ตุ่มแดงขึ้นตามตัว ไม่คัน เป็นลักษณะร่วมของอาการทางผิวหนังหลายชนิด เช่น ขนคุด ผดร้อน เนื้องอกของเส้นใยในผิวหนัง แอนจิโอมา (Angioma) ซึ่งมักไม่ก่อให้เกิดอันตราย และอาการบางอย่างอาจหายเองได้ สาเหตุการเกิดขนคุด เนื้องอกของเส้นใยในผิวหนัง และแอนจิโอมาไม่เป็นที่แน่ชัด ดังนั้น จึงอาจป้องกันได้ยาก ส่วนผดร้อนนั้นอาจป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดโดยตรง รวมถึงดูแลรักษาความสะอาดร่างกายเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อเหงื่อออกมากหรือหลังออกกำลังกาย
[embed-health-tool-bmi]
ตุ่มแดงขึ้นตามตัว ไม่คัน เป็นอาการของโรคอะไร
ตุ่มแดงขึ้นตามตัว ไม่คัน อาจเป็นอาการทางผิวหนัง ดังต่อไปนี้
- ขนคุด เกิดจากโปรตีนเคราติน (Keratin) ในผิวหนังเพิ่มจำนวนมากผิดปกติจนไปปิดกั้นรูขุมขนและทำให้เป็นตุ่มบวม ขนจึงไม่สามารถงอกออกมาได้ สาเหตุอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ผู้ที่มีขนคุดมักมีสมาชิกในครอบครัวที่มีขนคุดเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ขนคุดยังพบได้ในผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน
- เนื้องอกของเส้นใยในผิวหนัง เป็นการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเนื้อเยื่อระหว่างผิวหนังชั้นนอกและชั้นใน เกิดเป็นตุ่มแดงขึ้นตามตัว ไม่คัน หรืออาจเป็นสีชมพู น้ำตาล หรือดำ ขนาดประมาณ 0.5-5 เซนติเมตรขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณขา โดยยังไม่ทราบถึงสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่บางครั้งพบอาการนี้ในผู้ที่ถูกฉีดยา โดนแมลงกัดต่อย หรือหนามกุหลาบตำ และมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
- แอนจิโอมา เป็นตุ่มสีแดงเข้มหรืออ่อนบนผิวหนัง มีรูปร่างกลม และเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-5 มิลลิเมตร ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่ อาจเกิดจากวัยที่เพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ การกลายพันธุ์ของยีน และการสัมผัสกับสารเคมีบางชนิด
- ผดร้อน เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อใต้ผิวหนัง เมื่ออากาศร้อน ออกกำลังกายอย่างหนัก หรือห่มผ้าห่มเป็นเวลานาน มักส่งผลให้เหงื่อไม่ถูกขับออกจากร่างกาย ทำให้เกิดตุ่มน้ำเล็ก ๆ หรือตุ่มแดงขึ้นตามตัว ไม่คัน ทั้งนี้ ผดร้อนชนิดอ่อนที่เป็นตุ่มน้ำอาจแตกง่ายเพียงใช้มือลูบหรือเกา
ตุ่มแดงขึ้นตามตัว ไม่คัน รักษาอย่างไร
ขนคุด เนื้องอกของเส้นใยในผิวหนัง แอนจิโอมา และผดร้อน มักไม่มีอาการรุนแรงและไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง โดยเฉพาะขนคุดและผดร้อน อาจหายได้เอง
ส่วนเนื้องอกของเส้นใยในผิวหนังและแอนจิโอมา อาจเข้ารับการรักษา หากรู้สึกกังวล ไม่มั่นใจ ทำให้ไม่สบายตัว หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อาจรักษาได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- การผ่าตัด วิธีนี้อาจทำให้เกิดแผลเป็นเนื่องจากเนื้องอกอยู่ลึกในชั้นผิวหนัง ควรปรึกษาคุณหมอก่อนตัดสินใจ
- บำบัดด้วยความเย็น หรือการสเปรย์ผิวหนังบริเวณที่เป็นตุ่มแดงด้วยไนโตรเจนเหลว เพื่อให้เกิดแผลแล้วปล่อยให้ผิวหนังสมานตัวเอง เมื่อแผลแห้งสนิทจะตกสะเก็ดแล้วหลุดลอกออกไปตามธรรมชาติ ทั้งนี้ การบำบัดด้วยความเย็นอาจต้องเข้ารับบริการมากกว่า 1 ครั้งเพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจน
- จี้ออกด้วยเลเซอร์ เป็นการผ่าตัดเล็กโดยใช้ความร้อนจากแสงเลเซอร์จี้บริเวณผิวหนังที่เป็นตุ่มแดงให้หลุดออก