backup og meta

รักแร้ดำ สาเหตุ และวิธีแก้ไขปัญหา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 07/11/2023

    รักแร้ดำ สาเหตุ และวิธีแก้ไขปัญหา

    ปัญหารักแร้ดำ อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การโกนขนรักแร้แบบผิด ๆ เป็นประจำ การใช้ยาบางชนิด การแพ้สารระคายเคือง โรคผิวหนังช้าง (Acanthosis nigricans) ที่อาจกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเม็ดสีเมลานินเพิ่มขึ้น และส่งผลให้สีผิวคล้ำขึ้น การแก้ไขปัญหารักแร้ดำจึงอาจทำได้โดยการจัดการที่ต้นเหตุ รวมถึงการดูแลผิวอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยฟื้นฟูผิวใต้วงแขนให้กลับมากระจ่างใส และสร้างความมั่นใจในการแต่งตัว ใส่เสื้อแขนกุดได้มากขึ้น

    สาเหตุที่ทำให้รักแร้ดำ

    รักแร้ดำ เกิดจากการที่ร่างกายผลิตเม็ดสีเมลานินเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามากระตุ้นจึงส่งผลให้ผิวบริเวณข้อพับต่าง ๆ เช่น ลำคอ ข้อศอก ข้อหนีบ รวมถึงรักแร้ดำคล้ำ โดยปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเม็ดสีเมลานินเพิ่มขึ้น มีดังนี้

  • โรคผิวหนังช้าง เป็นโรคผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เบาหวาน ภาวะดื้ออินซูลิน กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ โรคลูปัส โรคมะเร็ง โรคอะโครเมกาลี (Acromegaly) และกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome) ที่ส่งผลกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเซลล์เม็ดสีเมลานินเพิ่มขึ้น จนทำให้ผิวหนังชั้นนอกบริเวณรักแร้ ลำคอ หน้าท้อง และขาหนีบมีลักษณะหนาขึ้น และเป็นสีดำคล้ำ
  • ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด อินซูลิน ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์  (Corticosteroids) และไนอาซิน (Niacin) ที่มีขนาดสูง อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตเม็ดสีเมลานิน และทำให้ผิวหนังในบริเวณข้อพับคล้ำขึ้น
  • การแพ้สารระคายเคืองในผลิตภัณฑ์บางอย่าง เช่น ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย โลชั่น ครีม อาจกระตุ้นการผลิตเม็ดสีเมลานิน และทำให้รักแร้ดำขึ้น
  • พฤติกรรมการโกนขนด้วยมีดโกนหรือดึงด้วยแหนบ การเสียดสีกับใบมีดโกน อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง และกระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานิน ส่งผลให้รักแร้ดำคล้ำขึ้น นอกจากนี้ การสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป ก็อาจส่งผลให้เกิดการเสียดสี และทำให้รักแร้ดำได้เช่นกัน
  • วิธีแก้ไขปัญหารักแร้ดำ

    วิธีแก้ไขปัญหารักแร้ดำ อาจทำได้ได้ดังนี้

    • การใช้ยา นรูปแบบครีม ขี้ผึ้ง หรือโลชั่น เช่น ครีมเรตินอยด์ กลุ่มยาอนุพันธ์วิตามินดี กรดไตรคลอโรอะเซติก (Trichloroacetic Acid) ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) เพื่อปรับสภาพผิวบริเวณรักแร้ให้กระจ่างใส
    • การรักษาแบบธรรมชาติ โดยนำสารสกัดจากธรรมชาติมามาส์กผิวใต้วงแขน เช่น ขมิ้น น้ำมะนาว น้ำมันปลา สารสกัดจากมิลค์ทิสเทิล (Milk Thistle)  ซี่งเป็นสมุนไพรมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยลดความหมองคล้ำให้ดูจางลง
    • การกรอผิว เป็นเทคนิคการขจัดเซลล์ผิวด้วยการขัดผิวหนัง เพื่อช่วยรักษาความผิดปกติของผิวหนัง รอยแผลเป็นและรอยดำ โดยการผลัดเซลล์ผิวเก่าออก และกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่
    • เลเซอร์ ใช้แสงความร้อนสูงเพื่อช่วยลดความหนาของผิวหนังและอาจช่วยลดความหมองคล้ำ ทำให้ผิวบริเวณรักแร้ดูกระจ่างใสขึ้น อีกทั้งยังช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเส้นขนใหม่ จึงช่วยลดความจำเป็นในการโกนขนลง และป้องกันไม่ให้ผิวหนังเสียดสีกับมีดโกนมากจนเกิดการระคายเคือง
    • ลดน้ำหนัก ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ด้วยการวางแผนการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกายตามคำแนะนำของคุณหมอ 
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริมและยา เนื่องจากยาบางชนิดอาจส่งผลให้ผิวบริเวณตามข้อพับคล้ำขึ้น ดังนั้นจึงควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อเปลี่ยนยาตามความเหมาะสม

    การดูแลผิวใต้วงแขน

    การดูแลผิวใต้วงแขนให้ดูสุขภาพดี อาจทำได้ดังนี้

    1. หลีกเลี่ยงการโกนขนด้วยมีดโกน หรือถอนขนด้วยแหนบ หากจำเป็นต้องกำจัดขน ควรใช้สบู่ หรือโฟมทาบริเวณรักแร้ เพื่อลดการเสียดสี และช่วยให้โกนขนง่ายขึ้น และควรทาผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้น เช่น น้ำมัน โลชั่น หลังจากโกนขนเสร็จ หากเป็นไปได้อาจเปลี่ยนวิธีเป็นการแว๊กซ์หรือเลเซอร์กำจัดขนแทน
    2. ขัดผิวด้วยการสครับเบา ๆ เพื่อขจัดเซลล์ผิวเก่าออก อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
    3. เลือกสวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นบริเวณรักแร้ เพื่อลดการเสียดสีกับเนื้อผ้า ที่อาจส่งผลให้ผิวหนังระคายเคืองและมีสีที่คล้ำขึ้น
    4. เลือกผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย ครีม และโลชั่น ที่ปราศจจากน้ำหอมหรือสารก่อภูมิแพ้ อาจใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น เบกกิ้งโซดา แอปเปิ้ลไซเดอร์ สารส้ม
    5. มาส์กใต้วงแขนด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ ได้แก่
    • ขมิ้นและมะนาว โดยการนำผงขมิ้นมาผสมกับน้ำมะนาวสดในปริมาณ 2 ช้อนโต๊ะ จากนั้นคนให้ส่วนผสมเข้ากัน พอกบริเวณรักแร้ไว้ 30 นาทีและล้างออก
    • น้ำมันฝรั่ง นำมันฝรั่งไปปั่นหรือสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นนำไปเค้นเอาน้ำมันฝรั่งออก และนำน้ำที่ได้มาทาบริเวณรักแร้ ทิ้งไว้ 10 นาที และล้างน้ำออกด้วยน้ำเย็น
    • น้ำมันมะพร้าว ทาบริเวณรักแร้ 2-3 หยด และนวดเป็นเวลา 15 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำอุ่นและสบู่ ควรทำประมาณ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์
    • น้ำมันทีทรี (Tea Tree Oil) นำน้ำมันทีทรี 5 หยด ผสมกับน้ำเปล่า 8 ออนซ์ และเทลงในขวดสเปรย์ ฉีดที่บริเวณรักแร้หลังอาบน้ำและปล่อยให้แห้ง ควรเช็ดบริเวณรักแร้ให้แห้งสนิทก่อนฉีด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 07/11/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา