backup og meta

ตําแหน่งสิวบอกโรค ได้หรือไม่ ควรดูแลผิวอย่างไรเพื่อป้องกันสิว

ตําแหน่งสิวบอกโรค ได้หรือไม่ ควรดูแลผิวอย่างไรเพื่อป้องกันสิว

แม้จะยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัดจากงานวิจัยและผู้เชี่ยวชาญว่า ตําแหน่งสิวบอกโรค ได้หรือไม่ แต่สาเหตุหลักของสิวอาจเกิดจากการอุดตันของน้ำมัน เชื้อแบคทีเรียและสิ่งสกปรกในรูขุมขน ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าตำแหน่งในการเกิดสิวอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติในร่างกาย เช่น ความแปรปรวนของฮอร์โมน การติดเชื้อแบคทีเรีย ความผิดปกติของรูขุมขนในการผลิตน้ำมันมากเกินไป โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ ดังนั้น การดูแลสุขภาพผิวอยู่เสมอและการเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพประจำปี จึงอาจช่วยป้องกันปัญหาสิวและปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้

[embed-health-tool-bmr]

ตําแหน่งสิวบอกโรค ได้อย่างไร

สิวเกิดจากน้ำมัน เชื้อแบคทีเรีย เซลล์ผิวเก่า ขนและสิ่งสกปรกอุดตันในรูขุมขนเป็นเวลานานจนพัฒนาไปเป็นสิวชนิดต่าง ๆ เช่น สิวหัวขาว สิวหัวดำ สิวอักเสบ สิวไม่มีหัว ซึ่งสิวสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกบริเวณบนผิวหนัง

นอกจากนี้ ยังอาจเป็นไปได้ว่า ตำแหน่งสิวบอกโรค ได้ แต่ยังอาจไม่มีการยืนยันที่แน่ชัดจากงานวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญ โดยตำแหน่งสิวที่พบบ่อยต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกาย

  • บริเวณไรผมและขมับ

สิวบริเวณไรผมและขมับส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการดูแลเส้นผมที่มีสารที่ทำให้เกิดการระคายเคือง การแพ้ และการอุดตัน เช่น แว็กซ์ น้ำหอม แอลกอฮอล์ ซิลิโคน ไซโคลเพนทาซิลอกเซน (Cyclopentasiloxane) ไดเมทิโคน (Dimethicone) อะคริเลต (Acrylates) น้ำมัน ซึ่งหากทำความสะอาดผิวได้ไม่ดีก็อาจทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนและพัฒนาไปเป็นสิวได้

  • บริเวณทีโซน (หน้าผาก จมูก และคาง)

บริเวณทีโซนเป็นบริเวณที่มีความมันมาก เนื่องจากรูขุมขนผลิตน้ำมันส่วนเกินมากเกินไปจนทำให้เกิดการอุดตันในรูขุมขนได้ง่าย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติของต่อมน้ำมันได้เช่นกัน ดังนั้น บริเวณทีโซนจึงอาจมีสิวหลายชนิดเกิดขึ้นบ่อยกว่าบริเวณอื่น ๆ

  • บริเวณแก้ม

สิวบริเวณแก้มส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ การนอนบนหมอน การใช้เครื่องสำอาง แปรงแต่งหน้า หน้ากากอนามัย การใส่อุปกรณ์ป้องกันใบหน้า สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้เกิดการเสียดสี การกดทับ ความอับชื้น การสะสมของเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง จนส่งผลให้เกิดเป็นสิวขึ้น

  • บริเวณกราม

สิวที่เกิดขึ้นบริเวณกรามอาจเกี่ยวข้องกับความแปรปรวนของฮอร์โมนเพศ สิวบริเวณกรามมักพบได้บ่อยในผู้ชายและผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือมีประจำเดือนมาผิดปกติ ผู้หญิงที่เป็นโรคไข่ไม่ตก (Polycystic Ovary Syndrome-PCOS)

นอกจากนี้ สิวบริเวณกรามยังอาจเป็นสัญญาณของโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบได้ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดขึ้นในผู้หญิงที่มีระดับฮอร์โมนเพศชายสูงมากและฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล

วิธีดูแลผิวเพื่อป้องกันการเกิดสิว

การดูแลผิวอย่างเหมาะสมเป็นประจำทุกวันอาจช่วยป้องกันการเกิดสิวได้ ดังนี้

  • ทำความสะอาดผิว โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นสิวด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสูตรอ่อนโยน และล้างมือเป็นประจำเพื่อขจัดสิ่งสกปรกบนมือ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคือง เช่น สครับผิว มาสก์ เนื่องจากอาจทำให้ผิวบอบบาง อักเสบ และอาจทำให้อาการของสิวแย่ลงได้หากถูกเสียดสีมากเกินไป
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิว เช่น เรตินอยด์ เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) อะดาพาลีน (Adapalene) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids หรือ AHA) ที่มีส่วนช่วยในการผลัดเซลล์ผิว ช่วยลดความมันส่วนเกิน และขจัดเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง
  • หลีกเลี่ยงการใช้สารระคายเคือง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน น้ำหอม แอลกอฮอล์ แว็กซ์ เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ ก่อให้เกิดการอุดตันและสิว หรืออาจทำให้ปัญหาสิวแย่ลงได้
  • ปกป้องผิวจากแสงแดด แสงแดดเป็นสารอนุมูลอิสระที่ทำให้ผิวเสื่อมสภาพและอาจทำให้เกิดปัญหาสิวได้ง่าย จึงควรปกป้องผิวด้วยการทาครีมกันแดดที่มี SPF 50 ขึ้นไปเป็นประจำทุกวัน เพื่อปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงแดด
  • หลีกเลี่ยงการเสียดสีหรือกดทับบนผิวหนัง เช่น การใช้โทรศัพท์ หมวกกันน็อค สร้อยคอ ที่คาดผม ผมหน้าม้า เป้สะพายหลัง สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ผิวระคายเคือง อับชื้น เกิดการสะสมของเหงื่อ น้ำมัน และเชื้อแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดสิว
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือแกะเกาสิว เพราะมืออาจมีเชื้อแบคทีเรียและน้ำมันที่ก่อให้เกิดสิวได้ นอกจากนี้ การแกะเกาสิวยังอาจทำให้สิวเกิดการอักเสบและอาการแย่ลงได้
  • อาบน้ำหลังทำกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมที่ทำให้มีเหงื่อออกมาก เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา เพื่อลดการสะสมของเหงื่อและเชื้อแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดสิว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Acne. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/symptoms-causes/syc-20368047. Accessed November 22, 2022

Acne-Diagnosis-treatment. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/diagnosis-treatment/drc-20368048. Accessed November 22, 2022

Facial sebum affects the development of acne, especially the distribution of inflammatory acne. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/j.1468-3083.2011.04384.x. Accessed November 22, 2022

IS SPORTS EQUIPMENT CAUSING YOUR ACNE?. https://www.aad.org/public/diseases/acne/causes/sports-equipment. Accessed November 22, 2022

Treatment of adult female acne: a new challenge. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/jdv.13188. Accessed November 22, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

03/01/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่แมสแล้วสิวขึ้น เกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

ชนิดของสิว และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสิว


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 03/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา