backup og meta

ผิวแห้งมาก เกิดจากอะไร ควรดูแลผิวตัวเองอย่างไร

ผิวแห้งมาก เกิดจากอะไร ควรดูแลผิวตัวเองอย่างไร

ผิวแห้งมาก เป็นอาการทางผิวหนังที่อาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้น สภาพอากาศหนาวและมีลมแรง โรคผิวหนัง พันธุกรรม โดยทั่วไปสามารถรักษาได้ด้วยการทามอยส์เจอไรเซอร์และยาบรรเทาอาการคันและอักเสบจากโรคผิวหนัง ร่วมกับการดูแลตัวเองด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ทาครีมกันแดด ไม่อาบน้ำนานเกินไป หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารระคายเคืองผิว ทั้งนี้ หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอาการผิวแห้งมากอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-bmi]

ผิวแห้งมาก เกิดจากอะไร

อาการผิวแห้งมากมักเกิดจากการขาดความชุ่มชื้นในชั้นผิว ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • อายุ

ต่อมน้ำมันที่ผลิตน้ำมันเพื่อช่วยให้ผิวชุ่มชื้นจะทำงานน้อยลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไขมันและคอลลาเจนที่เป็นส่วนประกอบของชั้นผิวลดลงไปด้วย ผิวจึงบางลงและแห้งขึ้นตามธรรมชาติ โดยผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีอาจมีปัญหานี้ได้มากกว่าคนที่อายุน้อยกว่า

  • สภาพอากาศ

การอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีลมแรง พื้นที่อากาศหนาว อาจทำให้ผิวขาดน้ำและแห้งมากได้ โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่ความชื้นในอากาศจะลดลง ส่งผลให้ผิวหนังสูญเสียน้ำมากกว่าปกติและทำให้ผิวแห้งได้ง่าย

  • ภาวะสุขภาพและพันธุกรรม

หากคนในครอบครัวมีสภาพผิวแห้ง ก็อาจทำให้ผิวแห้งรุนแรงมากกว่าคนทั่วไปได้ นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอย่างโรคผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic dermatitis) โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ โรคไต ก็อาจพบปัญหานี้ได้เช่นกัน

  • อาชีพ

หากประกอบอาชีพที่ต้องสัมผัสกับสารเคมี ทำงานกลางแจ้งและสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานาน หรือต้องล้างมือบ่อยครั้ง ก็อาจทำให้มีปัญหาผิวแห้งมากได้

อาการผิวแห้งมาก เป็นอย่างไร

อาการผิวแห้งมากของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ภาวะสุขภาพ อายุ รวมไปถึงสาเหตุที่ทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้น อาการโดยทั่วไปมีดังต่อไปนีั

  • ผิวหนังแห้ง ตกสะเก็ด ลอกเป็นขุยหรือเป็นแผ่น
  • ผิวหนังมีรอยแตก และรอยอาจลึกจนมีเลือดออก
  • มีอาการคัน
  • ผิวหนังหยาบกร้าน เปลี่ยนเป็นสีคล้ำ
  • รู้สึกว่าผิวหนังตึง โดยเฉพาะหลังสัมผัสน้ำ เช่น การอาบน้ำในอ่าง การอาบน้ำด้วยฝักบัว การลงสระว่ายน้ำ

ผิวแห้งมาก รักษาได้อย่างไร

ผิวแห้งมาก อาจรักษาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ทาครีมบำรุงหรือมอยส์เจอไรเซอร์ที่เนื้อครีมเข้มข้นมีส่วนประกอบ เช่น โจโจ้บาออยล์ (Jojoba Oil) ไดเมทิโคน (Dimethicone) กลีเซอรีน (Glycerin) กรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) กรดแลคติก (Lactic acid) เชียบัตเตอร์ (Shea butter) ลาโนลิน (Lanolin) น้ำมันแร่ (Mineral Oil) ปิโตรเลียมเจลลี (Petroleum jelly) ที่มีคุณสมบัติเคลือบผิวและช่วยกักเก็บความชุ่มชื้น ป้องกันการสูญเสียน้ำ ซึ่งอาจบรรเทาอาการผิวแห้งมากได้
  • ใช้ยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ (Topical steroid) อย่างไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone steroid) อาจช่วยลดอาการคันหรืออักเสบที่ผิวหนังในกรณีที่รุนแรง คุณหมออาจสั่งยารับประทานหรือยาฉีดให้กับผู้ป่วย

ผิวแห้งมาก ควรดูแลตัวเองอย่างไร

ผู้ที่มีปัญหาผิวแห้งมาก อาจดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ทาครีมเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวเป็นประจำทุกวันหลังอาบน้ำหรือขึ้นจากสระว่ายน้ำ โดยควรทาครีมตอนผิวยังเปียกหมาดเพื่อให้เนื้อครีมซึมเข้าสู่ผิวได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ควรเลือกใช้ครีมที่ไม่มีสารระคายเคืองผิวหนัง หลีกเลี่ยงน้ำหอม พาราเบน แอลกอฮอล์ ซัลเฟต (Sulfates) กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha-hydroxy acid หรือ AHA) เรตินอยด์ (Retinoid) ที่อาจทำให้ผิวแห้งมากขึ้น
  • หากริมฝีปากแห้งมาก ควรทาลิปบาล์มเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ริมฝีปาก ลดอาการแตกลอก และควรหลีกเลี่ยงการแกะปากที่แห้งแตกหรือลอกเป็นขุย
  • ทาครีมกันแดด SPF 50 ขึ้นไปเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะวันที่ต้องออกแดด โดยทาก่อนออกจากบ้านอย่างน้อย 15 นาทีเพื่อให้ครีมทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ใช้เครื่องทำความชื้นเพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศในบริเวณที่อยู่อาศัยเป็นประจำ เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น โต๊ะทำงาน
  • สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีและไม่ระคายเคืองผิว เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าป่านผ้าลินิน
  • อาบน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้อง ครั้งละไม่เกิน 10 นาที และไม่ควรอาบน้ำร้อน เพื่อป้องกันผิวสูญเสียความชุ่มชื้น
  • หลังอาบน้ำให้ใช้ผ้าเช็ดตัวสะอาดซับผิวอย่างเบามือแทนการถูผิวแรง ๆ เพื่อลดการเสียดสีและอาการระคายเคืองผิว
  • ควรเลือกใช้สบู่สำหรับคนผิวแห้ง หรือผิวบอบบาง
  • หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ในบริเวณที่มีผื่น
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่ระบุว่าไม่ก่อให้เกิดการแพ้ (Hypoallergenic) เนื่องจากไม่มีส่วนผสมที่เข้มข้นเกินไปจนทำให้ผิวที่แห้งอยู่แล้วยิ่งระคายเคือง
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่เร่งการขับน้ำออกจากร่างกาย เช่น แอลกอฮอล์ คาเฟอีน น้ำตาล เกลือ
  • เลิกบุหรี่ เพราะมีสารพิษอย่างนิโคติน ทาร์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ที่ทำให้หลอดเลือดตีบตันและลดการไหลเวียนของเลือด อาจส่งผลให้ผิวแห้งมากขึ้น
  • สวมถุงมือขณะทำงานบ้านหรือทำงานที่ต้องเข้าใกล้สารเคมี หลีกเลี่ยงการสัมผัสผลิตภัณฑ์ที่อาจระคายเคืองผิวหนัง เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด น้ำยาขัดพื้น น้ำหอมปรับอากาศ น้ำยาซักผ้า

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Dry Skin. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/16940-dry-skin. Accessed February 27, 2023

9 ways to banish dry skin. https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/9-ways-to-banish-dry-skin. Accessed February 27, 2023

DERMATOLOGISTS’ TOP TIPS FOR RELIEVING DRY SKIN. https://www.aad.org/public/everyday-care/skin-care-basics/dry/dermatologists-tips-relieve-dry-skin. Accessed February 27, 2023

Dry skin. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dry-skin/symptoms-causes/syc-20353885#:~:text=Living%20in%20cold%2C%20windy%20conditions,oils%20from%20your%20skin%20too. Accessed February 27, 2023

Dry Skin. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/dry-skin. Accessed February 27, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/06/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผิวแห้ง สาเหตุ อาการ และการรักษา

โรคผิวหนัง คัน แห้ง และการดูแลตัวเอง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา