backup og meta

ชนิดของสิว และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิว

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

    ชนิดของสิว และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิว

    สิวเป็นปัญหาผิวหนังที่พบได้ทั่วไป มีลักษณะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ ชนิดของสิว เช่น สิวหัวขาว สิวหัวดำ สิวตุ่มนูน สิวหัวหนอง สิวซีสต์ ทั้งนี้ แม้สิวจะเป็นปัญหาผิวหนังที่พบได้บ่อย แต่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดสิว และการดูแลรักษาสิว อยู่ไม่น้อย

    ชนิดของสิว มีอะไรบ้าง

    สิว เกิดจากเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วและน้ำมันจากต่อมใต้ผิวหนังที่เข้าไปอุดตันของรูขุมขน ก่อให้เกิดการอักเสบ เป็นตุ่มนูนบวมแดง

    นอกจากนี้ การติดเชื้อแบคทีเรียเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia Coli) หรือคูติแบคทีเรียม แอคเน่ (Cutibacterium Acnes) อาจเป็นสาเหตุให้เกิดสิวได้เช่นกัน

    ทั้งนี้ ชนิดของสิว ที่พบได้ตามใบหน้าหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แบ่งได้เป็นชนิดต่าง ๆ ดังนี้

    • สิวหัวขาว เป็นสิวอุดตันแบบหัวปิด มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีขาว มักพบบริเวณหน้าผาก จมูก หรือคาง เพราะเป็นบริเวณที่เสี่ยงต่อการอุดตันของน้ำมันบนใบหน้ามากที่สุด
    • สิวหัวดำ เป็นสิวอุดตันแบบหัวเปิด โดยส่วนที่เป็นสีดำเกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันระหว่างเม็ดสีผิวกับออกซิเจนในอากาศ
    • สิวตุ่มนูน เป็นชนิดของสิวอักเสบแบบหนึ่ง มีลักษณะเป็นตุ่มหนองเล็ก ๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร เมื่อสัมผัสโดนหรือถูกเสียดสีอาจรู้สึกเจ็บ
    • สิวหัวหนอง ป็นสิวอักเสบอีกชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายสิวตุ่มนูน แต่มีหนองสะสมอยู่เป็นจำนวนมากภายในเม็ดสิว และผิวหนังรอบ ๆ เม็ดสิวจะเห็นเป็นสีแดงอย่างชัดเจน ทั้งนี้ หากมีสิวหัวหนองขึ้นพร้อมกันหลายจุด ไม่ว่าตามใบหน้าหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
    • สิวตุ่มใหญ่ เป็นสิวหัวปิดอาการรุนแรง มักมีลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดใหญ่และผิวสัมผัสแข็ง อย่างไรก็ตาม สิวตุ่มใหญ่อาจค่อย ๆ หายเองได้ แต่มักใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน
    • สิวซีสต์ เป็นสิวที่รุนแรงที่สุด มีลักษณะเป็นสิวขนาดใหญ่ เม็ดสีแดง มีหนองอยู่ข้างใน เมื่อสัมผัสโดนมักรู้สึกเจ็บโดยทั่วไป สิวซีสต์ไม่อาจรักษาให้หายได้ด้วยผลิตภัณฑ์รักษาสิวทั่ว ๆ ไป ควรเข้าพบคุณหมอผิวหนังเพื่อตรวจวินิจฉัย

    ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิว

    แม้สิวจะเป็นปัญหาผิวหนังที่พบได้ทั่วไป แต่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิวอยู่ไม่น้อย เช่น

    • ยิ่งล้างหน้า ยิ่งลดความเสี่ยงเป็นสิว แม้การล้างหน้าจะช่วยกำจัดสิ่งสกปรกและน้ำมันที่อาจอุดตันรูขุมขนซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว แต่การล้างหน้าบ่อยเกินไปจะทำให้หน้าแห้งและระคายเคือง ซึ่งส่งผลให้เป็นสิวได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ การล้างหน้าที่เหมาะสม คือการล้างหน้าวันละ 2 ครั้งด้วยน้ำสะอาดและสบู่ฤทธิ์อ่อนหรือครีมล้างหน้าที่ปราศจากน้ำหอมหรือสารเคมีอื่น ๆ เช่น แอลกอฮอล์ พาราเบน (Paraben) เอสแอลเอส (Sodium Lauryl Sulfate :SLS) ที่อาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้
    • เป็นสิวใช้ยารักษาสิวก็หายได้ แม้ว่าในปัจจุบันนี้ สิวอาจดูแลรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาทาสิว อย่างไรก็ตาม อาการของสิวบางชนิดอาจไม่ทุเลาลงด้วยยารักษาสิวที่หาซื้อได้ทั่วไป ขึ้นอยู่กับ ชนิดของสิว จึงควรเข้าพบคุณหมอผิวหนังเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาตามขั้นตอน
    • เครื่องสำอางทำให้หน้าเป็นสิว เครื่องสำอางในท้องตลาดมีด้วยกันหลายสูตร โดยบางสูตรอาจทำให้เป็นสิวได้ง่ายหลังใช้ ในขณะที่สูตรที่ปราศจากน้ำมัน (Oil-free) มักมีคุณสมบัติไม่ทำให้รูขุมขนอุดตัน (Won’t Clog Pores) หรือไม่ก่อให้เกิดสิว (Non Acnegenic) หรือเวชสำอาง (Cosmeceuticals) ที่มีส่วนประกอบเป็นยาซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดการเกิดสิวหรือช่วยบรรเทาอาการของสิวได้
    • การป้ายยาสีฟันที่สิวช่วยให้สิวหายได้ ความจริงแล้ว สารฟลูออไรด์ในยาสีฟันอาจทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเสียสมดุล ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้อาการของสิวแย่ลง
    • รับประทานช็อกโกแลตและอาหารไขมันสูงทำให้เป็นสิว ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าการบริโภคช็อกโกแลตและอาหารไขมันสูงอย่าง พิซซ่า มันฝรั่งทอด หรือชีสเบอร์เกอร์ เป็นสาเหตุของสิว อย่างไรก็ตาม การบริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรตสูงหรือของหวานอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นสิวได้ เพราะหลังรับประทานอาหารกลุ่มนี้ ฮอร์โมนอินซูลินในเลือดจะสูงขึ้น ส่งผลให้ฮอร์โมนแอนโดรเจนและฮอร์โมนอินซูลิน-ไลค์ โกรท แฟคเตอร์ 1 (Insulin-like Growth Factor 1) ในร่างกายสูงขึ้นตาม ซึ่งมีผลให้ต่อมใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันออกมามากกว่าเดิม และเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นสิวได้
    • ความเครียดทำให้เป็นสิว ความเครียดไม่ใช่สาเหตุของสิว แต่เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้อาการของสิวแย่ลงได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดสิว เผยแพร่ในวารสาร Frontiers in Public Health ปี พ.ศ. 2563 ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวแบ่งได้เป็น 4 ข้อ ได้แก่ ปัจจัยทางชีวภาพ เช่น เพศ อายุ การสูบบุหรี่ พฤติกรรมการบริโภคอาหาร รอบเดือน ปัจจัยธรรมชาติแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด มลพิษทางอากาศ ปัจจัยทางสังคมแวดล้อม เช่น การเข้าร่วมสังคม การเสพสื่อข่าวสารต่าง ๆ จากสื่อโซเชี่ยลมีเดีย ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ความหนาแน่นของประชากร พื้นที่สีเขียวรอบตัว อย่างไรก็ตาม สิวอาจมีอาการแย่ลงได้เนื่องจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเครียดภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน การมีผิวมัน รอบเดือนที่ไม่ปกติ การพักผ่อนไม่เพียงพอ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา