวหนังบริเวณหนังศีรษะเนื่องจากเชื้อรา สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านเชื้อราในรูปแบบยาสำหรับรับประทาน หรือยาทาที่เป็นครีม แชมพู ตามคำแนะนำของคุณหมอ
ทั้งนี้ ตัวยาที่มักใช้รักษาโรคต่าง ๆ ประกอบด้วย คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ยาไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) กริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin) ฟลูโคนาโซล (Fluconazole)
นอกจากนี้ เพื่อบรรเทาการอักเสบบนหนังศีรษะ คุณหมออาจจ่ายยาสเตียรอยด์ ในรูปแบบของครีมหรือแชมพู ให้ด้วย
หัวเป็นเชื้อราป้องกันได้อย่างไร
หัวเป็นเชื้อรา สามารถป้องกันได้ ด้วยการปฏิบัติตัวดังนี้
- สระผมสม่ำเสมอ และเช็ดผมให้แห้ง เพื่อป้องกันเชื้อราบนหนังศีรษะเจริญเติบโตเนื่องจากความชื้น
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
- หากคนในครอบครัว บุคคลใกล้ชิด หรือสัตว์เลี้ยง เป็นโรคผิวหนัง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสระหว่างกัน รวมทั้งพยายามเว้นระยะห่าง