backup og meta

Salicylic Acid คือ อะไร มีประโยชน์อย่างไรกับผิวหนัง

Salicylic Acid คือ อะไร มีประโยชน์อย่างไรกับผิวหนัง

กรดซาลิไซลิก หรือ Salicylic Acid คือ ตัวยาชนิดหนึ่งสำหรับใช้หยดหรือทาลงบนผิวหนังเพื่อป้องกันสิว มีคุณสมบัติในการช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว รวมถึงกำจัดไขมันที่อุดตันในรูขุมขนซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการเกิดสิว กรดซาลิไซลิกเป็นยาสำหรับใช้ภายนอกเท่านั้น ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย ผ่านรูจมูก ช่องปาก หรือบาดแผลบนผิวหนัง นอกจากนั้น การใช้กรดซาลิไซลิกอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงโดยทำให้ผิวหนังระคายเคือง แห้ง หรือลอกได้ รวมถึงเป็นสาเหตุของอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น ผื่นขึ้น คัน หายใจลำบาก ก่อนใช้จึงควรศึกษาถึงประโยชน์และข้อควรระวังให้ละเอียด

[embed-health-tool-bmr]

Salicylic Acid คืออะไร

Salicylic Acid คือ สารเคมีประเภทกรดที่มักพบในรูปแบบของครีมหรือยาใช้ภายนอก มีคุณสมบัติในการช่วยลดสิว โดยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว และกำจัดไขมันที่อุดตันในรูขุมขน นอกจากนั้น กรดซาลิไซลิก ยังมีสรรพคุณยับยั้งการอักเสบหรือบวมแดงของเม็ดสิว จึงอาจช่วยให้สิวยุบตัวลงเร็วขึ้น

นอกจากนี้ กรดซาลิไซลิก ยังใช้ทาเพื่อรักษาภาวะผิวหนังต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตกสะเก็ดของผิวหนัง หรือการเพิ่มจำนวนของผิวหนังที่ผิดปกติ เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคหนังเกล็ดปลา รังแค ตาปลา หูดบริเวณมือหรือเท้า

การใช้ Salicylic Acid

โดยปกติ กรดซาลิไซลิก ในรูปแบบครีม โลชั่น เจล หรือสารละลาย จะใช้สำหรับทาบาง ๆ บนผิวหนังบริเวณที่ต้องการวันละ 1-2 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของคุณหมอ ควรทำความสะอาดผิวหนังให้สะอาด และเช็ดให้แห้งก่อน นอกจากนี้ เมื่อหยดหรือทากรดซาลิไซลิกลงบนผิวหนังแล้ว ควรใช้นิ้วนวดเบา ๆ เพื่อผลักตัวยาให้ซึมซาบลงสู่ผิวด้วย

ผลข้างเคียงในการใช้ Salicylic Acid คืออะไรบ้าง

การใช้กรดซาลิไซลิกในการรักษาอาการทางผิวหนังต่าง ๆ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงดังนี้

  • ผิวหนังแห้ง ลอก แสบ หรือแดง ในช่วงแรก ๆ ของการรักษา ทั้งนี้ หากอาการข้างเคียงจากการใช้กรดซาลิไซลิกแย่ลงหรือรุนแรงขึ้น ควรรีบแจ้งคุณหมอหรือเภสัชกร และควรหยุดใช้
  • เกิดอาการแพ้ เช่น ผื่นขึ้น คันบริเวณผิวหนัง หายใจลำบาก วิงเวียน หน้าหรือคอบวม ควรหยุดใช้ทันที อย่างไรก็ตาม อาการแพ้กรดซาลิไซลิกพบได้น้อยมาก

นอกจากนี้ การใช้กรดซาลิไซลิกในปริมาณมากเกินไป หรือบริโภคเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้มีอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น มึนงง เหนื่อย หมดแรง ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียการได้ยิน ดังนั้น ผู้ที่ใช้กรดซาลิไซลิกควรระมัดระวังและสังเกตตนเองว่ามีอาการใด ๆ หรือไม่ขณะใช้หรือหลังใช้

ข้อควรระวังในการใช้ Salicylic Acid คือ อะไรบ้าง

ก่อนตัดสินใช้กรดซาลิไซลิก ควรศึกษาข้อมูลและอ่านฉลากบนผลิตภัณฑ์ให้ละเอียด รวมทั้งข้อควรระวัง ดังต่อไปนี้

  • ไม่ควรใช้กับผิวหนังบริเวณที่เป็นอีสุกอีใส เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการในกลุ่มอาการราย (Reye’s Syndrome) เช่น สับสน เซื่องซึม อาเจียนอย่างรุนแรง
  • กรดซาลิไซลิกเป็นยาใช้ภายนอกเท่านั้น และควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวยาสัมผัสกับบริเวณผิวหนังที่บอบบาง เช่น ดวงตา จมูก ปาก ขาหนีบ หรือบาดแผลบนผิวหนัง ทั้งนี้ หากสัมผัสโดนตัวยา ควรล้างผิวหนังบริเวณดังกล่าวด้วยน้ำซ้ำ ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที
  • ไม่ควรใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะผิวหนังของเด็กดูดซึมกรดซาลิไซลิกได้มากกว่าผู้ใหญ่ จึงอาจทำให้เสี่ยงพบอาการระคายเคืองได้มากกว่า
  • หากตั้งครรภ์ ควรใช้กรดซาลิไซลิกเมื่อจำเป็นเท่านั้น และควรใช้ภายใต้คำแนะนำของคุณหมอหรือเภสัชกร
  • หากลืมใช้กรดซาลิไซลิกในการรักษา ให้รีบใช้ทันทีเมื่อนึกได้ แต่หากนึกได้ใกล้รอบการใช้ครั้งถัดไป ให้ใช้เพียงรอบเดียว โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณกรดซาลิไซลิก

การเก็บรักษา Salicylic Acid

เมื่อใช้กรดซาลิไซลิกเรียบร้อยแล้ว ควรปิดฝาภาชนะให้แน่น เก็บในอุณหภูมิห้องที่ไม่ร้อนหรือชื้นมากเกินไป วางให้ห่างจากมือเด็ก และหลีกเลี่ยงการวางไว้ในบริเวณที่แสงแดดส่องถึง

ทั้งนี้ การทิ้งกรดซาลิไซลิก ควรใส่ภาชนะปิดฝาให้มิดชิด และต้องแน่ใจว่าปลอดภัย ไม่อยู่ในจุดเสี่ยงที่เด็ก สัตว์เลี้ยง หรือผู้อื่น เผลอนำไปบริโภคเพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Salicylic Acid (Topical Route). https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/salicylic-acid-topical-route/description/drg-20066030. Accessed February 28, 2023

Salicylic Acid Gel – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-18-193/salicylic-acid-topical/salicylic-acid-for-acne-topical/details. Accessed February 28, 2023

Salicylic Acid Topical. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a607072.html#:~:text=Topical%20salicylic%20acid%20is%20also,calluses%2C%20and%20warts%20on%20the. Accessed February 28, 2023

Over-the-counter Acne Treatments. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3366450/. Accessed February 28, 2023

salicylic acid. https://www.britannica.com/science/salicylic-acid. Accessed February 28, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/02/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาคุมลดสิว ประโยชน์และผลข้างเคียงของการรักษาสิวด้วยฮอร์โมน

เลเซอร์สิว ประเภท ข้อดีข้อเสีย และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา