backup og meta

หน้าหย่อนคล้อย เกิดจากอะไร และวิธีทำให้ผิวกลับมาเต่งตึงอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

    หน้าหย่อนคล้อย เกิดจากอะไร และวิธีทำให้ผิวกลับมาเต่งตึงอย่างไร

    หน้าหย่อนคล้อย เหี่ยวย่น และมีริ้วรอยก่อนวัยอันควร อาจเกิดจากผิวขาดการบำรุงสม่ำเสมอ รังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด การสูบบุหรี่ หรือเซลล์ผิวเสื่อมสภาพตามช่วงอายุ อย่างไรก็ตาม หากอยากฟื้นฟูผิวให้มีสุขภาพดี กระชับเต่งตึง และดูอ่อนกว่าวัย ควรศึกษาวิธีการดูแลผิวหน้า หรือขอคำปรึกษาจากคุณหมอโดยตรง

    หน้าหย่อนคล้อย เกิดจากอะไร

    หน้าหย่อนคล้อย ที่อาจส่งผลให้มีริ้วรอยก่อนวัย อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

    • อายุมากขึ้น อาจทำให้เซลล์ผิวเสื่อมสภาพและอาจทำให้การผลิตคอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่น รวมถึงการผลิตน้ำมันบนใบหน้าลดลง ส่งผลให้ผิวหน้าแห้งกร้าน มีริ้วรอยและผิวหน้าหย่อนคล้อย
    • รังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดด อาจทำลายเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในชั้นผิวหนัง เช่น คอลลาเจน อีลาสติน (Elastin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยให้ผิวมีความยืดหยุ่น และช่วยยึดเซลล์ผิวให้เรียงตัวกัน จึงส่งผลให้ผิวหนังสูญเสียความแข็งแรง ขาดความยืดหยุ่น จนทำให้ผิวหย่อนคล้อยและเกิดริ้วรอยก่อนวัย
    • ขาดการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เพราะอาหารเหล่านี้อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเอ ที่อาจช่วยป้องกันเซลล์เสื่อมสภาพเนื่องจากอนุมูลอิสระ จึงอาจช่วยลดการเกิดริ้วรอยและผิวหย่อนคล้อย
    • การแสดงออกทางสีหน้ามากเกินไป เช่น ยิ้ม หัวเราะ เครียด เนื่องจากอาจต้องใช้กล้ามเนื้อบนผิวหน้ามากเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อผิวหน้าเสื่อมสภาพและสูญเสียความยืดหยุ่นของผิว นำไปสู่การเกิดร่องลึกใต้ผิวหนัง รอยเหี่ยวย่น และผิวหย่อนคล้อยได้
    • สูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่อาจทำลายคอลลาเจนและอีลาสตินในผิว ทำให้ผิวขาดความยืดหยุ่น นำไปสู่ปัญหาผิวหย่อนคล้อย และเกิดริ้วรอยก่อนวัย นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงที่กระทบต่อสุขภาพอีกด้วย เช่น โรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง

    วิธีแก้ไขปัญหาหน้าหย่อนคล้อย

    วิธีแก้ไขปัญหาหน้าหย่อนคล้อย อาจทำได้ดังนี้

    การแก้ไขปัญหาผิวหน้าหย่อนคล้อยด้วยตัวเอง

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ควรเน้นการรับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี หรืออาจรับประทานอาหารเสริมที่คุณหมอแนะนำ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารต่าง ๆ เช่น วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเอ ที่อาจช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระและป้องกันเซลล์ผิวเสื่อมสภาพ
  • ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไป และควรสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดผิวกายและผิวหน้า เช่น เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาว แว่นตา หมวกปีกกว้าง เพื่อปกป้องไม่ให้รังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดทำลายผิว
  • พยายามหลีกเลี่ยงการเกร็งใบหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อผิวหน้าเสื่อมสภาพ และป้องกันการเกิดริ้วรอย
  • เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันการทำลายคอลลาเจนและอีลาสติน รวมถึงป้องกันผิวแห้ง ผิวขาดน้ำ ที่อาจทำให้ผิวดูแก่ก่อนวัย
  • เลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าที่มีส่วนประกอบของเตรทติโนอิน (Tretinoin) กรดเรติโนอิก (Retinoic acid) และอะดาพาลีน (Adapalene) เพื่อกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว ทำให้ผิวเรียบเนียนขึ้น รวมถึงควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีมอยเจอร์ไรเซอร์และกรดไฮยาลูโรนิกหรือไฮยาลูรอน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหน้า ที่อาจช่วยลดความลึกของริ้วรอยและอาจช่วยป้องกันผิวหน้าหย่อนคล้อยได้
  • การแก้ไขปัญหาผิวหน้าหย่อนคล้อยด้วยวิธีทางการแพทย์

  • การรักษาด้วยเลเซอร์ อาจช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจน เพิ่มความยืดหยุ่นให้ผิว และส่งผลให้ผิวกระชับ
  • การผลัดเซลล์ผิว คุณหมออาจใช้เลเซอร์หรือสารเคมีสำหรับลอกผิว เพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าออก และกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ที่อาจทำให้ผิวดูเรียบเนียนขึ้น
  • การทำไฮฟู่ (Hifu) หรือ อัลเทอรา (Ulthera) เป็นวิธีช่วยกระชับผิวโดยส่งพลังงานความร้อนที่เรียกว่าอัลตราซาวด์ไมโครโฟกัส (MFU) ยิงเข้าสู่ผิวชั้นลึกเพื่อกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน เพิ่มความยืดหยุ่นของผิวและช่วยยกกระชับผิวหน้าหย่อนคล้อย ซึ่งอาจจำเป็นต้องเข้ารับการทำซ้ำทุก ๆ 6 เดือน ถึง 1 ปี
  • การฉีดโบท็อกซ์ ซึ่งเป็นสารที่สกัดจากแบคทีเรียสายพันธุ์คลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) ที่อาจช่วยป้องกันกล้ามเนื้อหดตัว และช่วยแก้ไขปัญหาริ้วรอยบนใบหน้าและผิวหน้าหย่อนคล้อยได้ประมาณ 6 เดือน
  • การผ่าตัดยกกระชับผิวหน้า เป็นวิธีสุดท้ายที่คุณหมอเลือกใช้รักษาในผู้ที่มีผิวหน้าหย่อนคล้อยไม่ตอบสนองต่อการรักษาในรูปแบบอื่น โดยคุณหมอจะทำการผ่าตัดผิวหนังและไขมันส่วนเกินออกเพื่อช่วยยกกระชับผิวหน้าให้เรียบตึง ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้เวลาพักฟื้นหลายวัน
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา