backup og meta

ปากกระจับ ความเสี่ยง และการดูแลหลังผ่าตัด

ปากกระจับ ความเสี่ยง และการดูแลหลังผ่าตัด

ปากกระจับ เป็นการทำศัลยกรรมริมฝีปากให้เป็นรูปทรงเกาลัด ที่กำลังได้รับความนิยม โดยปรับให้ริมฝีปากบนมีลักษณะโค้งงอนเหมือนกับคันธนู ทำให้ริมฝีปากบนเผยอขึ้นให้เห็นฟันบนเล็กน้อย ช่วยให้ใบหน้าแลดูอ่อนเยาว์มากขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจมีจุดประสงค์เพื่อลดขนาดริมฝีปาก ปรับรูปร่าง เสริมรอยยิ้ม และอาจช่วยแก้ไขลักษณะริมฝีปากผิดรูปได้ อย่างไรก็ตาม ก่อนทำปากกระจับควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล

ปากกระจับ คืออะไร

ปากกระจับ คือ การทำศัลยกรรมปากบางรูปทรงเกาลัดเพื่อเปลี่ยนให้ ริมฝีปากบนมีลักษณะโค้งงอนเหมือนคันธนู และเผยให้เห็นฟันบนเล็กน้อย ทำให้ดูอ่อนวัย เหมาะกับผู้ที่มีเนื้อปากค่อนข้างหนา หรือมีรูปทรงไม่สวยงาม นอกจากนี้ ยังอาจช่วยแก้ไขลักษณะริมฝีปากผิดรูป เช่น ริมฝีปากติดเชื้อ มีเนื้องอก การอักเสบที่ริมฝีปากที่ทำให้เนื้อปากบวมหนาและเป็นแผลเป็น ในปัจจุบันนิยมทำในผู้ที่มีริมฝีปากไม่รับกับหน้า และต้องการเสริมความมั่นในใจให้ใบหน้าดูมีเสน่ห์ยิ่งขึ้น

จากรายงานแบบสอบถามที่ตีพิมพ์ในวารสาร Plastic and Reconstructive Surgery ปี พ.ศ. 2561 เกี่ยวกับการทำศัลยกรรมลดขนาดริมฝีปากในประเทศไทย ที่สอบถามผู้ที่ทำศัลยกรรมลดขนาดริมฝีปากจำนวน 9,000 ราย พบว่า การทำศัลยกรรมริมฝีปากสามารถช่วยปรับปรุงรูปร่างริมฝีปาก ขนาด และรอยยิ้มของผู้ป่วยได้ ซึ่งการทำศัลยกรรมลดขนาดปากก็เป็นที่นิยมในประเทศแถบเอเชียตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

จุดประสงค์ของการทำปากกระจับ

การทำศัลยกรรมปากกระจับอาจมีจุดประสงค์ ดังนี้

  • ลดขนาดริมฝีปากให้เล็กลง
  • ยกกระชับริมฝีปากที่หย่อนคล้อย
  • ปรับรูปร่างริมฝีปากให้รับกับรูปหน้า มีลักษณะที่ดูอ่อนเยาว์และมีเสน่ห์มากขึ้น
  • แก้ไขลักษณะริมฝีปากผิดรูป เช่น ริมฝีปากติดเชื้อ มีเนื้องอก การอักเสบที่ริมฝีกปากทำให้เนื้อปากบวมหนาและเป็นแผลเป็น

ความเสี่ยงของการทำปากกระจับ

หลังการทำปากกระจับอาจเกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น

  • แผลบวม แดง และอาการปวด
  • หลังการทำปากกระจับ อาจจะมีอาการปากชาประมาณ 1-2 เดือน หลังจากนั้นอาการชาจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ
  • ปากช้ำ ห้อเลือด
  • อาการระคายเคืองริมฝีปาก
  • รูปปากอาจยังไม่สมมาตรเท่าที่ควร

นอกจากนี้ ในบางคนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนบางประการ เช่น แผลฉีกขาด เลือดออกมาก การติดเชื้อ ซึ่งควรเข้าพบคุณหมอทันทีเพื่อรับการรักษา

การเตรียมตัวก่อนการทำปากกระจับ

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการทำปากกระจับ มีดังนี้

  • ผู้ป่วยควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับรูปทรงปากและการทำศัลกรรมก่อนการศัลยกรรม
  • หยุดใช้ยาที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน รวมทั้งวิตามินหรืออาหารเสริมที่มีผลต่ออาการบวมช้ำของแผล เช่น น้ำมันตับปลา วิตามินเอ วิตามินอี ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการเตรียมตัวก่อนศัลยกรรมปากกระจับอาจเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ ควรเข้ารับคำแนะนำจากคุณหมอก่อนเริ่มทำปากกระจับ

การดูแลหลังผ่าตัด

หลังทำปากกระจับอาจจำเป็นต้องดูแลแผลเพิ่มเติม ดังนี้

  • ช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด ให้ประคบเย็นบริเวณริมฝีปาก พร้อมทั้งนอนยกศีรษะขึ้นประมาณ 2-3 วันเพื่อลดอาการบวม
  • รักษาความสะอาดภายในช่องปากเพื่อป้องกันแผลติดเชื้อ โดยการแปรงฟันและบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร
  • ลดการพูดคุยภายในช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัดเพราะแผลอาจยังแห้งไม่สนิท อาจทำให้แผลฉีกขาดได้
  • ควรรับประทานอาหารอ่อน รสไม่จัด งดของหมักดอง งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่ในช่วง 2-4 สัปดาห์แรก
  • รับประทานยาตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด และเข้าพบคุณหมอตามนัดเพื่อติดตามแผลหลังการรักษา

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

The ‘bikini lip reduction’: A detailed approach to hypertrophic lips. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2696004/. Accessed December 7, 2021

Abstract: Experience of 9000 Cases on Lip Reduction Surgery in Thailand. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6212187/. Accessed December 7, 2021

Lip reduction cheiloplasty for Miescher’s granulomatous macrocheilitis (Cheilitis granulomatosa) in childhood. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/11952705/. Accessed December 7, 2021

Lip reduction surgery (reduction cheiloplasty). https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/20206092/. Accessed December 7, 2021

The “Brazilian” bikini-shaped lip-reduction technique: new developments in cheiloplasty. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/22535138/. Accessed December 7, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/08/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ฝีคัณฑสูตร คือ อะไร อาการและวิธีการรักษามีอะไรบ้าง

ความเสี่ยงของศัลยกรรม ที่คุณควรรู้ก่อนเสริมความสวย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 08/08/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา