backup og meta

วิธี ลบรอยแผลเป็นบนใบหน้า มีอะไรบ้าง

วิธี ลบรอยแผลเป็นบนใบหน้า มีอะไรบ้าง

แผลเป็นบนใบหน้า หมายถึง รอยแดง รอยดำ รอยนูน หรือเป็นหลุมซึ่งเกิดจากสิว แผล หรืออาการบาดเจ็บ โดยเกิดจากการที่ร่างกายผลิตคอลลาเจน (Collagen) ออกมามากหรือน้อยเกินไประหว่างการฟื้นฟูบาดแผล ผู้ที่มีแผลเป็นบนใบหน้าอาจรู้สึกไม่มั่นใจ จึงต้องการ ลบรอยแผลเป็นบนใบหน้า ซึ่งมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการฉายเลเซอร์ การลอกผิว และการปลูกถ่ายผิวหนัง อย่างไรก็ตาม หากวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล คุณหมออาจแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัด

[embed-health-tool-bmr]

สาเหตุของรอยแผลเป็น มีอะไรบ้าง

รอยแผลเป็นบนใบหน้าแบบต่าง ๆ มีสาเหตุดังต่อไปนี้

  • คีลอยด์ (Keloid) เป็นสภาพผิวหนังในลักษณะรอยนูน มันเงา ไม่มีขน อาจมีสีเข้มกว่าผิวหนังโดยรอบ หรือเป็นสีแดง ม่วง เกิดจากการที่ร่างกายผลิตคอลลาเจนมากเกินไปเพื่อสมานบาดแผล จนส่งผลให้เซลล์และเนื้อเยื่อผิวหนังเจริญเติบโตผิดปกติ จนแผลที่หายแล้วกลายเป็นแผลนูนขึ้นมา และรอยแผลอาจขยายใหญ่เกินขอบของบาดแผล อาจสร้างความรำคาญใจหรืออาจรู้สึกเจ็บหากถูกเสียดสี
  • แผลเป็นนูน (Hypertrophic Scar) มักเกิดขึ้นหลังผิวหนังได้รับบาดเจ็บหรือเป็นสิวไปแล้ว 1-2 เดือน โดยเกิดจากการที่ร่างกายสร้างคอลลาเจนมากเกินไปจนทำให้เกิดรอยนูนขึ้นมาซึ่งมีลักษณะคล้ายคีลอยด์ แต่ไม่ใหญ่เกินขอบแผลเดิม นอกจากนี้ ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างแผลเป็นนูนกับคีลอยด์ คือแผลเป็นนูนมักหายขาดหลังการรักษา ส่วนคีลอยด์มักมีโอกาสเป็นซ้ำได้หลังการรักษา
  • หลุมสิว (Atrophic Acne Scar) เป็นรอยบุ๋มหรือผิวหนังที่ยุบตัวลง ทำให้ใบหน้าดูขรุขระ ไม่เรียบเนียน กิดจากร่างกายสร้างคอลลาเจนและเนื้อเยื่อได้ไม่เพียงพอหลังจากที่สูญเสียไปเมื่อเป็นสิวหรือเป็นแผล โดยทั่วไป หลุมสิวมักพบหลังเป็นสิวหัวช้างหรือสิวอักเสบในระดับรุนแรง นอกจากนี้ การบีบสิวมักเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นหลุมสิวด้วย
  • แผลเป็นหดรั้ง (Scar Contracture) มักมีสาเหตุมาจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก ทำให้ผิวหนังเกิดการตึงและดึงรั้ง หากแผลเป็นหดรั้งเกิดในลักษณะรุนแรง จะส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท อาจทำให้ผิวหนังหรืออวัยวะบิดเบี้ยวหรือผิดรูปได้

ลบรอยแผลเป็นบนใบหน้า ทำได้อย่างไรบ้าง

รอยแผลเป็นรูปแบบต่าง ๆ บนใบหน้า อาจลบออกหรือรักษาได้โดยวิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ทาผลิตภัณฑ์รักษารอยแผลเป็น เช่น เจลซิลิโคน ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้แผลเป็นยุบตัวและลดความแดงของแผลเป็น เมื่อทาแผลเป็นแล้วมักช่วยให้รอยแผลดูจางลง
  • ฉีดยาสเตียรอยด์ เป็นวิธีหนึ่งที่คุณหมอมักใช้รักษาแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ โดยการฉีดตัวยาสเตียรอยด์เข้าไปในแผลเป็น เพื่อช่วยให้แผลเป็นยุบตัวและนุ่มลง รวมทั้งช่วยรักษาอาการคันหรืออักเสบของแผลเป็น โดยทั่วไป หากต้องการเห็นผลลัพธ์ชัดเจน ควรเข้ารับการฉีดยาสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่อง
  • ฉายเลเซอร์ เป็นการกำจัดชั้นหนังกำพร้าของใบหน้าด้วยแสงเลเซอร์ และกระตุ้นชั้นหนังแท้ให้สร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ เพื่อซ่อมแซมใบหน้าในส่วนที่เป็นหลุมหรือมีสีเข้มกว่าบริเวณรอบ ๆ
  • ลอกผิวด้วยกรด เป็นการใช้กรดจำพวกกรดผลไม้หรือกรดวิตามินเอทาลงบนใบหน้าของคนไข้ เพื่อกระตุ้นให้ผิวหน้าลอก และสร้างผิวหนังที่แข็งแรงขึ้นมาใหม่ และช่วยให้ใบหน้าเรียบเนียนกว่าเดิม ซึ่งความเข้มข้นของกรดที่แตกต่างกันไปจะเหมาะสำหรับการรักษาแผลเป็นที่แตกต่างกัน
    • กรดความเข้มข้นกรดระดับต่ำ ใช้เพื่อรักษารอยแดง รอยดำชนิดตื้น ช่วยให้ใบหน้าดูกระจ่างใสขึ้น
    • ความเข้มข้นปานกลาง จะใช้เพื่อรักษาผิวหนังสีไม่สม่ำเสมอ แต่อาจไม่เหมาะในผู้ที่มีสีผิวน้ำตาลเข้ม
    • กรดความเข้มข้นสูงจะใช้สำหรับลบรอยแผลเป็นชนิดที่มีความลึกหรือรุนแรง
  • กรอผิวด้วยเกล็ดอัญมณี คือการกรอชั้นผิวหนังกำพร้าหรือผิวหนังชั้นนอกสุดที่อยู่บนใบหน้าออก ด้วยเครื่องมือกรอผิว เพื่อเผยให้เห็นชั้นผิวหนังชั้นถัดมาที่เรียบหรือเนียนกว่า วิธีนี้อาจทำให้รู้สึกเจ็บ ใบหน้าแดง และอาจทำให้ผิวหนังบอบบางไม่ทนต่อแสงแดด
  • ปลูกถ่ายผิวหนัง เป็นการผ่าตัดเพื่อนำผิวหนังจากร่างกายส่วนอื่น ๆ ที่สุขภาพดี เรียบเนียน ไม่มีรอยแผลเป็นไปชดเชยผิวหนังส่วนที่เป็นแผลเป็น มักใช้สำหรับรักษาแผลเป็นหดรั้งหรือคีลอยด์ระดับรุนแรง
  • ฉีดฟิลเลอร์ คือการฉีดสารเติมเต็มเข้าไปใต้ผิวหนัง เพื่อกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนสำหรับฟื้นฟูรอยแผลเป็น หรือทำให้หลุมสิวดูตื้นขึ้น โดยทั่วไป ฟิลเลอร์ที่คุณหมอนิยมฉีดเพื่อรักษารอยแผลเป็น ประกอบด้วยกรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) กรดพอลิแลกติก (Poly-L-lactic Acid) และไขมันจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หน้าท้อง ต้นขา สะโพก
  • การผ่าตัด เป็นการผ่าตัดนำผิวหนังบริเวณที่เป็นแผลเป็นออกจากใบหน้า แล้วเย็บผิวหนังให้ติดกัน โดยคุณหมอมักแนะนำให้คนไข้รับการผ่าตัดเฉพาะในกรณีที่การลบรอยสิววิธีอื่นใช้ไม่ได้ผล

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Scars. https://www.nhs.uk/conditions/scars/treatment/. Accessed September 20, 2022

Cosmetic Procedures: Scars. https://www.webmd.com/beauty/cosmetic-procedures-scars. Accessed September 20, 2022

การดูแลและรักษาแผลเป็น (scar). https://pharmacy.hcu.ac.th/upload/files/CPE%20HCU/2559/Scar%20Treatments.pdf. Accessed September 20, 2022

Scars. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/scars#:~:text=Steroids%20are%20injected%20directly%20into,Cryotherapy. Accessed September 20, 2022

How to Make Scars Less Visible. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/ss/slideshow-tips-to-make-scars-less-visible. Accessed September 20, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/01/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ลบรอยแผลเป็น และการดูแลผิวให้เนียนสวย ทำได้อย่างไรบ้าง

เลเซอร์แผลเป็น ผลข้างเคียง และวิธีดูแลผิวหลังเลเซอร์


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 30/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา