backup og meta

เลเซอร์หน้าใส ประโยชน์ และผลข้างเคียง

เลเซอร์หน้าใส ประโยชน์ และผลข้างเคียง

เลเซอร์หน้าใส เป็นการแก้ปัญหาผิวหน้าอย่างสิว จุดด่างดำ แผลเป็น และริ้วรอยแห่งวัยต่าง ๆ ด้วยการฉายแสงเลเซอร์ลงบนใบหน้า เพื่อกำจัดสิว ผลัดเซลล์ผิว และกระตุ้นการสร้างผิวใหม่ให้ผิวหน้าเรียบเนียนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การทำเลเซอร์หน้าใสอาจมีผลข้างเคียง ได้แก่ ใบหน้าบวม สีผิวเข้มขึ้นหรือจางลงเฉพาะจุด หรือเกิดการติดเชื้อ แม้เลเซอร์หน้าใสจะเป็นที่นิยม แต่อาจไม่เหมาะกับทุกคน ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการทำเลเซอร์หน้าใส ได้แก่ ผู้ที่มีผิวเข้ม หญิงตั้งครรภ์ หญิงในระยะให้นมบุตร และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

[embed-health-tool-bmi]

เลเซอร์หน้าใส คืออะไร

เลเซอร์หน้าใส เป็นการฉายเลเซอร์ลงบนใบหน้า เพื่อแก้ปัญหาผิวหน้า เช่น จุดด่างดำ รอยเหี่ยวย่น แผลเป็น สิว ทำให้ใบหน้าดูกระจ่างใสหรือลดเลือนริ้วรอยให้ใบหน้าแลดูอ่อนกว่าวัย

ในกรณีของสิว การฉายแสงเลเซอร์จะช่วยลดการอักเสบหรือบวมแดงโดยทำให้สิวค่อย ๆ ยุบตัวลง นอกจากนี้ แสงเลเซอร์ยังมีคุณสมบัติกำจัดไขมันที่อุดตันในรูขุมขนรวมถึงฆ่าเชื้อแบคทีเรียพี แอคเน่  (P. Acne หรือ Propionibacterium Acne) ที่เป็นต้นเหตุของสิว

อย่างไรก็ตาม การทำเลเซอร์หน้าใสอาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน โดยผู้ที่ไม่ควรรักษาผิวหน้าด้วยเลเซอร์หน้าใส ได้แก่

  • ผู้ที่มีผิวสีเข้มมาก เนื่องจากมักพบการเปลี่ยนแปลงของสีผิวแบบถาวรหลังจากการฉายแสงเลเซอร์ โดยกรณีนี้ พบบ่อยกว่าผู้ที่มีผิวสีอ่อนกว่า
  • ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • ผู้ที่เคยเป็นโรคเริม หรือมีแนวโน้มเป็นโรคเริมหลังจากการรักษา
  • หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงในระยะให้นมบุตร

ประเภทของเลเซอร์หน้าใส

เลเซอร์หน้าใสแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

  1. เลเซอร์ลอกผิว (Ablative Laser Resurfacing) เป็นลำแสงความเข้มข้นสูงที่ฉายลงบนผิวหนัง และกระตุ้นการสร้างโปรตีนคอลลาเจน (Collagen) ในผิวหนังขึ้นมาทดแทน โดยผิวที่สร้างใหม่มักเรียบเนียน กระชับ ไม่หย่อนคล้อย ทั้งนี้ เลเซอร์ในกลุ่ม เลเซอร์ลอกผิว ประกอบด้วย เลเซอร์ชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Laser) และเออร์เบียม เลเซอร์ (Erbium Laser)
  2. เลเซอร์ที่ไม่ทำให้เป็นแผล (Non-ablative Laser) เป็นเลเซอร์ที่ฉายลงบนใบหน้า โดยไม่ทำให้ผิวลอกหรือใบหน้าเสียหาย ด้วยวิธีกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนให้ผิวหน้าเรียบและกระชับขึ้น เพื่อให้สีผิวเรียบเนียนและสม่ำเสมอกว่าเดิม นอกจากนั้น การทำเลเซอร์หน้าใสชนิดนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่องประมาณ 3 ครั้ง เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่ค่อนข้างชัดเจน

เลเซอร์หน้าใส มีขั้นตอนอย่างไร

การทำเลเซอร์หน้าใสมีขั้นตอนเบื้องต้นดังนี้

  • คุณหมออาจฉีดยาชาหรือแปะแผ่นยาชาบริเวณใบหน้า โดยอาจทำให้ชาเพียงบางส่วน หรือทั้งใบหน้า ขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการฉายแสงเลเซอร์
  • คุณหมอจะปิดตาคนไข้ด้วยแว่นป้องกันแสงเลเซอร์หรือผ้าปิดตา เพื่อป้องกันดวงตาเสียหายจากแสงเลเซอร์
  • ฉายแสงเลเซอร์บริเวณที่มีปัญหาผิว เช่น สิว จุดด่างดำ ริ้วรอย โดยการรักษาแต่ละครั้ง มักอาจใช้เวลาประมาณ 30 นาที-2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสภาพผิว
  • เมื่อฉายเลเซอร์หน้าใสเรียบร้อยแล้ว คุณหมอจะปิดผิวบริเวณที่รับการรักษาด้วยผ้ากอซ แล้วอนุญาตให้กลับบ้าน

เลเซอร์หน้าใส มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเลเซอร์หน้าใส  มีดังต่อไปนี้

  • อาการอักเสบ บวม แดง ของใบหน้า ซึ่งจะค่อย ๆ หายเองหลังทำเลเซอร์หน้าใส หากบริเวณดวงตามีอาการบวม คุณหมอจะจ่ายยาสเตียรอยด์ (Steroid) ให้รับประทาน
  • อาการคัน เกิดขึ้นประมาณ 12-72 ชั่วโมง หลังจากการทำเลเซอร์หน้าใส
  • ผิวแห้งและลอก ช่วง 5-7 วันแรกหลังจากทำเลเซอร์
  • ผิวหนังสีเข้มขึ้น ซึ่งรักษาด้วยการทาบลีชชิง ครีม (Bleaching Cream) เพื่อเร่งให้ผิวหนังส่วนที่เข้มขึ้นมีสีจางลง อย่างไรก็ตาม อาจมีบางรายที่สีผิวเข้มขึ้นหลังการทำเลเซอร์ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ และทำให้สีผิวเข้มคงอยู่ถาวร
  • การติดเชื้อโรคเริม หรือแบคทีเรียบนใบหน้า ซึ่งสามารถป้องกันได้ ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะก่อนและหลังการทำเลเซอร์
  • สิว เนื่องจากการอุดตันของรูขุมขนบริเวณที่ปิดผ้ากอซไว้หลังจากการฉายแสงเลเซอร์

ดูแลตัวเองอย่างไรหลังเลเซอร์หน้าใส

หลังจากการทำเลเซอร์หน้าใส ควรดูแลผิวหน้าตนเองตามคำแนะนำต่อไปนี้ จนกว่าผิวหน้าจะฟื้นฟูเป็นปกติ

  • หลีกเลี่ยงการออกไปเผชิญแสงแดด หรือเลือกทาครีมกันแดดที่มี SPF 50 ขึ้นไป ก่อนออกนอกบ้าน
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อให้ผิวได้รับความชุ่มชื้นอย่างต่อเนื่อง และควรทาครีม ปิโตรเลียมเจล หรือมอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่อ่อนโยนต่อผิวตามคำแนะนำของคุณหมอ
  • งดการสัมผัสใบหน้าโดยไม่จำเป็น และล้างหน้าอย่างเบามือ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Laser resurfacing. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/laser-resurfacing/about/pac-20385114. Accessed June 23, 2022

What to Know About Milia. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/what-to-know-about-milia#:~:text=Milia%20are%20tiny%20white%20bumps,%25%20to%2050%25%20of%20newborns. Accessed June 23, 2022

Laser Skin Resurfacing. https://www.webmd.com/beauty/laser-skin-resurfacing. Accessed June 23, 2022

Laser Skin Resurfacing: Top 8 Things You Need to Know. https://www.americanboardcosmeticsurgery.org/skin-resurfacing/the-top-8-things-you-need-to-know-about-laser-skin-resurfacing/. Accessed June 23, 2022

Laser Resurfacing. https://www.webmd.com/beauty/laser-resurfacing. Accessed June 23, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/01/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

เลเซอร์สิว ประเภท ข้อดีข้อเสีย และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

เลเซอร์ขน เพื่อผิวที่เรียบเนียน มีประโยชน์ และข้อควรระวังอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา