หากรู้สึกแสบเมื่อผิวหน้าโดนแสงแดด สัมผัสแล้วผิวแห้ง ดูขาดน้ำ ระคายเคืองได้ง่าย อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีภาวะ ผิวบาง ซึ่งควรศึกษาสาเหตุ วิธีป้องกัน และแนวทางการรักษา ที่อาจช่วยให้ผิวแข็งแรงขึ้นได้อย่างปลอดภัย และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผิวอื่น ๆ ตามมา เช่น ริ้วรอย จุดด่างดำ ความหมองคล้ำ ฝ้ากระ
[embed-health-tool-bmr]
ผิวบาง คืออะไร
ผิวบาง เป็นผิวที่มีลักษณะแห้งตึง ขาดความชุ่มชื้น มีน้ำมันเคลือบผิวน้อย เห็นเส้นเลือดฝอยและระคายเคืองได้ง่าย หากปล่อยไว้ อาจก่อให้เกิดปัญหาผิวอื่นๆ ตามมาได้ง่าย เช่น รอยหมองคล้ำ จุดด่างดำ ฝ้ากระบนใบหน้า ผื่นผิวหนังอักเสบ นอกจากนี้ เมื่อเป็นแผลก็อาจเกิดรอยช้ำได้ง่าย แผลหายช้า หรืออาจเกิดแผลเป็นง่ายขึ้น เนื่องจากชั้นผิวสูญเสียชั้นไขมันที่ทำหน้าที่เสมือนเกราะคุ้มกันผิวหนัง จึงทำให้ผิวดูโปร่งใส และสังเกตเห็นเส้นประสาทและหลอดเลือดฝอยได้ง่าย
สาเหตุที่ทำให้ผิวบางลง
ผิวบาง อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
รังสียูวี (UV) จากแสงแดด
เมื่อโดนแสงแดดติดต่อกันเป็นเวลานาน รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet Radiation) หรือรังสียูวี (UV) จะเข้าไปทำลายอีลาสติน (Elastin) ที่เป็นโปรตีนชนิดโครงสร้างสำคัญในผิวหนัง ช่วยให้ผิวยืดหยุ่น ตึงกระชับ เมื่ออีลาสตินถูกทำลายก็จะส่งผลให้ผิวขาดความยืดหยุ่นและบางลงได้
การใช้ครีมที่ส่วนผสมของสเตียรอยด์
การใช้ครีมทาหน้าที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ในระยะยาวจะทำให้ผิวบาง เนื่องจากสเตียรอยด์เป็นยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันเพื่อรักษาการอักเสบของผิวหนัง ลดการสร้างคอลลาเจนที่ช่วยทำให้ผิวแข็งแรงและช่วยปกป้องชั้นผิว ส่งผลทำให้เซลล์และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังบางลง จนมองเห็นเส้นประสาทและเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนัง ส่งผลให้เกิดจุดด่างดำและปัญหาผิวอื่น ๆ เช่น การหมองคล้ำ อาการอักเสบ ได้ง่ายขึ้น
อายุมากขึ้น
ผิวหนังจะบางลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น เมื่ออายุ 40 ปีจะรู้สึกได้ว่าผิวหน้าบางลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) น้อยลง ส่งผลให้มีการผลิตคอลลาเจนและอีลาสตินน้อยลงด้วย ทำให้ผิวหน้าเกิดริ้วรอย แห้งและบางลงได้
การทำทรีตเมนต์หน้า
การทำทรีตเมนต์ผิวหรือเข้าคอร์สเพื่อลอกชั้นผิวหรือผลัดเซลล์ผิวด้วยเลเซอร์ (Laser resurfacing) บ่อยเกินไป อาจมีส่วนทำให้ผิวบางลงได้ เนื่องจากเลเซอร์จะเข้าไปลอกเซลล์ของชั้นผิวให้บางลงชั่วคราว เมื่อทำแล้วควรเลี่ยงไม่ให้ผิวบริเวณที่ทำเลเซอร์โดนแสงแดด และเว้นระยะในการทำเลเซอร์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน แล้วแต่ชนิดของเลเซอร์ที่ทำ เพื่อให้ผิวได้พักฟื้น
การใช้เครื่องสำอางบางชนิด
เครื่องสำอางที่กล่าวว่าทำให้ผิวขาวอย่างรวดเร็ว อาจมีสารเคมีบางชนิดในปริมาณหรือค่าความเข้มข้นสูงเกินมาตรฐานทางการแพทย์ เช่น สารฟอกขาว สารปรอท ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) กรดไตรคลออะซีติค (Trichloroacetic หรือ TCA) สารเหล่านี้อาจมีส่วนทำให้ผิวบางลง ไม่ทนแดดและสารเคมีในชีวิตประจำวัน
วิธีป้องกันไม่ให้ ผิวบาง
- ทาครีมกันแดดที่มี SPF 60 ขึ้นไปเป็นประจำ และทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง ควรทาทุกวันแม้จะไม่ออกไปนอกบ้าน เนื่องจากแสงแดดยังคงสะท้อนเข้ามาในบ้านผ่านกระจกหรือลอดเข้ามาทางหน้าต่าง
- พยายามหลบแดดให้ได้มากที่สุด อาจใช้ร่มสวมหมวก และสวมใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวเมื่อต้องออกแดดอย่างเลี่ยงไม่ได้
- บำรุงผิวอย่างสม่ำเสมอ ใช้ครีมบำรุงที่มีส่วนผสมที่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในผิว
- งดดื่มแอลกอฮออล์และสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้ผิวแก่กว่าวัยและทำให้ร่างกายขาดน้ำ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ สำหรับเด็กควรดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้ว/วัน สำหรับผู้ใหญ่ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 9-13 แก้ว/วัน และสำหรับคนท้องและผู้ให้นมลูกควรดื่มน้ำอย่างน้อย 10-12 แก้ว/วัน
วิธีแก้ปัญหา ผิวบาง
ผิวบางอาจแก้ไขได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- การรักษาด้วยเลเซอร์ ผู้มีปัญหาผิวบางรายอาจรักษาได้ด้วยเลเซอร์างชนิด หรือทรีทเม้น ที่ช่วยกระตุ้นให้ผิวซ่อมแซมตัวเองและฟื้นฟูผิว รวมถึงเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวบริเวณที่มีปัญหา ทั้งนี้ ควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างละเอียด และปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมกับสภาพผิวของแต่ละคน
- ปรับพฤติกรรมการกิน เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวม และมีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับผิว เช่น
- ผักและผลไม้ เช่น มะเขือเทศ มะม่วงสุก สับปะรด ฝรั่ง อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) อย่าง วิตามินซี วิตามินอี ลูทีน ไลโคปีน เป็นต้น ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ผิว นอกจากนี้ ควรเลือกผักและผลไม้ที่มีวิตามินซี (Vitamin C) เช่น ผักคะน้า พริกหวาน ส้ม มะนาว ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนให้กับผิว ซึ่งคอลลาเจนคือ เส้นใยโปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่ในผิว มีส่วนช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว
- กรดไขมัน อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3 fatty acids) เช่น ปลา ไข่ น้ำมันคาโนล่า (Canola Oil) มีส่วนช่วยเป็นเกราะป้องกันความเสียหายของผิวจากแสงแดด และอาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว (Monounsaturated fatty acid) เช่น อะโวคาโด อัลมอนด์ น้ำมันมะกอก มีส่วนช่วยปรับสมดุลของกรดและด่างของผิว
- อาหารไม่แปรรูปหรือขัดสี (Whole food) เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลเกรน อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ที่ช่วยฟื้นฟูเซลล์ผิว เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี เบตาแคโรทีน โอเมก้า-3