น้ำกัดเท้า หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า ฮ่องกงฟุต เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อรา ซึ่งอาจพบได้มากในฤดูฝนหรือสภาพแวดล้อมที่มีความอับชื้น โดยส่งผลกระทบให้เกิดอาการคันบริเวณฝ่าเท้าและซอกนิ้วเท้า ผิวลอก และแผลพุพอง หากมีอาการดังกล่าวควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากโรคน้ำกัดเท้าสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ผ่านการสัมผัสโดยตรงหรือใช้ของร่วมกัน เช่น พรมเช็ดเท้า ถุงเท้า
[embed-health-tool-bmi]
น้ำกัดเท้า คืออะไร
น้ำกัดเท้า คือ โรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophytes) ที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมอับชื้นและอบอ้าว เช่น สระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำสาธารณะ บริเวณที่มีน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะผู้ที่ชอบเดินเท้าเปล่าไม่สวมใส่รองเท้าป้องกันและไม่ทำความสะอาดเท้าหลังจากสัมผัสกับพื้นที่อาจมีเชื้อโรค
นอกจากนี้ ยังอาจมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่เป็นตัวกระตุ้นให้เชื้อราเจริญเติบโต ได้แก่
- สวมถุงเท้าหรือรองเท้าที่คับและรัดจนเกินไป ส่งผลให้เหงื่อออกมาก เท้าอับชื้น และเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อรา
- ไม่ทำความสะอาดพรมเช็ดเท้าหรือรองเท้าบ่อย ๆ ทำให้มีการสะสมของคราบเหงื่อและสิ่งสกปรก ที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อรา จนนำไปสู่การติดเชื้อ
- มีประวัติการติดเชื้อราที่เล็บ
- เป็นโรคเบาหวาน หรือมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ที่ส่งผลให้ร่างกายมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อราต่ำ
- ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น รองเท้า ถุงเท้า ผ้าปูที่นอน
น้ำกัดเท้ามีอาการอย่างไร
อาการน้ำกัดเท้า อาจมีดังนี้
- ผิวลอกเป็นขุยและผิวแตกในบริเวณฝ่าเท้าและซอกนิ้วเท้า
- อาการคัน ระคายเคือง และรู้สึกแสบที่ฝ่าเท้าหรือซอกนิ้วเท้า
- แผลพุพอง
- เล็บเท้าเปราะบาง เล็บเปลี่ยนสี
- เท้ามีกลิ่นเหม็น
ควรพบคุณหมออย่างรวดเร็วเมื่อสังเกตว่ามีแผลพุพอง มีหนองไหลออกจากแผล มีไข้ เท้าบวม อาการลุกลามไปถึงบริเวณขาหนีบ หรือหากอาการที่เป็นอยู่ไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ แม้ว่าจะได้รับการรักษาด้วยยาต้านเชื้อรา
วิธีรักษาน้ำกัดเท้า
วิธีรักษาน้ำกัดเท้า อาจทำได้ดังนี้
- ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ใช้รักษาการติดเชื้อราที่ผิวหนัง เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรทำความสะอาดบริเวณผิวที่ได้รับผลกระทบและซับน้ำให้แห้งก่อนทายา ปกติแล้วควรทาวันละ 2 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด
- ยาอีโคนาโซล (Econazole) ใช้สำหรับรักษาโรคผิวหนังติดเชื้อรา เช่น น้ำกัดเท้า กลาก เกลื้อน เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรทำความสะอาดบริเวณที่ได้รับผลกระทบและซับผิวให้แห้งก่อนทายา คุณหมออาจแนะนำให้ทาวันละ 1-2 ครั้ง
- ยาไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) ใช้รักษาโรคผิวหนังติดเชื้อรา เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรทำความสะอาดบริเวณที่ได้รับผลกระทบและซับผิวให้แห้งก่อนทายาบาง ๆ วันละ 2 ครั้ง
- ยาไมโคนาโซล (Miconazole) คือยาที่ใช้เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรทำความสะอาดบริเวณที่ได้รับผลกระทบและซับผิวให้แห้งก่อนทายา คุณหมออาจแนะนำให้ทาวันละ 2 ครั้ง ยานี้อาจมีในรูปแบบสเปรย์ ควรเขย่าขวดก่อนใช้และควรระวังไม่ให้ละอองยาเข้าดวงตา จมูก และปาก
- ยาซูลโคนาโซล (Sulconazole) ใช้รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรา เพื่อช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรทำความสะอาดบริเวณที่ได้รับผลกระทบและซับผิวให้แห้ง ๆ และควรทายาวันละ 1-2 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด
- ยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) เป็นยาต้านเชื้อราในรูปแบบรับประทาน ใช้เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรรับประทานวันละ 1 ครั้ง หรือตามที่คุณหมอกำหนด
- ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) เป็นยาต้านเชื้อราในรูปแบบรับประทาน ใช้เพื่อช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยควรรับประทานยาพร้อมอาหาร วันละ 1-2 ครั้ง ควรรับประทานยาทั้งเม็ด ไม่ควรแบ่งยา สำหรับผู้ที่รับประทานยาลดกรดควรรับประทานยาไอทราโคนาโซลหลังจากรับประทานยาลดกรด 1-2 ชั่วโมง เพราะยาลดกรดอาจลดประสิทธิภาพการดูดซึมยา
น้ำกัดเท้ามีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง
วิธีป้องกันน้ำกัดเท้า อาจทำได้ดังนี้
- ทำความสะอาดเท้าและซอกเท้าด้วยน้ำสะอาดและสบู่เป็นประจำ อีกทั้งควรเช็ดเท้าและซอกนิ้วเท้าให้แห้งสนิท เพื่อลดการอับชื้น
- สวมรองเท้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่คับแน่นเกินไป
- ทำความสะอาดรองเท้าเป็นประจำเพื่อลดการสะสมของเชื้อรา
- หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าหรือถุงเท้าร่วมกับผู้อื่น เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อราได้
- สวมรองเท้าแตะ หรือรองเท้ากันน้ำ เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้องสัมผัสกับน้ำโดยตรง เช่น บริเวณสระว่ายน้ำ ถนนที่มีน้ำท่วมขัง ห้องอาบน้ำ ห้องซาวน่า
- ตัดเล็บเท้าให้สั้นเพื่อลดการสะสมของเชื้อราในซอกเล็บ