backup og meta

หน้าลอกเกิดจาก อะไร สาเหตุและวิธีรักษา

หน้าลอกเกิดจาก อะไร สาเหตุและวิธีรักษา

หน้าลอกเกิดจาก สาเหตุหลายประการ เช่น แสงแดด สารเคมีบางชนิด การทำทรีตเมนต์หน้า การฉายรังสี โรคผิวหนังบางชนิด ทำให้ผิวหน้าแห้งลอก เป็นขุย รู้สึกระคายเคือง โดยทั่วไปภาวะหน้าลอกสามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง เช่น ทายาต้านการอักเสบ ทาครีมที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว อย่างไรก็ตาม หากดูแลรักษาในเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม

หน้าลอกเกิดจากอะไร

ภาวะหน้าลอกอาจเกิดจากสาเหตุดังนี้

  • สารเคมี หน้าลอกอาจเกิดจากผิวหน้าสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง เกิดการระคายเคืองจนส่งผลให้ผิวอักเสบ มีผดผื่น ผิวแสบร้อน และบวมแดงร่วมด้วย สารเคมีที่อาจทำให้หน้าลอกได้ เช่น
    • สารเคมีในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน เช่น สารกันเสีย สารโพลิเมอร์ น้ำหอม สี
    • สารเคมีในงานอุตสาหกรรม เช่น สีย้อมผ้า สารละลาย
    • สารเคมีในเครื่องสำอาง เช่น ปรอท สเตียรอยด์
  • การทำทรีตเมนต์ การลอกหน้าด้วยการผลัดเซลล์ชั้นนอกด้วยเรตินอล (Retinol) หรือกรดอัลฟาไฮดรอกซีหรือเอเอชเอ (Alpha Hydroxy Acids) เพื่อผลัดเซลล์ผิวและกระตุ้นการสร้างผิวใหม่ อาจช่วยลดริ้วรอยหรือลดสิวอุดตันได้ แต่หากใช้ในปริมาณมากเกินไปก็อาจทำให้ผิวระคายเคือง และมีส่วนทำให้ผิวหน้าแห้งลอกหลังทำทรีตเมนต์ได้เช่นกัน
  • แสงแดด อีกสาเหตุที่ทำให้หน้าลอก คือการที่ผิวหน้าสัมผัสแสงแดดที่ร้อนจัดเป็นเวลานานโดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมใส่เสื้อผ้าแขนยาวปกปิดร่างกาย ไม่หลบแดดหรือกางร่มเมื่อออกไปกลางแจ้งเป็นเวลานาน หรือใช้ครีมกันแดดที่อาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ อาจทำให้ผิวหน้าแห้ง ลอก หมองคล้ำได้
  • การฉายรังสี การรักษาโรคด้วยการฉายรังสี เช่น การทำคีโม อาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่ได้รับรังสีแห้งตึง หมองคล้ำ หรือหลุดลอกได้
  • อาการแพ้ หน้าลอกอาจเกิดจากผิวหน้าสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้และระคายเคืองผิวหนัง เช่น น้ำหอม แอลกอฮอล์
  • โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) เป็นอาการอักเสบของผิวหนังเรื้อรังที่สามารถกำเริบได้เป็นระยะเมื่อถูกกระตุ้นจากสิ่งที่ก่อภูมิแพ้ ทำให้ผิวหน้าแห้งลอกเป็นขุย มีผดผื่น และอาจมีอาการคันร่วมด้วย
  • กลุ่มอาการผิวหนังลอกจากเชื้อสแตฟิโลค็อกคัส (Staphylococcal scalded skin syndrome) เป็นอาการผิวลอกที่มักพบในทารกจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ทำให้ผิวหนังอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับผิวหนังทุกส่วนในร่างกาย รวมถึงบริเวณใบหน้าด้วย
  • โรคผิวหนังลอก (Peeling skin syndrome หรือ PSS) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ผิวหนังชั้นนอกสุดลอกออก พบบ่อยในทารก
  • โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) เป็นภาวะผิวหนังอักเสบเรื้อรังจากความผิดปกติของต่อมไขมันในชั้นผิวหนัง ทำให้ผิวหนังมีผื่นแดง คัน ลอกเป็นขุย
  • โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) เป็นโรคเยื่อบุผิวหนังอักเสบที่พบได้ไม่บ่อย และพบได้มากในเด็ก ผู้ที่เป็นโรคนี้มักมีไข้สูง ปากบวม หน้าบวม และผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่นริมฝีปากแตกแห้ง ผิวหนังลอก นอกจากนี้ มักมีอาการหลอดเลือดและต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ปวดท้อง ท้องเสีย ร่วมด้วย

 วิธีรักษาภาวะผิวหน้าลอก

วิธีรักษาผิวหน้าลอก อาจมีดังนี้

  • ใช้ครีมขี้ผึ้งหรือครีมบำรุงซึ่งส่วนผสมที่อ่อนโยนต่อผิว เช่น เชียบัตเตอร์ (Shea Butter) เพื่อลดอาการผิวหน้าลอกและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว
  • ทาครีมที่มีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบของผิวหนัง เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
  • ซับหน้าหลังอาบน้ำหรือล้างหน้าด้วยผ้าขนหนูสะอาด อ่อนนุ่ม เลี่ยงการถูหรือเช็ดหน้าแรง ๆ
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและบำรุงผิวที่ไม่มีส่วนประกอบของน้ำหอม (Fragrance-free) แอลกอฮอล์ กรดแลคติก (Lactic acid) ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่อาจทำให้ผิวที่กำลังแห้งลอกระคายเคืองมากขึ้น
  • อาบน้ำด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ และใช้เวลาอาบน้ำน้อยลง เลี่ยงการอาบน้ำร้อนหรืออุ่นที่ทำให้รูขมขุนเปิดและทำให้ผิวหน้าแห้งลอกมากยิ่งขึ้น
  • ใช้เครื่องทำความชื้นในอากาศ ซึ่งเป็นเครื่องพ่นควันหรือไอ อาจช่วยให้ภายในห้องมีความชื้นมากขึ้น และอาจเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว

ผิวหน้าลอกอย่างไรควรไปพบคุณหมอ

โดยทั่วไป อาการหน้าลอก เป็นเพียงอาการชั่วคราวที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น ผิวหน้าสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ โดนแสงแดดมากเกินไป ซึ่งอาจรักษาและบรรเทาอาการเองในเบื้องต้นได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงการลอกหน้าหรือดึงผิวที่ลอกออก และปล่อยให้ร่างกายซ่อมแซมเซลล์ผิวไปตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องไปพบคุณหมอทันที อย่างไรก็ตาม หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการหน้าลอกยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะหากภูมิแพ้กำเริบ เช่น ผิวหน้าบวม ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ตาพร่ามัว หายใจไม่สะดวก มีผื่นคัน อาจต้องไปหาคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและปรึกษาวิธีรักษาเพิ่มเติม

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What to Know About Peeling Skin (Desquamation). https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/what-know-about-peeling-skin-desquamation. Accessed March 25, 2022

When Should I Call My Doctor About Skin Changes?. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/when-to-call-the-doctor-about-skin-changes. Accessed March 25, 2022

Peeling skin cause. https://www.mayoclinic.org/symptoms/peeling-skin/basics/causes/sym-20050672. Accessed March 25, 2022

Peeling skin syndrome. https://rarediseases.info.nih.gov/diseases/7347/peeling-skin-syndrome. Accessed March 25, 2022

Dermatologists’ top tips for relieving dry skin. https://www.aad.org/public/everyday-care/skin-care-basics/dry/dermatologists-tips-relieve-dry-skin. Accessed March 25, 2022

“เซ็บเดิร์ม“ หรือโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน โรคผิวหนังที่ต้องทำความรู้จัก. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/article/เซ็บเดิร์ม-หรือโรคผื่/. Accessed March 25, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/05/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีดูแลผิวหนัง ให้ผิวแข็งแรง ดูสุขภาพดี

ผิวบาง สาเหตุและวิธีป้องกันปัญหาผิว


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา