backup og meta

10 วิธี รักษารอยสิว

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

    10 วิธี รักษารอยสิว

    สำหรับใครที่กำลังเผชิญปัญหากับรอยสิวหลังจากสิวหายควร รักษารอยสิว อย่างทันท่วงที เพราะถึงแม้ว่ารอยสิวจะปรากฏขึ้นเพียงชั่วคราวก่อนจางลงตามระยะเวลา แต่สำหรับบางคนก็อาจคงมีรอยแผลเป็นสีเข้มเช่นเดิม หรือมีผิวหน้าไม่เรียบเนียน และสีผิวไม่สม่ำเสมอได้ ซึ่งอาจส่งผลให้สูญเสียความมั่นใจเมื่อออกไปพบเจอผู้คน

    รอยสิวเกิดจากอะไร

    รอยสิว คือ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากสิวประเภทต่าง ๆ เช่น สิวอักเสบ ก้อนซีสต์ เนื่องจากเป็นกลุ่มสิวที่จัดอยู่ในระดับปานกลางถึงรุนแรง มีหนองและอุดตันใต้ผิวหนังยากจะนำออก 

    ประเภทของรอยสิวส่วนใหญ่ที่พบได้บ่อย มีดังนี้

    • รอยสิวทั่วไป รอยสิวนี้จะปรากฏต่อเมื่อหลังจากสิวหายโดยสามารถสังเกตได้จากสีผิวหนังบริเวณที่เกิดสิวเปลี่ยนเป็นแดง น้ำตาล ดำ และอาจจางหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่ใช้เวลานาน
    • รอยสิวหลุมลึก เป็นรอยสิวที่ก่อให้เกิดหลุมสิวขึ้นบนใบหน้า แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่
  • รอยสิวชนิดหลุมจิก (Ice Pick Scars) เป็นรอยแผลเป็นที่เกิดจากสิวที่ฝังลึกทำร้ายเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ซึ่งในขณะที่เซลล์ผิวได้รับความเสียหายร่างกายจะผลิตคอลลาเจนเพื่อมาซ่อมแซมแต่ก็อาจไม่สามารถผลิตได้มากเพียงพอ จึงก่อให้เกิดรอยแผลเป็นชนิดหลุมสิวที่มีลักษณะเป็นหลุมลึกแต่กว้างไม่เกิน 2 มิลลิเมตร นอกจากนี้รอยสิวชนิดหลุมจิกอาจเป็นผลมาจากพฤติกรรมการบีบสิว กดสิวร่วมด้วย
  • รอยสิวชนิดโค้งกว้าง (Rolling Scars) รอยสิวชนิดโค้งกว้าง คือรอยสิวประเภทหลุมสิวที่เกิดจากการสูญเสียเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังเช่นเดียวกับรอยสิวชนิดหลุมจิก แต่อาจมีลักษณะที่แตกต่างกัน ซึ่งรอยสิวประเภทนี้จะมีความตื้นกว่า แต่ขนาดปากหลุมสิวกว้างกว่า ประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และมีผิวหนังเป็นโค้งเป็นคลื่น
  • รอยสิวแบบหลุมกว้าง (Boxcar Scars) เป็นรอยสิวหรือหลุมสิวที่อาจใช้ระยะเวลารักษานานกว่าชนิดอื่น ๆ เพราะเกิดจากสิวอุดตัน สิวอักเสบ หรือซีสต์แข็งที่ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดและมีขนาดใหญ่ ร่างกายจึงผลิตคอลลาเจนมาเติมเต็มเนื้อเยื่อผิวที่หายไปได้ยากขึ้น ซึ่งบางคนอาจไม่สามารถกลับมามีผิวหนังที่เรียบเนียนในสภาพเดิม หรืออาจส่งผลให้เป็นแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ได้
  • วิธีรักษารอยสิว

    วิธี รักษารอยสิว ให้จางลงสีผิวสม่ำเสมอ และมีผิวที่เรียบเนียน สามารถทำได้ดังนี้

  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ ครีม หรือยารักษารอยสิว ที่ประกอบด้วยกรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) และกรดไฮดรอกซี (Hydroxyl acids) ช่วยให้รอยดำ รอยแดงจากสิวจางลง
  • การขัดผิว สำหรับวิธีนี้อาจเหมาะสำหรับรอยแผลเป็นในระดับรุนแรง และควรได้รับการขัดผิวจากคุณหมอผิวหนังเท่านั้น เพราะอาจจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะทาง เพื่อนำชั้นผิวหนังด้านบนออก แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น สีผิวเปลี่ยนแปลง 
  • การฉีดสเตียรอยด์ เป็นวิธีรักษารอยสิวนูนที่พบบ่อยมากที่สุด เพื่อให้รอยสิวนั้นยุบตัวลง แต่อาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจและรักษาอย่างสม่ำเสมอจนกว่ารอยสิวจะเรียบเนียนขึ้น
  • ฉีดฟิลเลอร์ เป็นการฉีดกรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic acid) เข้าไปบริเวณหลุมสิว เพื่อทำให้หลุมสิวตื้น ผิวหนังเต่งตึง รอยแผลเป็นจางลงเพียงชั่วคราวประมาณ 1 ปี ซึ่งอาจจะต้องทำการรักษาหลายครั้ง
  • ผลัดเซลล์ผิวด้วยเลเซอร์ วิธีรักษารอยสิวนี้อาจเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นหลุมสิว หรือมีรอยสิวที่ตื้น ซึ่งคุณหมอจะเลเซอร์บริเวณผิวหนังชั้นบนสุด เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาทดแทน
  • ใช้ลูกกลิ้งนวดหน้า หรือ Skin Needling เป็นอุปกรณ์ที่ที่มีหนามแหลมเล็กติดอยู่บนลูกกลิ้ง ซึ่งประโยชน์ของหนาวแหลมนี้อาจช่วยกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนในเนื้อเยื่อใต้ผิว เหมาะสำหรับผู้ที่มีหลุมสิว แต่ผู้ที่มีรอยสิวหรือหลุมสิวจากสิวอักเสบที่รุนแรงอาจใช้วิธีนี้รักษาควบคู่กับการเลเซอร์ เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่ไวขึ้นได้
  • การลอกผิวด้วยสารเคมี เป็นวิธีรักษารอยสิวคล้ายกับการผลัดเซลล์ผิวแบบอื่น ๆ ด้วยการใช้สารเคมี เช่น กรดเอเอชเอ (AHA) กรดพีเอชเอ (PHA) เป็นต้น เพื่อให้ผิวบริเวณที่ได้รับผลกระทบพองและลอกออก เพื่อให้ผิวฟื้นฟูคืนความเรียบเนียน
  • การกระชับผิวด้วยคลื่นความถี่ คือวิธีที่ช่วยให้รอยแผลเป็นจากสิวเรียบเนียน แต่อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว
  • การใช้เข็มตัดพังผืดใต้ผิว (Subcision) เป็นวิธียกกระชับรอยแผลเป็นจากสิวให้ดูตื้นขึ้น โดยคุณหมอจะนำเข็มขนาดเล็ดเข้าไปใตผิวหนังเพื่อตัดเส้นใยหรือพังผืดออก ซึ่งอาจส่งผลให้ผิวหน้ามีรอยฟกช้ำ 1-2 สัปดาห์
  • การป้องกันไม่ให้เกิดรอยสิว

    การป้องกันไม่ให้เกิดรอยสิวคือการรักษาสิวอย่างถูกต้อง ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • รักษาสิวและลดการอักเสบของสิวด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารระคายเคืองและใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้า ยารักษาสิวที่เหมาะสมกับสภาพผิว โดยอาจขอคำปรึกษาได้จากคุณหมอผิวหนัง
    • ไม่นำมือไปสัมผัสที่สิว หรือแกะสิว บีบสิว เพราะอาจทำให้แบคทีเรียเข้าไปในชั่นผิวที่ลึก ทำให้สิวอักเสบขึ้น
    • หากแผลเป็นที่สิวตกสะเก็ดควรหลีกเลี่ยงการแกะสะเก็ดแผล ปล่อยให้แผลหลายดีจนชั้นสะเก็ดแผลหลุดลอกออกเอง
    • หมั่นทาครีมกันแดด (ที่ไม่ก่อให้เกิดสิว) เป็นประจำเพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์ในสิวพัฒนาเป็นเมลาโนไซต์ (Melanocytes) เนื่องจากเซลล์นี้อาจส่งผลให้รอยสิวมีเข้ม และผิวหมองคล้ำขึ้นได้ 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา