backup og meta

ตากุ้งยิง อาการ และวิธีการรักษา

ตากุ้งยิง อาการ และวิธีการรักษา

ตากุ้งยิง เป็นอาการที่สังเกตได้จากก้อนนูนแข็งบริเวณเปลือกตา และอาจมีหนองภายใน ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ตากุ้งยิงมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายและเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่อาจรบกวนการมองเห็นและการใช้ชีวิตได้ ดังนั้น หากมีอาการตากุ้งยิง จึงควรพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจทันทีที่สังเกตว่าเริ่มมีอาการคันรอบ เปลือกตา เจ็บตา และมีตุ่มนูนเกิดขึ้นบริเวณเปลือกตาและโดยรอบ

ตากุ้งยิง คืออะไร

ตากุ้งยิง คือ ก้อนนูนที่อยู่บริเวณเปลือกตา สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งภายนอกและภายในเปลือกตา มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ที่ต่อมน้ำมันบริเวณเปลือกตา หรืออาจเกิดจากเซลล์ผิวเก่า และสิ่งสกปรกเข้าไปอุดตันในต่อมน้ำมันจนเกิดการอักเสบ โดยอาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้

  • การล้างเครื่องสำอางไม่สะอาด โดยเฉพาะบริเวณรอบดวงตา
  • การใช้อุปกรณ์แต่งหน้าร่วมกับผู้อื่น หรือไม่ทำความสะอาดอุปกรณ์แต่งหน้าเป็นเวลานาน เพราะอาจส่งผลให้มีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย
  • การใส่คอนแทคเลนส์และล้างคอนแทคเลนส์ไม่สะอาด
  • การใช้มือที่ไม่สะอาดสัมผัสบริเวณดวงตา
  • ภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น  โรคต่อมไขมันอักเสบ เปลือกตาอักเสบ โรคโรซาเซีย เกล็ดกระดี่ขึ้นตา (โรคขาดวิตามินเอ) และโรคเบาหวาน

ประเภทของตากุ้งยิง

ตากุ้งยิงมี 2 ประเภท ดังนี้

  1. ตากุ้งยิงชนิดเจ็บ (Hordeolum) เกิดขึ้นจากการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตาและโคนขนตา ส่งผลให้เกิดก้อนนูนแดงและมีอาการอักเสบ ทำให้รู้สึกเจ็บปวด
  2. ตากุ้งยิงชนิดไม่เจ็บ (Chalazion) เกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันไมโบเมียน (Meibomian) ที่อยู่บริเวณเปลือกตา ส่งผลให้เป็นก้อนนูนขนาดเล็ก บวมแดง ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด แต่อาจทำให้ระคายเคืองดวงตา

อาการของตากุ้งยิงเป็นอย่างไร

อาการของตากุ้งยิง อาจสังเกตได้ดังนี้

  • มีตุ่มนูนแข็งเกิดขึ้นบริเวณเปลือกตา และอาจมีหนองอยู่ด้านใน บางคนอาจรู้สึกเจ็บบริเวณตุ่มนูน
  • เปลือกตาบวมแดง
  • รู้สึกเหมือนมีอะไรเข้าตา หรือมีอาการคันตา
  • น้ำตาไหลจากการระคายเคือง

ปกติแล้วตากุ้งยิงจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากสังเกตว่ามีอาการแย่ลงและส่งผลกระทบต่อการมองเห็น เช่น ตาไวต่อแสง ตาพร่ามัว ควรพบคุณหมอทันที

วิธีรักษาอาการ ตากุ้งยิง

วิธีรักษาเมื่อเป็นตากุ้งยิง มีดังนี้

  • ยาปฏิชีวนะ คุณหมออาจแนะนำยาหยอดตาหรือครีมทาบริเวณเปลือกตา เพื่อต้านเชื้อแบคทีเรีย
  • ยาแก้ปวด ผู้ที่มีอาการปวดอาจรับประทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน พาราเซตามอล สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจเสี่ยงเป็นโรคไรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome)
  • ประคบร้อน นำผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นและวางลงบนเปลือกตาเป็นเวลา 10-15 นาที โดยควรทำ 3-5 ครั้ง/วัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการอักเสบ และทำให้ต่อมไขมันเปิดเพื่อระบายหนองออก
  • นวดเปลือกตา ล้างมือให้สะอาดและนวดบริเวณตุ่มตากุ้งยิงเบา ๆ เพื่อกระตุ้นให้ต่อมไขมันเปิด และช่วยระบายหนองออก
  • ประคบด้วยถุงชา ควรเลือกเป็นชาดำเพราะอาจมีคุณสมบัติช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและลดอาการบวม โดยนำถุงชาไปต้มประมาณ 1 นาที รอจนกว่าถุงชาจะอุ่น และนำมาประคบบริเวณเปลือกตา 5-10 นาที สำหรับผู้ที่เป็นตากุ้งยิงทั้ง 2 ข้างพร้อมกันควรใช้ถุงชาคนละถุงในการประคบ
  • น้ำมันมะพร้าว อาจช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา อีกทั้งยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยนำน้ำมันมะพร้าวหยดลงบนสำลี ประคบบริเวณตุ่มนูนไว้ 15 นาที แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำอุ่น ควรทำซ้ำอย่างน้อย 3-5 ครั้ง/วัน
  • ยาสเตียรอยด์ ใช้ในกรณีที่มีก้อนนูนและมีอาการบวมมาก เพื่อช่วยลดอาการบวม
  • การผ่าตัด คุณหมออาจทำการผ่าตัดเพื่อระบายหนองในตากุ้งยิงในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการตากุ้งยิงแย่ลงจนส่งผลต่อการมองเห็น และอาจขอเก็บตัวอย่างหนองหรือเนื้อเยื่อไปวินิจฉัยเพื่อตรวจดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ อีกหรือไม่

ในระหว่างการรักษาตากุ้งยิง ควรหลีกเลี่ยงการแต่งหน้าและการใส่คอนแทคเลนส์ จนกว่าอาการจะหายสนิท

การป้องกันการเกิดอาการ ตากุ้งยิง

ตากุ้งยิงสามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสบริเวณเปลือกตา และไม่ควรขยี้ตาเนื่องจากอาจทำให้เกิดการอักเสบ
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังใส่คอนแทคเลนส์ ล้างทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ทุกครั้ง และควรทิ้งคอนแทคเลนส์ที่ใส่ระหว่างติดเชื้อตากุ้งยิงเพราะอาจมีแบคทีเรียสะสมอยู่
  • ล้างเครื่องสำอางให้สะอาดก่อนนอน โดยเฉพาะบริเวณเปลือกตา
  • ควรเปลี่ยนเครื่องสำอางอย่างน้อยทุก ๆ 3 เดือน และไม่ควรใช้เครื่องสำอางที่หมดอายุ
  • ไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า แปรงและฟองน้ำแต่งหน้า
  • ทำความสะอาดอุปกรณ์แต่งหน้าบ่อย ๆ

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hordeolum (stye). https://www.aoa.org/healthy-eyes/eye-and-vision-conditions/hordeolum?sso=y. Accessed April 05, 2022

Hordeolum (Stye). https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/hordeolum-stye. Accessed April 05, 2022

Stye. https://www.nhs.uk/conditions/stye/. Accessed April 05, 2022

What Is a Stye?. https://www.webmd.com/eye-health/understanding-stye-basics. Accessed April 05, 2022

What Are Styes and Chalazia?. https://www.aao.org/eye-health/diseases/what-are-chalazia-styes. Accessed April 05, 2022

Styes in Children. https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=stye-hordeolum-90-P02102. Accessed April 05, 2022

How to Get Rid of a Stye: Remedies and Treatments. https://www.webmd.com/eye-health/remedies-stye. Accessed April 05, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

05/04/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

3 สูตรมาสก์หน้าสำหรับ ผิวหน้าแห้ง

ตาตุ่มด้าน เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 05/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา