backup og meta

เหาเกิดจากอะไร วิธีรักษาและดูแลตัวเองเมื่อเป็นเหา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/11/2023

    เหาเกิดจากอะไร วิธีรักษาและดูแลตัวเองเมื่อเป็นเหา

    เหาเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในเด็ก อาจทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง หรือทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อตามมา หลายคนอาจสงสัยว่า เหาเกิดจากอะไร โรคเหา คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อจากเหาซึ่งเป็นปรสิตที่ดูดเลือดจากผิวหนังของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นอาหาร แม้เหาจะกระโดดหรือบินไม่ได้ แต่ก็สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านการสัมผัสใกล้ชิดหรือใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น หวี หมอน ผ้าปูที่นอน ผู้ป่วยอาจเกิดอาการคันและระคายเคืองหนังศีรษะและผิวหนังเนื่องจากแพ้สารในน้ำลายของเหา โดยอาการคันจะไม่เกิดขึ้นทันทีหลังมีเหาบนร่างกาย แต่อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หลังเหาฟักเป็นตัว

    ทั้งนี้ เหาไม่สามารถหายได้เอง และจำเป็นต้องรักษาให้หายสนิทด้วยการใช้ยากำจัดเหา การสางเอาตัวเหาและไข่เหาออกด้วยหวีเสนียด และควรหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่อาจทำให้กลับมาเป็นเหาซ้ำอีก หากรักษาด้วยตัวเองแล้วไม่ได้ผลหรือมีอาการแพ้หรือเกิดแผลติดเชื้อ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

    เหาเกิดจากอะไร

    โรคเหาเกิดจากการติดเชื้อจากเหา ซึ่งเป็นแมลงปรสิตตัวแบนขนาดเล็กที่มีขนาดประมาณเท่าเมล็ดงา มีขา 6 ขาที่ใช้ที่ใช้สำหรับเกาะเกี่ยวโดยเฉพาะ 6 ขาที่เพื่อสะดวกในการเกาะเส้นผมหรือขนได้เป็นอย่างดี เหาจะและดูดกินเลือดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและวางไข่บนหนังศีรษะและขนบริเวณร่างกายเพื่อขยายพันธุ์ โดยเหาตัวเมียจะปล่อยสารที่ทำให้ไข่ยึดติดกับเส้นผมอย่างเหนียวแน่น เหาสามารถติดต่อไปยังบุคคลอื่นได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

    • ติดต่อผ่านการสัมผัสใกล้ชิด อาจเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกในครอบครัวหรือเด็กทำกิจกรรมใกล้ชิดกันหรือศีรษะของผู้รับเชื้ออยู่ใกล้กับผู้ที่ติดเชื้อเหา
    • ติดต่อผ่านสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน การใช้ของร่วมกันหรือวางสิ่งของส่วนตัวใกล้กัน เช่น หมอน เสื้อผ้า หมวก หวี หูฟัง เครื่องประดับผม ผ้าห่ม อาจทำให้เหาที่เกาะอยู่แพร่ไปยังผู้อื่นได้
    • ติดต่อผ่านเฟอร์นิเจอร์ ผู้ที่ติดเชื้อเหาอาจนอนบนเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน เช่น เตียง โซฟา ทำให้เหาเกาะอยู่ตามเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นและแพร่ไปยังผู้อื่นที่มาใช้เฟอร์นิเจอร์ร่วมกัน
    • ติดต่อผ่านกิจกรรมทางเพศ ตัวโลนซึ่งเป็นเหาที่พบบ่อยบริเวณอวัยวะเพศอาจแพร่กระจายผ่านการประกอบกิจกรรมทางเพศได้

    ประเภทของเหา

    เหาที่พบบ่อยอาจแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

    • เหาบนศีรษะ (Head louse) เป็นเหาที่อาศัยอยู่บนหนังศีรษะ และอาจพบได้บริเวณหูและท้อยทอยได้ด้วย การติดเหาบนศีรษะสามารถเกิดขึ้นกับคนได้ทุกวัย โดยเฉพาะพบได้บ่อยในเด็ก เพราะเด็กซึ่งเป็นวัยที่มักใช้เวลาร่วมกันและใช้สิ่งของร่วมกัน ทำให้ติดกันได้ง่าย
    • เหาตามตัว (ฺBody louse) เป็นเหาที่อาศัยอยู่บนเครื่องนอนและเสื้อผ้าเป็นหลัก และอาจเคลื่อนตัวมาที่ผิวหนังของคนบริเวณ คอ ไหล่ และรักแร้ของคน ซึ่งเป็นผิวหนังบริเวณที่เสื้อผ้าแนบชิดกับผิวหนังที่สุด เพื่อดูดกินเลือดของคน มักพบได้บ่อยในผู้ที่ไม่ค่อยทำความสะอาดร่างกายและเครื่องนอน เสื้อผ้า และของใช้ส่วนตัวรักษาความสะอาด
    • เหาที่อวัยวะเพศ หรือ ตัวโลน (Public louse) เป็นเหาที่อาศัยอยู่ตามบริเวณที่มีขนหยาบของร่างกาย เช่น ขนคิ้ว เครา ขนรักแร้ ขนบริเวณอวัยวะเพศ อาจเป็นชนิดที่ติดต่อได้ผ่านการประกอบกิจกรรมทางเพศหรือการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย

    วงจรชีวิตของเหา

    วงจรชีวิตของเหา อาจเป็นออกเป็นลำดับขั้นต่อไปนี้

    • ไข่เหา เป็นจุดกลมหรือวงรีสีขาวที่เกาะยึดกับเส้นผมบนหนังศีรษะอย่างเหนียวแน่น โดยปกติ ไข่เหาจะใช้เวลาฟักตัว 6-9 วัน
    • ตัวอ่อนเหา เป็นตัวอ่อนที่จะพัฒนาไปเป็นเหาตัวเต็มวัยภายใน 9-12 วันหลังฟักออกจากไข่
    • ตัวเต็มวัย มีขนาดยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร หรือประมาณเมล็ดงา เหาตัวเต็มวัยมีสีขาวเทา มีอายุเฉลี่ย 30-40 วันเมื่ออยู่บนผิวหนัง หากไม่มีสัตว์ให้ยึดเกาะอาจตายภายใน 1-2 วัน

    อาการเมื่อเป็นเหา

    อาการที่อาจเป็นสัญญาณของการเป็นเหา มีดังนี้

    • มีอาการคันหนังศีรษะ ลำตัว หรือบริเวณอวัยวะเพศอย่างรุนแรง
    • รู้สึกคันยุบยิบเหมือนมีอะไรเคลื่อนไหวอยู่บนหนังศีรษะ
    • พบเหาที่หนังศีรษะ ตามลำตัว หรือที่ขนบริเวณอวัยวะเพศ
    • พบไข่เหาเป็นจุดสีขาวบนเส้นผม หู หรือต้นคอ บางครั้งอาจสับสนกับรังแค แต่รังแคสามารถปัดออกได้อย่างง่ายดาย ต่างจากไข่เหาที่เกาะแน่นกับเส้นผม
    • มีแผลบริเวณหนังศีรษะ คอ และไหล่ บางครั้งแผลเหล่านั้นจะเป็นกลายเป็นตุ่มแดง และอาจติดเชื้อแบคทีเรียได้
    • มีรอยกัดบริเวณเอว ขาหนีบ ต้นขาช่วงบน และบริเวณอวัยวะเพศ

    วิธีรักษาเมื่อเป็นเหา

    การรักษาเมื่อเป็นเหา อาจทำได้ดังนี้

    เหาบริเวณหนังศีรษะ

    • สางตัวเหาและไข่เหาที่เกาะยึดเส้นผมออกด้วยหวีซี่ถี่หรือหวีเสนียด พรมน้ำให้ผมเปียกเล็กน้อย จากนั้นหวีตั้งแต่โคนผมโดยหวีให้ชิดหนังศีรษะมากที่สุดไล่ไปจนถึงปลายเส้นผม วิธีนี้จะช่วยให้ไข่เหาที่เกาะแน่นและหลุดยากหลุดออกจากเส้นผมได้ง่ายขึ้น ให้ทำซ้ำทุก 3-4 วันเป็นเวลา 2 สัปดาห์
    • ใช้แชมพูหรือครีมที่มีส่วนผสมของไพรีทริน (Pyrethrins) เพอร์เมทริน (Permethrin) ซึ่งเป็นสารที่ใช้กำจัดปรสิตต่าง ๆ โดยควรศึกษาฉลากก่อนใช้ยาและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
    • ใช้ยาไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) แบบโลชั่น โดยชโลมโลชั่นให้ทั่วเส้นผมและหนังศีรษะที่แห้ง ทิ้งเป็นเวลา 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำเปล่า อย่างไรก็ตาม การรักษาเหาด้วยยานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ ระคายเคืองดวงตาหรือเกิดรอยแดง รังแค ผิวแห้ง แสบหรือร้อน ยานี้ไม่แนะนำสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน และไม่ควรใช้ซ้ำโดยไม่ปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อน
    • ใช้ยาไอเวอร์เมคตินแบบรับประทาน ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล ให้กินยา 2 ครั้ง ห่างกัน 8 วัน ทั้งนี้ควรปรึกษาคุณหมอและเภสัชกรก่อนใช้ยา ยานี้ควรใช้ในเด็กที่มีน้ำหนักเกิน 15 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
    • ใช้ยาชนิดใช้ภายนอกตามใบสั่งของคุณหมอ เช่น มาลาไทออน (Malathion) โดยให้ชโลมยาบนผมแล้วถูให้ทั่วเส้นผมและหนังศีรษะ ยาชนิดนี้มีแอลกอฮอล์สูงและติดไฟได้ จึงควรเก็บให้ห่างจากแหล่งความร้อน เช่น เครื่องเป่าผม ที่ม้วนผมไฟฟ้า บุหรี่

    เหาตามร่างกาย

    เหาตามร่างกายสามารถกำจัดได้ด้วยการทายา เช่น ยาเพอร์เมทริน ที่ผิวหนังบริเวณที่เป็นเหาหลังอาบน้ำในช่วงก่อนเข้านอน ทิ้งไว้ข้ามคืน แล้วค่อยล้างออกในตอนเช้า ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลา 9-10 วัน

    เหาที่อวัยวะเพศ

    เหาหรือโลนที่อวัยวะเพศสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการเดียวกับการรักษาเหาบนศีรษะ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์กำจัดเหาอย่างเคร่งครัด

    วิธีป้องกันและดูแลตัวเองไม่ให้เป็นเหา

    วิธีป้องกันและดูแลตัวเองไม่ให้เป็นเหา สามารถทำได้ดังนี้

    • ซักผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า หรือตุ๊กตาของผู้ที่เป็นเหาด้วยน้ำร้อนเพื่อกำจัดไข่เหาและเหาที่อาจหล่นจากผิวหนังของผู้ป่วย
    • หากเป็นเหา ต้องรักษาให้หายขาด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในอนาคต
    • ดูแลสุขอนามัยชองตัวเองให้สะอาดอยู่เสมอ
    • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโลน
    • เลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น หวี ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดผม
    • ดูดฝุ่นและทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ โดยเฉพาะตามซอกมุมบ้าน หรือบริเวณที่มืดและอับชื้น
    • ล้างหวีและแปรงด้วยน้ำร้อนหรือเจลแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อโรคหรือไข่เหาที่อาจหลงเหลืออยู่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/11/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา