backup og meta

รักแร้หนังไก่ ป้องกันและรักษาได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/08/2022

    รักแร้หนังไก่ ป้องกันและรักษาได้อย่างไร

    รักแร้หนังไก่ เป็นคำที่นิยมใช้เรียกสภาพผิวใต้วงแขนที่แห้ง หยาบกร้าน และมีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นเป็นหย่อม แต่ไม่มีอาการเจ็บหรือคัน อาจเกิดจากการถอนขนรักแร้ด้วยแหนบ การโกนขนรักแร้ด้วยใบมีดโกน หรือการใช้แว็กซ์กำจัดขน จนทำให้ผิวหนังระคายเคืองและอักเสบ ทั้งนี้ รักแร้หนังไก่ยังอาจเกิดจากฮอร์โมนในร่างกายได้ด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุที่มักพบในวัยรุ่น แต่ก็สามารถเกิดขึ้นกับคนวัยอื่นได้เช่นกัน

    รักแร้หนังไก่ไม่เป็นอันตรายจึงไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา และอาการอาจหายไปเองเมื่ออายุมากขึ้น หากต้องการป้องกันการเกิดรักแร้หนังไก่ ควรหลีกเลี่ยงการกำจัดขนด้วยวิธีที่ทำให้ผิวระคายเคือง หรือหากต้องการรักษาให้หายควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม

    รักแร้หนังไก่ เกิดจากอะไร

    รักแร้หนังไก่ คือ ตุ่มขนาดเล็กลักษณะคล้ายสิวหรือผื่นที่ขึ้นเป็นหย่อม ๆ บริเวณใต้วงแขน มักมีสีเนื้อหรือสีน้ำตาล ทั้งนี้ อาจพบผิวหนังที่มีลักษณะคล้ายหนังไก่ที่บริเวณส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น แก้ม ต้นแขน ต้นขา แก้มก้น ได้ด้วย

    รักแร้หนังไก่อาจเกิดจากการกำจัดขนรักแร้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ถอน โกน แว็กซ์ จนผิวหนังอักเสบ ทำให้เคราตินซึ่งเป็นโปรตีนของเส้นขนที่งอกใหม่สะสมอยู่ในรูขุมขน ส่งผลให้ขนไม่สามารถงอกออกจากรูขุมขนและทะลุผิวหนังขึ้นมาได้ จนเกิดเป็นขนคุด ผิวหนังภายนอกมีลักษณะเป็นตุ่ม ๆ นอกจากนี้ รักแร้หนังไก่ยังอาจเกิดจากฮอร์โมนในร่างกายได้ด้วย เมื่อเป็นรักแร้หนังไก่แล้วอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

    ผู้ที่มีแนวโน้มเป็นรักแร้หนังไก่ มีดังนี้

    • เด็กหรือวัยรุ่น
    • ผู้ที่เหงื่อออกมาก
    • ผู้ที่มีผิวแห้ง
    • ผู้ที่เป็นโรคอ้วน
    • ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นรักแร้หนังไก่
    • ผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบ (Eczema)

    วิธีรักษารักแร้หนังไก่

    รักแร้หนังไก่ไม่สามารถรักษาให้หายถาวรได้ และอาจกลับเป็นซ้ำได้อีกหากกำจัดขนด้วยวิธีเดิมหรือมีปัจจัยที่มากระตุ้นให้ผิวหนังไม่สม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม วิธีเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาอาการรักแร้หนังไก่ได้

    การรักษาด้วยตัวเอง

    • หลีกเลี่ยงการเกาหรือขัดถูผิวหนังที่เป็นหนังไก่แรง ๆ
    • งดการกำจัดขนด้วยวิธีที่ทำให้ผิวหนังบริเวณรักแร้ระคายเคืองหรืออักเสบ
    • อาบน้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำเย็นแทนการอาบน้ำร้อน และไม่ควรอาบน้ำนานเกินไป เพื่อป้องกันผิวแห้ง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดรักแร้หนังไก่ได้
    • งดฟอกสบู่เยอะบริเวณที่เป็น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง
    • บำรุงผิวด้วยมอยส์เจอร์ไรเซอร์เนื้อเข้มข้น
    • เพิ่มความชื้นภายในบ้านด้วยเครื่องทำความชื้น
    • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป เพราะอาจเพิ่มการเสียดสีที่ผิวหนัง และทำให้ผิวบริเวณรักแร้ระคายเคืองได้

    การรักษาด้วยวิธีการทางการแพทย์

    • ใช้ครีมขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว

    ครีมที่มีส่วนผสมของสารต่อไปนี้ อาจช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว และทำให้ผิวที่แห้งนุ่มขึ้น ทั้งนี้ ควรระมัดระวังเมื่อใช้กับเด็กเล็ก เพราะอาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง เกิดรอยแดงหรือแสบได้ง่าย

  • กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha hydroxy acids) หรือเอเอชเอ (AHAs)
  • กรดแลคติก (Lactic acid)
  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid)
  • ยูเรีย (Urea)
    • ใช้ครีมป้องกันรูขุมขนอุดตัน

    ยาทากลุ่มกรดวิตามินเอ หรือเรตินอยด์ (Topical retinoids) เช่น เตรทติโนอิน (Tretinoin) ทาซาโรทีน (Tazarotene) อาจช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวและป้องกันรูขุมขนอุดตันได้ ทั้งนี้ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเรตินอยด์อาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองผิวแห้งได้ และหากเป็นผู้หญิงตั้งครรภ์หรือผู้หญิงให้นมบุตร คุณหมออาจแนะนำให้ชะลอการใช้ยาหรือเลือกรักษาด้วยวิธีอื่น

  • การรักษาด้วยเลเซอร์หรือการรักษาด้วยแสง (Laser or light treatment)
  • หากทายาหรือบำรุงผิวด้วยมอยส์เจอร์ไรเซอร์แล้วสภาพผิวบริเวณใต้วงแขนไม่ดีขึ้น คุณหมออาจแนะนำให้ลดอาการระคายเคือง การอักเสบและรอยแดงบริเวณผิวหนังด้วยเลเซอร์ อีกทั้งเลเซอร์ยังอาจช่วยปรับปรุงสภาพผิวและเนื้อสัมผัสของผิว ช่วยลดการเปลี่ยนสี และลดเลือนจุดน้ำตาลที่อาจเกิดขึ้นหลังตุ่มใสหายไปได้ด้วย

    รักแร้หนังไก่ ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

    วิธีป้องกันการเกิดรักแร้หนังไก่ อาจทำได้ดังนี้

    • อาบน้ำด้วยน้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำเย็น ไม่ควรอาบน้ำร้อนเกินไปหรืออาบน้ำนานเกินไป
    • ใช้สบู่และผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่อ่อนโยนและปราศจากน้ำหอม
    • หลังอาบน้ำให้ซับผิวให้แห้ง หลีกเลี่ยงการถูผิวหนังรุนแรง เพราะอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้
    • บำรุงผิวด้วยมอยส์เจอไรเซอร์เป็นประจำทุกครั้งหลังอาบน้ำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/08/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา